ป.วิ แพ่ง น.6 (คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๐๓๐/๒๘) (ข) เมื่อรถยนต์ที่นายกล้วยจำนำไว้ต่อนายตาลครบกำหนดไถ่แล้ว นายตาลย่อมมีสิทธิตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๘๙ ในการที่จะได้รับชำระหนี้จำนำก่อนนายเงาะซึ่งเป็นเจ้าหนี้ ตามคำพิพากษาของนายกล้วย คำสั่งศาลชอบแล้วเช่นกัน (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๙๑๔/๒๖) *มาตรา ๒๙๐ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินอย่างใดของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว ห้ามไม่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นซ้ำอีก แต่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเช่นว่านี้มีอำนาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลที่ออกหมายบังคับให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้น เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ตนเข้าเฉลี่ยในทรัพย์สินหรือเงินที่ขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้นได้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ห้ามมิให้ศาลอนุญาตตามคำขอเช่นว่ามานี้ เว้นแต่ศาลเห็นว่าผู้ยื่นคำขอไม่สามารถเอาชำระได้จากทรัพย์สินอื่น ๆ ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยภาษีอากรในอันที่จะสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อชำระค่าภาษีอากรค้างให้มีสิทธิขอเฉลี่ยในทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานดังกล่าวได้ยึดหรืออายัดไว้ก่อนแล้วเช่นเดียวกับเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามความในวรรคหนึ่ง แต่ถ้าเจ้าพนักงานมิได้ยึดหรืออายัดไว้ก่อน ให้ขอเฉลี่ยได้ภายในบังคับบทบัญญัติวรรคสอง ในกรณีที่ยึดทรัพย์สินเพื่อขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นคำขอเช่นว่านี้ให้ยื่นก่อนสิ้นระยะเวลาสิบสี่วันนับแต่วันที่มีการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้น ในกรณีที่อายัดทรัพย์สิน ให้ยื่นคำขอเสียก่อนสิ้นระยะเวลาสิบสี่วันนับแต่วันชำระเงินหรือส่งทรัพย์สินตามที่อายัดไว้ ในกรณียึดเงิน ให้ยื่นคำขอเสียก่อนสิ้นระยะเวลาสิบสี่วันนับแต่วันยึด เมื่อได้ส่งสำเนาคำขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการจ่ายเงินหรือทรัพย์สินตามคำบังคับไว้จนกว่าศาลจะได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาด เมื่อศาลได้มีคำสั่งประการใดและส่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบแล้ว ก็ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติไปตามคำสั่งเช่นว่านั้น ในกรณีที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ยึดสละสิทธิในการบังคับคดี หรือเพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดีภายในเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดผู้ขอเฉลี่ยหรือผู้ยื่นคำร้องตามมาตรา ๒๘๗ หรือตามมาตรา ๒๘๙ มีสิทธิขอให้ดำเนินการบังคับคดีต่อไป คำสั่งอนุญาตของศาลตามวรรคแปดให้เป็นที่สุด อธิบาย - มาตรานี้เป็นเรื่องเจ้าหนี้อื่นตามคำพิพากษาขอเฉลี่ยทรัพย์ที่ยึดหรืออายัด -สรุป ม.๒๙๐ วรรค ๓ เจ้าพนักงานภาษียึดก่อนเจ้าพนักงานบังคับคดี ไม่ต้องพิสูจน์ตามวรรค ๒ ถ้าเจ้าพนักงานภาษีอากรยึดแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดียึดได้อีกไม่เป็นการยึดซ้ำ เจ้าพนักงานภาษีอาการของเฉลี่ได้โดยไม่ต้องพิสูจน์ตามวรรค ๒ -คำว่า ไม่สามารถเอาชำระได้จากทรัพย์สินอื่น ๆ ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา หมายถึงไม่สามารถเอาชำระโดยสิ้นเชิง และผู้ที่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งถูกเจ้าหนี้อื่นมายื่นขอเฉลี่ยทรัพย์ -.ฎ.๙๒๗๐/๔๗ ถ้ามีการยึดไว้ชั่วคราวตาม ม.๒๕๔(๑)ไม่ถือว่ายึดหรืออายัดตาม วรรค ๑ ที่ต้องห้ามไม่ให้ยึดหรืออายัดซ้ำ เพราะไม่ใช่การยึดจริงเพื่อบังคับตามคำพิพากษา -การเข้าขอเฉลี่ยทรัพย์ตามมาตรานี้เป็นการบังคับคดีจึงอยู่ภายใต้ ม.๒๗๑ ด้วย คือขอใน ๑๐ปี -ฎ.๑๑๕๗/๔๔ กรณีบังคับคดีโดยอายัดของศาลที่บังคับคดีแทน การนับระยะเวลา ๑๔ วัน ต้อง เริ่มนับแต่วันที่ศาลบังคับคดีแทนได้ส่งเงินหรือทรัพย์สินมายังศาลที่ออกหมายบังคับคดี ซึ่งก็คือวันที่ศาลออกหมายบังคับคดีได้รับเงินหรือทรัพย์สินนั้น -ฎ.๕๗๕/๔๙ (มีมูลหนี้จำนองแต่ฟ้องบังคับหนี้แบบสามัญ) ฟ้องบังคับคดีตามสัญญาเงินกู้ แต่คำขอท้ายฟ้องหากจำเลยไม่ชำระหนี้ให้บังคับจำนอง(จำนองธรรมดา) เมื่อมีการบังคับจำนองเรียบร้อยแล้วแม้ได้รับชำระหนี้ไม่เต็มจำนวนก็ไม่สามารถขอเข้าเฉลี่ยตาม ม.๒๙๐ ได้อีก -ตัวอย่างคำถาม นายรวยฟ้องนายจนให้ชำระหนี้เงินกู้จำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ย นายจนให้การต่อสู้คดีระหว่างพิจารณา นายรวยยื่นคำร้องขอให้ยึดที่ดินของนายจน ๑ แปลง ราคา ๓๐๐,๐๐๐ บาท ไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษา ศาลไต่สวนแล้วมีคำสั่งยึดที่ดินแปลงดังกล่าวของนายจนไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษาตามขอ ต่อมาศาลพิพากษาให้นายรวยชนะคดีโดยให้นายจนชำระหนี้เงินกู้และดอกเบี้ยแก่นายรวยตามฟ้อง หลังจากนั้นยังไม่ทันที่นายรวยจะขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี นายสินซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของนายจนอีกคดีหนึ่งได้ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของนายจนแปลงที่นายรวยได้ยึดไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษาดังกล่าวเพื่อบังคับคดีตามคำพิพากษา เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงยึดที่ดินแปลงดังกล่าว นายรวยยื่นคำร้องคัดค้านว่าเป็นการยึดซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๙๐ วรรคหนึ่ง ขอให้เพิกถอนการยึดที่เจ้าพนักงานบังคับคดีในคดีของนายสินได้ยึดไว้ให้วินิจฉัยว่า ข้อคัดค้านของนายรวยฟังขึ้นหรือไม่ ธงคำตอบ (ข้อสอบเนฯ ข้อ ๖ สมัย ๖๐) กรณียึดที่ดินไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความแพ่ง มาตรา ๒๕๔ (๑)เป็นวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา มิใช่กรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีโดยยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา จึงไม่ต้องห้ามมิให้ยึดหรืออายัดซ้ำตามมาตรา ๒๙๐ วรรคหนึ่ง ดังนั้น การที่ศาลมีคำสั่งให้ยึดที่ดินของนายจนไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษาในคดีของนายรวย แม้ต่อมาศาลพิพากษาให้นายรวยชนะคดีซึ่งคำสั่งยึดที่ดินไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษานั้นยังคงมีผลบังคับต่อไปเท่าที่จำเป็นเพื่อบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามมาตรา ๒๖๐ (๒) ก็ตาม คำสั่งยึดที่ดินไว้ชั่วคราวนั้น ก็ยังเป็นวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา ไม่ใช่การบังคับคดีตามคำพิพากษา เมื่อนายรวยยังมิได้ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี เพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษา ก็ถือไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้บังคับคดีโดยยึดที่ดินของนายจนลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้แทนนายรวยเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา นายสินซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของนายจนลูกหนี้ตามคำพิพากษาในอีกคดีหนึ่ง จึงยึดที่ดินของนายจนที่นายรวยได้ยึดไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษานั้นได้ กรณีไม่ต้องห้ามมิให้ยึดซ้ำตามมาตรา ๒๙๐ วรรคหนึ่ง ข้อคัดค้านของนายรวยฟังไม่ขึ้น (คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๒๗๐/๔๗) -ตัวอย่างคำถาม นายเอกเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจำนวนเงิน ๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท ของนายโท ซึ่งเป็นหนี้ส่วนตัวนายเอกนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินหนึ่งแปลงซึ่งเป็นสินสมรสของนายโทกับนางสวยเพื่อจะนำออกขายทอดตลาด นายตรีเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของนายโทอีกคดีหนึ่งซึ่งเป็นหนี้เงินและได้ยื่นคำขอเฉลี่ยทรัพย์ไว้ก่อนซึ่งศาลอนุญาตแล้ว ส่วนนายจัตวาเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของนายโทอีกคดีหนึ่งซึ่งศาลพิพากษาให้นายโทโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงเดียวกันนี้ให้แก่นายจัตวาและรับเงินจำนวน ๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท และต่อมานายจัตวาได้นำเงินมาวางต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อชำระหนี้ให้แก่นายเอกแทนนายโท เจ้าพนักงานบังคับคดีรับเงินไว้แต่ยังมิทันได้ถอนการยึด ดังนี้ (ก) นายตรีร้องขอให้ดำเนินการบังคับคดีต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๙๐ วรรคแปด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง (ข) นางสวยร้องขอกันส่วนเงินจำนวน ๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๘๗ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ให้วินิจฉัยว่า คำสั่งของศาลทั้งสองกรณีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ธงคำตอบ (ข้อสอบเนฯ ข้อ ๗ สมัย ๕๘) (ก) เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีรับเงินจำนวน ๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท จากนายจัตวาเพื่อชำระหนี้แก่นายเอก ครบถ้วนแล้ว นายเอกย่อมไม่มีสิทธิที่จะบังคับคดีแก่ที่ดินแปลงนี้อีกต่อไป และมิใช่กรณีนายเอกสละสิทธิในการบังคับคดีหรือเพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดีภายในเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด กรณีจึงไม่ตกอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๙๐ วรรคแปด นายตรีไม่มีสิทธิขอให้ดำเนินการบังคับคดีแก่ที่ดินดังกล่าวต่อไป (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ ๓๔๖๙/๓๔) คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของนายตรีจึงชอบด้วยกฎหมาย (ข) เมื่อที่ดินแปลงที่นายเอกนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้เป็นสินสมรสระหว่างนายโทและนางสวย จึงเป็นทรัพย์สินที่นายโทและนางสวยเป็นเจ้าของรวมกันโดยมีส่วนเท่ากัน นางสวยมีส่วนอยู่ด้วยกึ่งหนึ่งในเงิน จำนวน ๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดถือไว้แทนราคาที่ดิน นางสวยย่อมมีสิทธิขอกันส่วนได้ในฐานะเจ้าของรวม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๘๗ สิทธิขอกันส่วนของนางสวยมิใช่มีแต่กรณีบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ของนายโทเท่านั้น (คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๓๙๐/๓๙) คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของนางสวยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย -ตัวอย่างคำถาม นายกรเป็นโจทก์ฟ้องนายสินเป็นจำเลยขอให้ชำระหนี้เงินกู้จำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น นายกรขอให้อายัดเงินของนายสินที่ฝากไว้ที่ธนาคารจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษา ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งอายัดเงินจำนวนดังกล่าวและได้แจ้งคำสั่งอายัดไปให้ธนาคารทราบแล้ว ต่อมานายบุญซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของนายสินอีกคดีหนึ่งซึ่งศาลพิพากษาให้นายสินชำระเงินแก่นายบุญจำนวน ๔๐๐,๐๐๐บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย คดีถึงที่สุดแล้ว นายสินไม่ชำระหนี้แก่นายบุญตามคำพิพากษา นายบุญขอให้ศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อบังคับคดีตามคำพิพากษาดังกล่าวและเจ้าพนักงานบังคับคดีได้อายัดเงินฝากของนายสินที่ถูกนายกรอายัดไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษาจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท นั้น ไปยังธนาคาร นายกรทราบเรื่องจึงยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นโต้แย้งว่า กรณีเป็นการอายัดซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๙๐ วรรคหนึ่ง ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการอายัดที่เจ้าพนักงานบังคับคดีในคดีของนายบุญเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้อายัดไว้ดังกล่าว ให้วินิจฉัยว่า ข้อโต้แย้งตามคำร้องของนายกรฟังขึ้นหรือไม่ ธงคำตอบ (ข้อสอบเนฯ ข้อ ๖ สมัย ๕๕) กรณีที่ต้องห้ามมิให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๙๐ วรรคหนึ่งนั้น ต้องเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการบังคับคดีโดยยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อบังคับตามคำพิพากษา แต่กรณียึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษาเป็นวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๕๔ (๑) มิใช่เป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อบังคับตามคำพิพากษาเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่นจึงมีสิทธิที่จะยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อบังคับตามคำพิพากษาในคดีของตนได้ กรณีไม่ต้องห้ามมิให้ยึดหรืออายัดซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๙๐ วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอายัดเงินของนายสินที่ฝากธนาคารไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษาในคดีที่นายกรเป็นโจทก์ฟ้องนายสินนั้นนายบุญเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของนายสินลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่นย่อมมีสิทธิที่จะอายัดเงินของนายสินดังกล่าวเพื่อบังคับตามคำพิพากษาในคดีของตนได้ กรณีไม่ต้องห้ามมิให้อายัดซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๙๐ วรรคหนึ่ง ข้อโต้แย้งของนายกรฟังไม่ขึ้น (คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๑๐/๑๘, ๒๘๓/๒๗, ๖๐๙๓/๓๔ และ๙๕๒/๔๑) -ตัวอย่างคำถาม นายวิทย์เจ้าหนี้ตามคำพิพากษานำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดิน ๑ แปลงของนายชมลูกหนี้ตามคำพิพากษาขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้เงินได้ราคา ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท หลังจากนั้น ๑๐ วัน นายตุลและนายกิจเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของนายชมอีก ๒ คดียื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์โดยอ้างว่าบุคคลทั้งสองต่างเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งศาลพิพากษาให้นายชมชำระหนี้เงิน แต่นายชมไม่มีทรัพย์สินเพียงพอจะชำระหนี้ได้ นายตุลและนายกิจไม่สามารถเอาชำระได้จากทรัพย์สินอื่น ๆ ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ขอศาลอนุญาตให้เข้าเฉลี่ยทรัพย์ (ก) นายวิทย์เจ้าหนี้คัดค้านว่า นายตุลผู้ร้องมิได้ดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของนายชมลูกหนี้ ตามคำพิพากษาจนเกินกำหนด ๑๐ ปี นับแต่คดีของนายตุลเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาถึงที่สุด นายตุลไม่มีสิทธิร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ (ข) นายชมลูกหนี้คัดค้านว่า นายชมยังมีทรัพย์สินอื่นนอกจากทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ นายกิจไม่มีสิทธิร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ ให้วินิจฉัยว่า ข้อคัดค้านของนายวิทย์เจ้าหนี้และนายชมลูกหนี้ดังกล่าวจะยกเป็นเหตุโต้แย้งคัดค้านคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ของนายตุลและนายกิจได้หรือไม่ ธงคำตอบ (ข้อสอบเนฯ ข้อ ๗ สมัย ๕๗) (ก) หากนายตุลเจ้าหนี้ผู้ร้องมิได้ดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของนายชมลูกหนี้ตามคำพิพากษาจนเกินกำหนด ๑๐ ปี นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด นายตุลเจ้าหนี้ย่อมสิ้นสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของนายชมและการขอเฉลี่ยทรัพย์ก็เป็นการบังคับคดีอย่างหนึ่งเพื่อเอาทรัพย์สินของนายชมชำระหนี้ของนายตุลผู้ขอเฉลี่ย และหมดสิทธิที่จะร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ของนายชมลูกหนี้ ข้อคัดค้านของนายวิทย์เจ้าหนี้ดังกล่าว จึงยกเป็นเหตุต่อสู้นายตุลผู้ร้องขอได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๑๖/๔๓) (ข) การที่นายชมลูกหนี้ตามคำพิพากษายกข้อต่อสู้ว่า นายชมมีทรัพย์สินอื่นที่จะบังคับคดีได้นั้น บทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๙๐ วรรคสอง เป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่นายวิทย์เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งทำการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของนายชมลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่จะยกเป็นเหตุโต้แย้งคัดค้านมิให้นายกิจเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่นเข้าเฉลี่ยทรัพย์ มิใช่ให้สิทธิแก่นายชมลูกหนี้ตามคำพิพากษายกขึ้นเป็นเหตุโต้แย้งคัดค้าน (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๕๙๒/๔๗ และ ๑๗๐๖/๔๗) มาตรา ๒๙๑ เมื่อศาลได้ยกคำร้องขอเฉลี่ยเสียโดยเหตุที่ยื่นไม่ทันกำหนดผู้ขออาจยื่นคำร้องต่อศาลได้อีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะได้มีการส่งคำบอกกล่าวตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๑๙ เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (๑) ให้ผู้ยื่นคำขอมีสิทธิได้รับชำระจากเงินที่เหลือภายหลังที่ได้ชำระให้แก่เจ้าหนี้ผู้ยึดแล้ว (๒) ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ถอนการยึด หรือเจ้าหนี้ผู้ยึดสละสิทธิในการบังคับคดีให้ถือว่าผู้ขอเป็นเจ้าหนี้ผู้ยึดต่อไปตั้งแต่วันที่ได้ยื่นคำร้อง และให้ดำเนินการบังคับคดีไปตามนั้น คำสั่งอนุญาตของศาลตามมาตรานี้ให้เป็นสุด มาตรา ๒๙๒ เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องงดการบังคับคดีไว้ในกรณีต่อไปนี้ (๑) ถ้าคำพิพากษาหรือคำสั่งใดได้กระทำไปโดยขาดนัดและได้มีการขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น หากลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ เมื่อศาลได้ส่งคำสั่งให้งดการบังคับคดีไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๐๙ แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอันที่จะขอต่อศาลให้มีคำสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองอย่างใด ๆ ตามที่เห็นสมควร (๒) ถ้าศาลได้มีคำสั่งให้งดการบังคับคดีไว้ เมื่อศาลได้ส่งคำสั่งนั้นไปให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบ ในกรณีเช่นนี้ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการบังคับคดีไว้ภายในระยะเวลาหรือเงื่อนไขตามที่ศาลจะได้กำหนดไว้ (๓) ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้แจ้งเป็นหนังสือไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าตนตกลงงดการบังคับคดีไว้ชั่วระยะที่กำหนดไว้ หรือภายในเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่ง (๔) เมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่ปฏิบัติตามข้อความแห่งมาตรา ๑๕๔ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งคำบอกกล่าวงดการบังคับคดีนั้น ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสีย เว้นแต่จะได้งดการบังคับคดีตามคำขอของบุคคลเหล่านั้นเอง มาตรา ๒๙๓ ลูกหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำขอทำเป็นคำร้องต่อศาลให้งดการบังคับคดีไว้ โดยเหตุที่ตนได้ยื่นฟ้องเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นคดีเรื่องอื่นในศาลเดียวกันนั้นซึ่งศาลยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาด และถ้าหากตนเป็นฝ่ายชนะ จะไม่ต้องมีการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินของตนโดยวิธีอื่น เพราะสามารถจะหักกลบลบหนี้กันได้ ถ้าศาลเห็นว่าข้ออ้างของลูกหนี้ตามคำพิพากษามีเหตุฟังได้และถ้างดการบังคับคดีไว้ไม่น่าจะเป็นที่เสียหายแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ศาลอาจมีคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ภายในระยะเวลาและเงื่อนไขตามที่เห็นสมควร คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด มาตรา ๒๙๔ ถ้าได้งดการบังคับคดีไว้ตามที่บัญญัติในประมวลกฎหมายนี้ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีต่อไป เมื่อศาลได้ส่งคำสั่งให้ดำเนินคดีต่อไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว โดยศาลเป็นผู้ออกคำสั่งนั้นเอง หรือโดยเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำขอให้ดำเนินการบังคับคดีต่อไป เนื่องจากระยะเวลาที่ได้งดการบังคับคดีนั้นได้ล่วงพ้นไปแล้วหรือเนื่องจากมิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้กำหนดไว้ แล้วแต่กรณีหรือเนื่องจากศาลที่คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณาในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาได้พิพากษายืนตามคำพิพากษาที่อยู่ในระหว่างบังคับคดี แต่ถ้าคำพิพากษาที่อยู่ในระหว่างบังคับคดีนั้น ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาพิพากษายืนแต่บางส่วนเจ้าพนักงานบังคับคดีจะดำเนินการบังคับคดีต่อไปยังหาได้ไม่ ถ้าปรากฏว่าเงินที่รวบรวมได้ก่อนงดการบังคับคดีนั้น พอที่จะชำระเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้แล้ว ถ้าได้งดการบังคับคดีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕๔ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีต่อไปโดยพลัน เมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ปฏิบัติตามข้อความที่กล่าวไว้ในมาตรานั้นแล้ว มาตรา ๒๙๕ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการบังคับคดีในกรณีต่อไปนี้ (๑) เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการบังคับคดีนั้นเอง หรือถอนโดยคำสั่งศาลแล้วแต่กรณี เมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้วางเงินต่อศาลหรือต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นจำนวนพอชำระหนี้ตามคำพิพากษา พร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมแห่งคดี หรือค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี หรือได้หาประกันมาให้จนเป็นที่พอใจของศาล สำหรับจำนวนเงินเช่นว่านี้ (๒) ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้แจ้งไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นหนังสือว่าตนสละสิทธิในการบังคับคดีนั้น (๓) ถ้าคำพิพากษาในระหว่างบังคับคดีได้ถูกกลับในชั้นที่สุด หรือหมายบังคับคดีได้ถูกยกเลิกเสีย เมื่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีได้ส่งคำสั่งให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี แต่ถ้าคำพิพากษาในระหว่างบังคับคดีนั้น ได้ถูกกลับแต่เพียงบางส่วน การบังคับคดีอาจดำเนินต่อไปจนกว่าเงินที่รวบรวมได้นั้นจะพอชำระแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา อธิบาย -ฎ.๖๙/๕๓ หลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว โจทก์และจำเลยเจรจาตกลงกันในส่วนค่าเสียหายว่า จำเลยยินยอมชดใช้เงินให้แก่โจทก์จำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยจำเลยจะผ่อนชำระให้แก่โจทก์เดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาท และจำเลยได้สั่งจ่ายเช็คจำนวน ๑๒ ฉบับ มอบให้แก่โจทก์ ศาลชั้นต้นบันทึกข้อตกลงดังกล่าวไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา และภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วโจทก์มิได้ดำเนินการบังคับคดี แต่ได้นำเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายไปเรียกเก็บเงินได้ทุกฉบับ พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์ยอมรับเอาเงื่อนไขตามที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาเป็นข้อตกลงกันระหว่างโจทก์และจำเลยโดยปริยายแล้ว ส่วนที่โจทก์และจำเลยได้ทำบันทึกในลักษณะเดียวกันมีข้อความเพิ่มเติมจากที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาว่า ข้อตกลงให้มีผลผูกพันต่อคู่กรณีไปแม้ว่าจะมีผลของคำพิพากษาคดีนี้ออกมาเช่นไรคู่กรณีตกลงสละสิทธิที่จะเรียกร้องตามผลของคำพิพากษาดังกล่าว ...หากจำเลยผิดนัดตามข้อตกลง โจทก์มีสิทธิที่จะบังคับในส่วนที่เสียผลประโยชน์ได้โดยชอบต่อไปตามคำพิพากษานั้น ก็เป็นเพียงการยืนยันเจตนาของโจทก์กับจำเลยให้ชัดเจนขึ้นเท่านั้น ข้อตกลงตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงมีผลบังคับได้ ส่วนที่โจทก์อ้างว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นการสละสิทธิเพียงชั่วคราว โจทก์ยังมีสิทธิบังคับคดีตามคำพิพากษาได้นั้น ก็เป็นกรณีที่จำเลยจะต้องผิดนัดตามข้อตกลงนั้นเสียก่อน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยยังไม่ได้ผิดนัดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามที่โจทก์อ้างในคำขอออกหมายบังคับคดี การที่ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีตามคำขอของโจทก์ และโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ของจำเลยตามหมายบังคับคดีดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบ มาตรา ๒๙๕ ทวิ ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดีภายในระยะเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ศาลสั่งถอนการบังคับคดีนั้นเสีย มาตรา ๒๙๕ ตรี ในกรณีที่มีการยึดทรัพย์สินซึ่งมิใช่ตัวเงิน หรือในกรณียึดหรืออายัดเงิน หรืออายัดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายเนื่องจากเจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการบังคับคดีนั้นเอง หรือถอนโดยคำสั่งศาล และผู้ขอให้ยึดหรืออายัดไม่ชำระค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดี ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขอหมายบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของผู้นั้นเพื่อชำระค่าธรรมเนียม ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ถือว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับค่าธรรมเนียมนั้น และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีบังคับคดีได้เองโดยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมทั้งปวงเพื่อประโยชน์ในการบังคับคดีนั้น *มาตรา ๒๙๖ ในกรณีที่คำบังคับ หมายบังคับคดี หรือคำสั่งศาลในชั้นบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ เมื่อศาลเห็นสมควรไม่ว่าในเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลงหรือเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีรายงานต่อศาล หรือเมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้องเสียหายเพราะเหตุดังกล่าวยื่นคำร้องต่อศาล ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขคำบังคับ หมายบังคับคดี หรือคำสั่งดังกล่าวทั้งหมดหรือบางส่วนหรือมีคำสั่งอย่างใดตามที่ศาลเห็นสมควร ภายใต้บังคับมาตรา ๓๐๙ ทวิ วรรคสอง ถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ เมื่อศาลเห็นสมควรไม่ว่าเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลงหรือเมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้องเสียหายเพราะเหตุดังกล่าวยื่นคำร้องต่อศาล ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวง หรือวิธีการบังคับใด ๆ โดยเฉพาะ หรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการอย่างใดตามที่ศาลเห็นสมควร การยื่นคำร้องตามมาตรานี้อาจกระทำได้ไม่ว่าในเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง แต่ต้องไม่ช้ากว่าสิบห้าวันนับแต่วันที่ที่ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นแต่ทั้งนี้ผู้ยื่นคำร้องต้องมิได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่หลังจากได้ทราบเรื่องฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้แล้วหรือต้องมิได้ให้สัตยาบันแก่การกระทำนั้น และในกรณีเช่นว่านี้ผู้ยื่นคำร้องจะขอต่อศาลในขณะเดียวกันนั้นให้มีคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ในระหว่างพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดก็ได้ เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ให้ถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลง เมื่อได้มีการดำเนินการดังต่อไปนี้ (๑) ในกรณีที่คำบังคับหรือหมายบังคับคดีกำหนดให้ส่งมอบทรัพย์สิน กระทำการหรืองดเว้นกระทำการอย่างใด เมื่อได้มีการปฏิบัติตามคำบังคับหรือหมายบังคับคดีที่ให้ส่งมอบทรัพย์สินกระทำการหรืองดเว้นกระทำการอย่างนั้นแล้ว แต่ถ้าการปฏิบัติตามคำบังคับหรือหมายบังคับคดีดังกล่าว อาจแยกได้เป็นส่วน ๆ เมื่อได้มีการปฏิบัติตามคำบังคับหรือหมายบังคับคดีในส่วนใดแล้ว ให้ถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงเฉพาะในส่วนนั้น (๒) ในกรณีที่คำบังคับหรือหมายบังคับคดีกำหนดให้ใช้เงิน เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้จ่ายเงินตามมาตรา ๓๑๘ มาตรา ๓๑๙ มาตรา ๓๒๐ มาตรา ๓๒๑ หรือมาตรา ๓๒๒ แล้วแต่กรณีแล้ว แต่ถ้าทรัพย์สินที่ถูกบังคับคดีมีหลายรายการ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้จ่ายเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินรายการใดแล้ว ให้ถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงเฉพาะทรัพย์สินรายการนั้น ในการยื่นคำร้องต่อศาลตามมาตรานี้ หากมีพยานหลักฐานเบื้องต้นแสดงว่าคำร้องนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นที่อาจได้รับความเสียหายเนื่องจากการยื่นคำร้องดังกล่าวร้องขอ ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้ยื่นคำร้องวางเงินหรือหาประกันต่อศาลตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนดเพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลนั้นได้ ถ้าผู้ยื่นคำร้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องนั้นเสีย คำสั่งของศาลที่ออกตามความในวรรคนี้ให้เป็นที่สุด ในกรณีที่ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องที่ยื่นไว้ตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการยื่นคำร้องดังกล่าวเห็นคำร้องนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า บุคคลดังกล่าวอาจยื่นคำร้องต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีคำสั่งยกคำร้องเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ยื่นคำร้องนั้นชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้แยกการพิจารณาเป็นสำนวนต่างหากจากคดีเดิม และเมื่อศาลไต่สวนแล้วเห็นว่าคำร้องนั้นรับฟังได้ ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ยื่นคำร้องนั้นชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลที่ได้รับความเสียหายดังกล่าวตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควรถ้าผู้ยื่นคำร้องนั้นไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ศาลมีอำนาจบังคับผู้ยื่นคำร้องนั้นได้เสมือนหนึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา อธิบาย -ในชั้นบังคับคดี หากมีการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย จะเพิกถอนต้องอ้าง ม.๒๙๖ นี้ไม่ใช่ ม.๒๗ ซึ่งเป็นบททั่วไป -ฎ.๖๓๐๘/๕๑ ผู้ร้องยื่นคำร้องอ้างว่าผู้ร้องเป็นผู้เข้าสู้ราคาในการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทของเจ้าพนักงานบังคับคดี นิติกรรมระหว่างผู้ร้องกับเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นโมฆะเนื่องจากผู้ร้องสำคัญผิดในสาระสำคัญของนิติกรรม เท่ากับผู้ร้องกล่าวอ้างว่าการบังคับคดีโดยการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทของเจ้าพนักงานบังคับคดีฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ยกเลิกการขายทอดตลาด เมื่อผู้ร้องต้องผูกพันในราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ และหากนำที่ดินพิพาทออกขายอีกครั้งหนึ่งถ้าได้เงินเป็นจำนวนสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิมแล้ว ผู้ร้องต้องรับผิดในส่วนที่ขาดตาม ป.พ.พ. มาตรา ๕๑๖ ผู้ร้องจึงเป็นบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ที่ดินพิพาทซึ่งขายทอดตลาดนั้นมีสิทธิยื่นคำร้องดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๙๖ วรรคสอง -ฎ.๗๓๔๒/๕๒ พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๗ บัญญัติว่า "ในการโอนสินทรัพย์ไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ถ้ามีการฟ้องร้องบังคับสิทธิเรียกร้องเป็นคดีในศาลให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ดังกล่าวเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทน... และในกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องแล้ว ก็ให้สวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น" ดังนั้น เมื่อผู้ร้องที่ ๑ได้รับโอนสินทรัพย์มาจากโจทก์แล้ว ผู้ร้องที่ ๑ ย่อมเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาโดยผลของกฎหมาย แม้ผู้ร้องที่ ๑ จะไม่ได้ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิต่อศาลชั้นต้น แต่ก็ได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ป.วิ.พ. มาตรา ๓๐๖ วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติกำหนดหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อได้รับคำสั่งอนุญาตให้ขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องแจ้งให้ทราบซึ่งคำสั่งศาลและวันขายทอดตลาดแก่บรรดาบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์ที่จะขายทอดตลาดซึ่งทราบได้ตามทะเบียนหรือโดยประการอื่น เมื่อผู้ร้องที่ ๑ รับซื้อสินทรัพย์มาแล้ว การขายทอดตลาดได้ราคาต่ำหรือสูงย่อมมีผลต่อการได้รับชำระหนี้ของผู้ร้องที่ ๑ จึงเป็นสิทธิโดยชอบที่ผู้ร้องที่ ๑ จะเข้ามาดูแลรักษาผลประโยชน์ของตนเองในวันขายทอดตลาด ถือว่าผู้ร้องที่ ๑ เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทราบถึงสิทธิของผู้ร้องที่ ๑ แล้วก่อนวันขายทอดตลาด เพราะได้ความว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้สั่งคำร้องขอสวมสิทธิของผู้ร้องที่ ๑ ที่ยื่นต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า "ผู้ร้องสวมสิทธิเข้ามาตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ มาตรา ๗" จึงเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของเจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องแจ้งผู้มีส่วนได้เสียทุกคนรวมทั้งผู้ร้องที่ ๑ ทราบ หาจำต้องรอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้สวมสิทธิหรือมีคำสั่งศาลแจ้งมาเสียก่อนไม่ เพราะกฎหมายบัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้แจ้งแก่ผู้มีส่วนได้เสีย ไม่ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีจะทราบสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียจากทางทะเบียนหรือโดยประการอื่น กรณีไม่มีข้อยกเว้นตามกฎหมายไม่ต้องแจ้งกำหนดวันนัดขายทอดตลาดแก่ผู้ร้องที่ ๑ ทราบ ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่แจ้งวันนัดขายทอดตลาดแก่ผู้ร้องที่ ๑ จึงเป็นการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา ๓๐๖ วรรคหนึ่ง ดังกล่าว ผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี และอาจต้องได้รับความเสียหายจากการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดี ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินทั้งสามแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามคำร้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๙๖ วรรคสอง -ฎ.๗๓๑๓/๕๒ ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๓๐๙ ทวิ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๙๖ วรรคสอง ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสองผู้ร้องทั้งสองยื่นอุทธรณ์ ดังนี้ หากผู้ซื้อทรัพย์เห็นว่า คำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของผู้ร้องทั้งสองไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า ผู้ซื้อทรัพย์ย่อมมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่มีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าวเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ศาลมีอำนาจสั่งให้แยกการพิจารณาเป็นสำนวนต่างหากจากคดีเดิม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๙๖ วรรคหก การที่ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้มีคำสั่งให้ผู้ร้องทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนในคดีเดิมจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว -ฎ.๑๐๖๙๔/๕๑ (ดูวิแพ่ง ๓๐๙ ทวิประกอบ) คำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของจำเลยที่ ๒ มีประเด็นวินิจฉัย ๒ ประเด็น คือ เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งประกาศการขายทอดตลาดให้แก่จำเลยที่ ๒ โดยชอบหรือไม่ และเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการขายทอดตลาดในราคาที่ต่ำเกินสมควรหรือไม่ ซึ่งศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยทั้งสองประเด็นและมีคำสั่งให้ยกคำร้อง จำเลยที่ ๒ ยื่นอุทธรณ์คำสั่งฉบับลงวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๙ เฉพาะประเด็นเจ้าพนักงานบังคับคดีส่งประกาศการขายทอดตลาดโดยมิชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ ๒ มิใช่ประเด็นที่ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๓๐๙ ทวิ วรรคสอง แต่เป็นประเด็นที่ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๙๖ วรรคสอง ซึ่งไม่อยู่ในบังคับของ มาตรา ๓๐๙ ทวิ และไม่มีกฎหมายบัญญัติให้คำสั่งศาลชั้นต้นตามมาตรา ๒๙๖ วรรคสอง เป็นที่สุดการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ ๒ ฉบับวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๙ และศาลอุทธรณ์ภาค ๔ มีคำสั่งให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ จึงไม่ชอบ -ข้อสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาข้อ ๖ เมื่อ ๒ พ.ย.๒๕๕๑ (มาตราหลัก ม.๒๙๖ วรรค ๒,วรรค ๓ มาตรารอง ม.๓๐๙ ทวิ วรรค ๑) ถาม ในชั้นบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินทำสวน ที่ดินทำนา และรถยนต์ของจำเลยออกขายทอดตลาด โดยขายเฉพาะที่ดินทำสวนก่อนในวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๑ แต่ไม่ได้แจ้งวันนัดขายทอดตลาดให้จำเลยทราบ เมื่อนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดชำระหนี้ตามคำพิพากษาแล้วจำเลยยังค้างชำระอยู่อีก ๒๐๐,๐๐๐ บาท วันเดียวกันนั้นหลังจากการขายทอดตลาดไปแล้วจำเลยไปพบเจ้าพนักงานบังคับคดีและทำบันทึกว่าจะนำเงินที่ยังค้างมาชำระภายใน ๗ วัน ปรากฏว่าจำเลยไม่นำเงินไปชำระตามกำหนด กลับยื่นคำร้องต่อศาลในวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๕๑ ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดเนื่องจากเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แจ้งวันนัดขายทอดตลาดให้จำเลยทราบ ต่อมาในวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๑ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงขายทอดตลาดที่ดินทำนาและรถยนต์นายหนึ่งเสนอราคาที่ดินทำนาสูงสุดเป็นเงิน ๑๕๐,๐๐๐ บาทและเสนอราคารถยนต์สูงสุดเป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าเป็นราคาที่สมควรขาย แต่จำเลยคัดค้านว่าราคาต่ำเกินไป เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงเลื่อนการขายทอดตลาดไปวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๑ และ ให้นายหนึ่งทำสัญญาผูกพันราคาโดยมิได้กำหนดระยะเวลาไว้ ครั้งถึงวันนัดนายหนึ่งไม่ไปสู้ราคา นายสองเป็น ผู้เสนอราคาที่ดินทำนาสูงสุดเป็นเงิน ๑๕๐,๐๐๐ บาทเท่ากับที่นายหนึ่งเคยเสนอราคาไว้ เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าคงไม่สามารถขายได้ราคาสูงกว่านี้ และนายหนึ่งไม่มาสู้ราคา จึงขายที่ดินทำนาให้แก่นายสอง แต่ในวันดังกล่าวไม่สามารถขายรถยนต์ได้ทัน จึงเลื่อนการขายทอดตลาดไปวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๑ เมื่อถึงวันนัด นายสามเสนอราคานายสามเสนอราคารถยนต์สูงสุดเป็นเงิน ๗๐,๐๐๐ บาท ไม่มีผู้คัดค้าน เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงขายรถยนต์ให้นายสาม และเรียกนายหนึ่งรับผิดชำระราคารถยนต์ที่ยังขาดอยู่ ๓๐,๐๐๐ บาท ตามที่นายหนึ่งทำสัญญาผูกพันราคาไว้ ให้วินิจฉัยว่าการขายทอดตลาดที่ดินทั้งสองแปลงของเจ้าพนักงานบังคับคดีชอบหรือไม่ จำเลยจะขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินทำสวนได้หรือไม่ และนายหนึ่งต้องรับผิดชำระเงิน ๓๐,๐๐๐ บาทหรือไม่ ตอบ จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเป็นเจ้าของที่ดินที่ขายทอดตลาด มีสิทธิที่จะรักษาผลประโยชน์ในการขายทอดตลาดทรัพย์สินของตน การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่แจ้งวันนัดให้จำเลยทราบ จึงเป็นการดำเนินการบังคับคดีโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จำเลยจึงมีสิทธิเรียกร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๙๖ วรรคสอง แต่การที่จำเลยทราบว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายดังกล่าวแล้วยังยอมทำบันทึกจะชำระเงินส่วนที่ยังขาด แม้ต่อมาไม่ได้ชำระก็ตามถือได้ว่าจำเลยได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่หรือเป็นการให้สัตยาบันแก่การกระทำนั้นแล้ว แม้จำเลยจะยื่นคำร้องไม่ช้ากว่า ๑๕ วันนับแต่วันทราบข้อความก็ตาม จำเลยก็ไม่สามารถร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินทำสวนได้ตามมาตรา ๒๙๖ วรรคสาม ส่วนการขายที่ดินนาเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าราคาที่นายหนึ่งเสนอเป็นราคาที่สมควรขายและ ให้นายหนึ่งทำสัญญาผูกพันไว้ เมื่อการขายครั้งต่อไปได้กระทำภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่นายหนึ่งเสนอราคาและนายสองผู้เสนอราคาในครั้งหลังมิได้สูงกว่าราคา ๑๕๐,๐๐๐ บาทเท่ากัน เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องขายให้นายหนึ่ง ไม่ว่านายหนึ่งจะไปในการขายทอดตลาดครั้งหลังหรือไม่ก็ตามเพราะไม่มีกฎหมายบังคับว่านายหนึ่งจะต้องไปในดูแลการขายทอดตลาด ดังนั้นการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายให้กับนายสองจึงไม่ชอบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๓๐๙ ทวิ วรรคหนึ่ง สำหรับการขายรถยนต์ แม้นายหนึ่งทำสัญญาผูกพันราคาไว้โดยไม่ได้กำหนดระยะเวลาก็ตาม แต่กฎหมายได้กำหนดให้มีผลผูกพัน ๓๐ วัน นับแต่วันที่นายหนึ่งเสนอราคา คือวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๑ แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๑ เป็นเวลาเกินกว่า ๓๐ วันแล้ว นายหนึ่งจึงสิ้นความผูกพันต่อราคาที่ได้เสนอไว้ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงต้องเรียกให้นายหนึ่งชำระราคาที่ยังขาดอีก ๓๐,๐๐๐ บาท หาได้ไม่ ทั้งนี้ตามมาตารา ๓๐๙ ทวิวรรคหนึ่ง มาตรา ๒๙๖ ทวิ ในกรณีที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาถูกพิพากษาให้ขับไล่ หรือต้องออกไปหรือต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัยหรือทรัพย์ที่ครอบครองถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้จัดการให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเข้าครอบครองทรัพย์ดังกล่าว เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ในห้ามาตราต่อไปนี้ มาตรา ๒๙๖ ตรี ถ้าทรัพย์ที่ต้องจัดการตามคำสั่งศาลนั้นไม่มีบุคคลใดอยู่อาศัยเจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจมอบทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือบางส่วนให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเข้าครอบครองได้ทันที และถ้ามีความจำเป็น ให้มีอำนาจทำลายสิ่งกีดขวางอันเป็นอุปสรรคในการที่จะจัดการให้เข้าครอบครองได้ตามสมควร ในกรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้ายังมีสิ่งของของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือของบุคคลใดอยู่ในทรัพย์ดังกล่าวนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจจัดการมอบให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษารักษาไว้หรือจัดการขนย้ายไปเก็บรักษา ณ สถานที่ใดโดยให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายก็ได้ ในการนี้ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีสิ่งของไว้และแจ้งหรือประกาศให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษารับคืนไปภายในเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่รับสิ่งของนั้นคืนภายในเวลาที่กำหนด เจ้าพนักงานบังคับคดี โดยได้รับอนุญาตจากศาลมีอำนาจขายทอดตลาดสิ่งของนั้นแล้วเก็บรักษาเงินสุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายไว้แทนสิ่งของนั้น ในกรณีที่สิ่งของของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือของบุคคลใดที่อยู่ในทรัพย์ตามวรรคสองมีสภาพเป็นของสดของเสียได้ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจที่จะขายได้ทันทีโดยวิธีขายทอดตลาดหรือวิธีอื่นที่สมควร ในกรณีที่สิ่งของนั้นถูกยึดหรืออายัดในการบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจย้ายสถานที่เก็บรักษาตามที่เห็นสมควร ค่าใช้จ่ายในการนี้ให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาผู้ถูกบังคับคดีเป็นผู้เสีย มาตรา ๒๙๖ จัตวา ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแจ้งต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารยังไม่ออกไปตามคำบังคับของศาล ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติดังต่อไปนี้ (๑) รายงานต่อศาลเพื่อมีคำสั่งจับกุมและกักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารดังกล่าวนั้น และศาลมีอำนาจสั่งจับกุมและกักขังได้ทันที ในกรณีนี้ ให้นำมาตรา ๓๐๐มาใช้บังคับโดยอนุโลม (๒) เมื่อศาลมีคำสั่งให้จับกุมและกักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารตาม (๑) แล้ว หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารหลบหนี ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการตามมาตรา ๒๙๖ ตรี โดยอนุโลม (๓) ปิดประกาศกำหนดเวลาให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลาแปดวันนับแต่วันปิดประกาศ ถ้าไม่ยื่นภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา บุคคลที่เข้ามาอยู่อาศัยในทรัพย์นั้นในระหว่างที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเข้าครอบครอง ให้ถือว่าเป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา มาตรา ๒๙๖ เบญจ ในกรณีที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากทรัพย์นั้นด้วย เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจจัดการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างนั้น และให้มีอำนาจขนย้ายสิ่งของออกจากสิ่งปลูกสร้างที่มีการรื้อถอนนั้นด้วย ค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนและขนย้ายสิ่งของ ให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้เสีย ในการรื้อถอน ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศกำหนดการรื้อถอนไว้ ณ บริเวณนั้นไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่พฤติการณ์ในการรื้อถอนนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ต้องรับผิดในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรานี้ เว้นแต่จะได้กระทำโดยมีเจตนาร้ายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง วัสดุก่อสร้างที่ถูกรื้อถอนรวมทั้งสิ่งของที่ขนย้ายออกจากสิ่งปลูกสร้าง ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองมิได้รับคืนไป เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจเก็บรักษาไว้ หรือขายแล้วเก็บเงินสุทธิไว้แทนตัวทรัพย์นั้น ถ้าเจ้าของมิได้เรียกเอาทรัพย์หรือเงินนั้นภายในกำหนดห้าปีนับแต่มีประกาศกำหนดการรื้อถอนให้ทรัพย์หรือเงินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน ในกรณีที่สิ่งปลูกสร้างนั้นถูกยึดในการบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจขายทอดตลาดสิ่งปลูกสร้างนั้น แล้วเก็บเงินสุทธิที่เหลือจากหักค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมไว้แทน มาตรา ๒๙๖ ฉ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีหน้าที่ช่วยเจ้าพนักงานบังคับคดีในการดำเนินการบังคับคดีดังกล่าวและทดรองค่าใช้จ่ายในการนั้น มาตรา ๒๙๖ สัตต ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามมาตรา ๒๙๖ ตรี มาตรา ๒๙๖ จัตวา (๓) และมาตรา ๒๙๖ เบญจ เจ้าพนักงานบังคับคดีอาจร้องขอความช่วยเหลือจากพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเพื่อให้สามารถดำเนินการตามมาตรา ๒๙๖ ตรี มาตรา ๒๙๖ จัตวา (๓) และมาตรา ๒๙๖ เบญจ และในการนี้ ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจมีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวผู้ขัดขวางไว้เท่าที่จำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดี มาตรา ๒๙๗ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๙๖ ทวิ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะยื่นคำขอฝ่ายเดียว โดยทำเป็นคำร้องต่อศาลไม่ว่าเวลาใด ๆ นับแต่ระยะเวลาที่กำหนดไว้เพื่อการปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ขอให้มีการบังคับได้ล่วงพ้นไปจนถึงเวลาที่การบังคับคดีได้เสร็จสิ้นลงขอให้ศาลมีคำสั่งจับกุมและกักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งจงใจไม่ปฏิบัติตามหมายบังคับคดี ห้ามไม่ให้ศาลอนุญาตตามคำขอนั้น เว้นแต่จะเป็นที่พอใจจากพยานหลักฐานซึ่งผู้ร้องนำมาสืบหรือที่ศาลเรียกมาสืบว่า (๑) ลูกหนี้ตามคำพิพากษาสามารถที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ถ้าได้กระทำการโดยสุจริต และ (๒) ไม่มีวิธีบังคับอื่นใดที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะใช้บังคับได้ มาตรา ๒๙๘ เมื่อมีคำขอให้จับตัวลูกหนี้ตามคำพิพากษาโดยเหตุจงใจขัดขืนไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ ให้ศาลออกหมายเรียกลูกหนี้ตามคำพิพากษามาศาล ถ้าได้ออกหมายเรียกตามวรรคหนึ่งแล้ว ลูกหนี้นั้นไม่มาศาล และมิได้แจ้งเหตุอันสมควรในการที่ไม่มาให้ศาลทราบ หากศาลเห็นว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้รับหมายเรียกแล้วศาลจะออกหมายจับลูกหนี้ตามคำพิพากษาก็ได้ หรือถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษามาศาลแต่แสดงเหตุอันสมควรในการปฏิบัติตามคำบังคับมิได้ ศาลมีอำนาจสั่งกักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นทันทีหรือตั้งแต่วันใดวันหนึ่งที่ศาลเห็นสมควรกำหนดก็ได้ ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษายังคงขัดขืนอยู่จนถึงวันนั้น ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ได้รับหมายเรียกหรือได้แจ้งเหตุอันสมควรต่อศาลในการที่ไม่มานั้น ให้ศาลเลื่อนการนั่งพิจารณาคำขอนั้นไป แต่ถ้าศาลเห็นว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาหลีกเลี่ยงไม่รับหมายศาลจะออกหมายจับตามที่ขอทันทีก็ได้ ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษามาศาลและแสดงเหตุอันสมควรได้ ศาลจะมีคำสั่งให้ยกคำขอหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นก็ได้ ในกรณีเหล่านี้ ศาลมีอำนาจที่จะทำการไต่สวนตามที่เห็นสมควรและลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมนำพยานมาสืบแก้ได้ มาตรา ๒๙๙ การจับและกักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามมาตรา ๒๙๖ จัตวา และมาตรา ๒๙๘ และการจับกุมและควบคุมตัวผู้ขัดขวางตามมาตรา ๒๙๖ สัตต ไม่ตัดสิทธิที่จะดำเนินคดีในความผิดอาญา มาตรา ๓๐๐ ลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ถูกจับกุมโดยเหตุจงใจขัดขืนคำบังคับจะต้องถูกกักขังไว้จนกว่าจะมีประกัน หรือประกันและหลักประกันตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควรกำหนดว่าตนยินยอมที่จะปฏิบัติตามคำบังคับทุกประการ แต่ทั้งนี้ ห้ามไม่ให้กักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษาแต่ละครั้ง เกินกว่าหกเดือนนับแต่วันจับหรือกักขัง แล้วแต่กรณี ในกรณีที่ผิดสัญญาประกัน ศาลมีอำนาจสั่งบังคับตามสัญญาประกันหรือตามจำนวนเงินที่ศาลเห็นสมควรโดยมิต้องฟ้องผู้ทำสัญญาประกัน มาตรา ๓๐๑ ในกรณีที่ศาลยอมรับบุคคลเป็นประกัน และบุคคลนั้นจงใจขัดขวางการบังคับคดีหรือร่วมกับลูกหนี้ตามคำพิพากษาขัดขืนไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ ให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา ๒๙๗ มาตรา ๒๙๘ มาตรา ๒๙๙ และมาตรา ๓๐๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม *มาตรา ๓๐๒ ศาลมีอำนาจออกหมายบังคับคดีหรือหมายจับลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือมีอำนาจทำคำวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องใด ๆ อันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งได้เสนอต่อศาลตามบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ คือ ศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น ถ้าศาลอุทธรณ์ได้ส่งคดีไปยังศาลชั้นต้นแห่งอื่นที่มิได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่อุทธรณ์นั้นเพื่อการพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามมาตรา ๒๔๓ (๒) และ (๓) ให้ศาลที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่นั้นเป็นศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดี เว้นแต่ศาลอุทธรณ์จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ในกรณีที่ศาลได้ออกหมายบังคับคดีส่งไปให้อีกศาลหนึ่งบังคับคดีแทนให้ส่งทรัพย์ที่ยึดได้หรือเงินที่ได้จากการขายทรัพย์นั้น แล้วแต่กรณี ไปยังศาลที่ออกหมายเพื่อดำเนินการไปตามกฎหมาย อธิบาย -ฎ.๑๓๕๔/๕๐ ศาลจังหวัดชลบุรีได้รับหมายจากศาลแพ่งให้บังคับคดียึดทรัพย์และขายทอดตลาดแทน จึงมีอำนาจสั่งไต่สวนเพื่อมีคำสั่งคำสั่งขอเพิกถอนการขายทอดตลาดได้สำหรับการยื่นอุทธรณ์นั้นตาม ม.๒๒๙ คู่ความจะต้องยื่นต่อศาลชั้นต้นซึ่งมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง เมื่อศาลจังหวัดชลบุรีเป็นศาลที่ดำเนินการไต่สวนและมีคำสั่ง การร้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดี จำเลยที่ ๒ ชอบจะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลจังหวัดชลบุรีได้ตาม ม.๒๒๙,๓๐๒ วรรค ๑,๒ หมวด ๒ วิธียึดทรัพย์ อายัดทรัพย์ และการจ่ายเงิน
มาตรา ๓๐๓ การยึดเอกสารและสังหาริมทรัพย์มีรูปร่างของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดทำโดย (๑) นำเอาเอกสารหรือทรัพย์สินนั้นมาและฝากไว้ ณ สถานที่ใดหรือแก่บุคคลใดตามที่เห็นสมควร และแจ้งการยึดนั้นให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาทราบ หรือ (๒) มอบไว้ในความอารักขาของลูกหนี้ตามคำพิพากษาโดยความยินยอมของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หรือมอบไว้ในอารักขาของบุคคลอื่นใดซึ่งครอบครองทรัพย์สินนั้นอยู่และแจ้งการยึดให้ลูกหนี้หรือบุคคลเช่นว่านั้นทราบ กับต้องกระทำให้การยึดนั้นเห็นประจักษ์แจ้งโดยการประทับตราหรือกระทำโดยวิธีอื่นใดที่สมควร การยึดสังหาริมทรัพย์มีรูปร่างนั้น ครอบไปถึงดอกผลแห่งทรัพย์นั้นด้วย มาตรา ๓๐๔ การยึดอสังหาริมทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดทำโดยนำเอาหนังสือสำคัญสำหรับทรัพย์สินนั้นมาและฝากไว้ ณ สถานที่ใด หรือแก่บุคคลใดตามที่เห็นสมควร และแจ้งการยึดนั้นให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าพนักงานที่ดินผู้มีหน้าที่ทราบ ให้เจ้าพนักงานที่ดินบันทึกการยึดไว้ในทะเบียน ถ้าหนังสือสำคัญยังไม่ได้ออก หรือนำมาแสดงไม่ได้ หรือหาไม่พบ ให้ถือว่าการที่ได้แจ้งการยึดต่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าพนักงานที่ดินนั้น เป็นการยึดตามกฎหมายแล้ว การยึดอสังหาริมทรัพย์นั้น ครอบไปถึงเครื่องอุปกรณ์และดอกผลนิตินัยของอสังหาริมทรัพย์นั้นด้วย เว้นแต่จะได้มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ดอกผลธรรมดาที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องเป็นผู้เก็บเกี่ยว หรือบุคคลอื่นเก็บเกี่ยวในนามลูกหนี้นั้น เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้แจ้งเป็นหนังสือให้ทราบในขณะทำการยึดว่า จะทำการเก็บเกี่ยวเองแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีอาจจัดให้เก็บเกี่ยวดอกผลนั้นได้เมื่อถึงกำหนด และทำการขายทอดตลาดตามบทบัญญัติในลักษณะนี้ มาตรา ๓๐๕ การยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ดังบัญญัติไว้ในสองมาตราก่อนนี้ มีผลดังต่อไปนี้ (๑) การที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ก่อให้เกิด โอน หรือเปลี่ยนแปลงซึ่งสิทธิในทรัพย์สินที่ถูกยึดภายหลังที่ได้ทำการยึดไว้แล้วนั้น หาอาจใช้ยันแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ไม่ ถึงแม้ว่าราคาแห่งทรัพย์สินนั้นจะเกินกว่าจำนวนหนี้ตามคำพิพากษาและค่าฤชาธรรมเนียมในการฟ้องร้องและการบังคับคดี และลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้จำหน่ายทรัพย์สินเพียงส่วนที่เกินจำนวนนั้นก็ตาม (๒) ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้รับมอบให้เป็นผู้อารักขาสังหาริมทรัพย์มีรูปร่างที่ถูกยึดหรือเป็นผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกยึด ลูกหนี้ชอบที่จะใช้ทรัพย์สินเช่นว่านั้นได้ตามสมควร แต่ถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะทำให้ทรัพย์ที่ได้รับมอบไว้ในอารักขา หรือทรัพย์ที่อยู่ในครอบครองเสียหาย หรือเกลือกจะเสียหาย โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นเอง หรือเมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินนั้นร้องขอ เจ้าพนักงานบังคับคดีจะระวังรักษาทรัพย์สินนั้นเสียเอง หรือตั้งให้ผู้ใดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินนั้นก็ได้ มาตรา ๓๐๖ เมื่อได้ยึดสังหาริมทรัพย์มีรูปร่างหรืออสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดหรือบางส่วนของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดียื่นคำขอต่อศาลขอให้สั่งอนุญาตให้ขายทอดตลาดทรัพย์สินนั้น ถ้าไม่มีผู้คัดค้านในการขายทรัพย์ ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา ๓๐๗ ให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอ แล้วให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งให้ทราบซึ่งคำสั่งของศาลและวันขายทอดตลาดแก่บรรดาบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดซึ่งทราบได้ตามทะเบียน หรือโดยประการอื่น คำสั่งอนุญาตของศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด อธิบาย -ฎ.๗๓๘๖/๕๒ ที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ปรากฏจากหลักฐานทางทะเบียนว่ามีชื่อจำเลยที่ ๒ เท่านั้นเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ไม่มีชื่อจำเลยที่ ๑ ปรากฏอยู่ด้วย ทั้งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ได้แจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าจำเลยที่ ๑ มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ด้วยกึ่งหนึ่งเนื่องจากเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยที่ ๑ เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีที่จะต้องแจ้งประกาศขายทอดตลาดให้จำเลยที่ ๑ ทราบ การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งประกาศขายทอดตลาดแต่เฉพาะจำเลยที่ ๒ ซึ่งมีชื่อตามทะเบียนในโฉนดที่ดินเพียงผู้เดียว จึงถือว่าได้แจ้งประกาศขายทอดตลาดชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา ๓๐๖ แล้ว มาตรา ๓๐๗ ถ้ารายได้ประจำปีจากอสังหาริมทรัพย์หรือการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกสิกรรมของลูกหนี้ตามคำพิพากษา อาจเพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมด้วยค่าฤชาธรรมเนียมในการฟ้องร้องและการบังคับคดี เมื่อศาลเห็นสมควร หรือเมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาร้องขอ ศาลอาจมีคำสั่งตั้งผู้จัดการอสังหาริมทรัพย์หรือการประกอบกิจการเหล่านั้นได้ และบังคับให้มอบเงินรายได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในเวลาและกำหนดตามที่ศาลเห็นสมควร แทนการสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ได้ และคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด มาตรา ๓๐๘ เมื่อศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ขายแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีอาจขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดได้เมื่อพ้นระยะเวลาอย่างน้อยห้าวันนับแต่วันที่ยึด การขายนั้นให้ดำเนินตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และกฎกระทรวงว่าด้วยการนั้นและตามข้อกำหนดของศาล ซึ่งระบุไว้ในคำสั่งอนุญาตให้ขายทรัพย์สินนั้น ถ้าหากมี บทบัญญัติแห่งมาตรานี้ ไม่ให้ใช้บังคับแก่ทรัพย์อันมีสภาพเป็นของสดของเสียได้ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจที่จะขายได้ทันที โดยวิธีขายทอดตลาด หรือวิธีอื่นที่สมควร มาตรา ๓๐๙ ในการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติตามข้อบังคับต่อไปนี้ (๑) ในการขายทรัพย์สินที่มีหลายสิ่งด้วยกัน ให้แยกขายทีละสิ่งต่อเนื่องกันไป แต่ (ก) เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจจัดสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีราคาเล็กน้อยรวมขายเป็นกอง ๆ ได้เสมอ และ (ข) เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจจัดสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์สองสิ่งหรือกว่านั้นขึ้นไป รวมขายไปด้วยกันได้ในเมื่อเป็นที่คาดหมายได้ว่า เงินรายได้ในการขายจะเพิ่มขึ้นเพราะเหตุนั้น (๒) ในการขายอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ และทรัพย์สินนั้นอาจแบ่งแยกออกได้เป็นตอน ๆ เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจขายทรัพย์สินนั้นเป็นตอน ๆ ได้ ในเมื่อเป็นที่คาดหมายได้ว่าเงินรายได้ในการขายทรัพย์สินบางตอนจะเพียงพอแก่การบังคับคดี หรือว่าเงินรายได้ทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นเพราะเหตุนั้น (๓) ในการขายทรัพย์สินหลายสิ่งด้วยกัน เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจกำหนดลำดับที่จะขายทรัพย์สินนั้น บุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินซึ่งจะต้องขาย อาจร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีรวมหรือแยกทรัพย์สิน หรือขอให้ขายทรัพย์สินนั้นตามลำดับที่กำหนดไว้หรือจะร้องคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่สั่งตามสามอนุมาตราก่อนนั้นก็ได้ ในกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ยอมปฏิบัติตามคำร้องขอหรือคำคัดค้านเช่นว่านั้น ผู้ร้องจะยื่นคำขอต่อศาลโดยทำเป็นคำร้อง ภายในสองวันนับตั้งแต่วันปฏิเสธ เพื่อขอให้มีคำสั่งชี้ขาดในเรื่องนั้นก็ได้คำสั่งของศาลให้เป็นที่สุด และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเลื่อนการขายไปจนกว่าศาลจะได้มีคำสั่งหรือจนกว่าจะได้พ้นระยะเวลาซึ่งให้นำเรื่องขึ้นสู่ศาลได้ มาตรา ๓๐๙ ทวิ ในการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะเคาะไม้ขายให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุดที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าเป็นราคาที่สมควรขายได้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีอาจคัดค้านว่าราคาดังกล่าวมีจำนวนต่ำเกินสมควร ในกรณีเช่นว่านี้ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเลื่อนการขายทอดตลาดทรัพย์สินไป และในการขายทอดตลาดทรัพย์สินครั้งต่อ ๆ ไปหากมีผู้เสนอราคาสูงสุดในจำนวนไม่น้อยกว่าจำนวนที่ผู้เสนอราคาสูงสุดได้เสนอในการขายทอดตลาดทรัพย์สินครั้งก่อนให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายให้แก่ผู้เสนอราคานั้นได้ ในกรณีที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีเห็นว่าราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินมีจำนวนต่ำเกินสมควรและการขายทอดตลาดทรัพย์สินในราคาต่ำเกินสมควรนั้นเกิดจากการคบคิดกันฉ้อฉลในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในการเข้าสู้ราคาหรือความไม่สุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่ บุคคลดังกล่าวอาจยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์สินตามบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ได้ และเมื่อศาลไต่สวนแล้วเห็นว่าคำร้องนั้นรับฟังได้ ให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องนั้น ให้นำบทบัญญัติในวรรคสาม วรรคสี่ วรรคห้า และวรรคหกของมาตรา ๒๙๖ มาใช้บังคับแก่การยื่นคำร้องตามวรรคสองโดยอนุโลม คำสั่งของศาลตามวรรคสองให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ได้ และคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด -อธิบาย -ฎ.๑๖๖/๕๑ ป.วิ.พ. มาตรา ๓๐๙ ทวิ วรรคสี่ บัญญัติว่า คำสั่งศาลตามวรรคสองให้เป็นที่สุด คำว่า "คำสั่งศาลตามวรรคสอง" ดังกล่าวมิได้หมายความว่าเป็นคำสั่งอนุญาตให้เพิกถอนการขายทอดตลาดเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงหากมีกรณียื่นคำร้องตามมาตรา ๓๐๙ ทวิ วรรคสอง แล้ว คำสั่งใด ๆ ของศาลที่เกี่ยวกับคำร้องดังกล่าวก็อยู่ในความหมายของคำว่า "คำสั่งศาลตามวรรคสอง" ทั้งสิ้น เมื่อคำร้องของจำเลยอ้างว่าการขายทอดตลาดไม่ชอบเนื่องจากราคาต่ำไป และการขายทอดตลาดเกิดจากความไม่สุจริตของเจ้าพนักงานบังคับคดีเช่นนี้ จึงเป็นคำร้องตามมาตรา ๓๐๙ ทวิ วรรคสอง ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งแล้ว ย่อมเป็นที่สุดตามมาตรา ๓๐๙ ทวิ วรรคสี่ มาตรา ๓๐๙ ตรี เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ขายให้แก่ผู้ซื้อ หากทรัพย์สินที่โอนนั้นมีลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารอยู่อาศัย และลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารไม่ยอมออกไปจากอสังหาริมทรัพย์นั้น ผู้ซื้อชอบที่จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาลให้ออกคำบังคับให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารออกไปจากอสังหาริมทรัพย์นั้นภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนด แต่ไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ ให้บังคับตามมาตรา ๒๙๖ ทวิ มาตรา ๒๙๖ ตรี มาตรา ๒๙๖ จัตวา มาตรา ๒๙๖ ฉ มาตรา ๒๙๖ สัตต มาตรา ๒๙๙ มาตรา ๓๐๐ มาตรา ๓๐๑ และมาตรา ๓๐๒ โดยอนุโลม ทั้งนี้ให้เจ้าพนักงานศาลเป็นผู้ส่งคำบังคับโดยผู้ซื้อมีหน้าที่จัดการนำส่ง และให้ถือว่าผู้ซื้อเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารที่อยู่อาศัยในอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามบทบัญญัติดังกล่าว อธิบาย **-ฎ.๘๘๕๓/๕๑ ป.วิ.พ. มาตรา ๓๐๙ ตรี มีเจตนารมณ์ที่จะให้การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลเป็นไปด้วยความรวดเร็วและเพื่อคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการบังคับคดีให้ได้รับสิทธิและสามารถใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินอันตกอยู่ในการบังคับคดีโดยไม่ถูกลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารขัดขวางหรือโต้แย้งการใช้สิทธิของผู้ซื้อทรัพย์โดยมิชอบ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๘ แห่ง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๒) พ.ศ.๒๕๔๘ โดยมาตรา ๒ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๔๘ เป็นต้นไป โดยไม่มีบทเฉพาะกาลกำหนดว่าบทบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติดังกล่าวมิให้ใช้บังคับแก่คดีที่ฟ้องก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับแต่อย่างใด ดังนั้น ป.วิ.พ. มาตรา ๓๐๙ ตรี ที่แก้ไขเพิ่มเติมจึงผูกพันใช้บังคับแก่คู่ความและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการบังคับคดีทันที แม้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดและมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์พิพาทจะได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์พิพาทก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับก็ตาม แต่ผู้ร้องได้ยื่นคำขอให้ศาลออกคำบังคับให้จำเลยและบริวารออกไปจากห้องชุดพิพาท เมื่อพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๓๐๙ ตรี ได้ **-ฎ.๖๑๓๘/๕๑ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๓๐๙ ตรี ต้องเป็นเรื่องที่ผู้ซื้อได้ซื้ออสังหาริมทรัพย์จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ขายให้แก่ผู้ซื้อ หากทรัพย์สินที่โอนนั้นมีลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารอยู่อาศัย และลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารไม่ยอมออกไปจากอสังหาริมทรัพย์นั้น ผู้ซื้อชอบที่จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาลให้ออกคำบังคับให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารออกไปจากอสังหาริมทรัพย์นั้นภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนด แต่คดีนี้ผู้ร้องซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่พิพาทมาจากการขายของที่ประชุมเจ้าหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ ไม่ใช่การซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำขอตามบทบัญญัติดังกล่าว มาตรา ๓๑๐ เมื่อได้มีการยึดทรัพย์แล้ว สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้อันมีต่อบุคคลภายนอกนั้น ให้จัดการดังต่อไปนี้ (๑) ถ้าเป็นพันธบัตรและหลักทรัพย์ที่เป็นประกันซึ่งเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษา (ออกให้แก่ผู้ถือหรือออกในนามของลูกหนี้ตามคำพิพากษา) เจ้าพนักงานบังคับคดีจะร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาตให้จำหน่ายสิ่งเหล่านั้นตามรายการขานราคาในวันที่ขายก็ได้หากสิ่งเหล่านั้นได้มีรายการขานราคากำหนดไว้ ณ สถานแลกเปลี่ยน หรือจะขายโดยวิธีขายทอดตลาดดังบัญญัติไว้ในลักษณะนี้ก็ได้ ถ้ามิได้ทำคำขอเช่นว่านั้นหรือคำขอถูกยกเสีย ให้ขายสิ่งเหล่านั้นโดยวิธีขายทอดตลาด (๒) ถ้าเป็นตราสารเปลี่ยนมือ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้จำหน่ายตามราคาที่ปรากฏในตราสารหรือราคาต่ำกว่านั้นตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดถ้าศาลสั่งยกคำขอ ให้นำตราสารนั้นออกขายทอดตลาด (๓) ถ้าเป็นสิทธิเรียกร้องอื่น ๆ นอกจากที่กำหนดไว้ในมาตรา ๓๑๐ ทวิ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกบุคคลซึ่งต้องรับผิดในการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้น ๆ ให้มาศาล ถ้าบุคคลนั้นมายังศาลและยินยอมชำระหนี้ให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีให้ศาลจดรายงานไว้ ถ้าบุคคลนั้นไม่มาศาลหรือไม่ยินยอมชำระหนี้ดังกล่าวแล้ว เมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาร้องขอ ให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ฟ้องตามเอกสารที่ได้ยึดนั้น และถ้าศาลพิพากษาในที่สุดให้เจ้าหนี้เป็นผู้ชนะคดี เจ้าหนี้ต้องให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบจำนวนเงินที่รับชำระหนี้จากการนั้นด้วย คำสั่งอนุญาตของศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด มาตรา ๓๑๐ ทวิ ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิเรียกร้องต่อบุคคลภายนอกให้ชำระเงินจำนวนหนึ่งหรือเรียกให้ส่งมอบสิ่งของนอกจากที่กำหนดไว้ในมาตรา ๓๑๐ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดและจำหน่ายไปตามที่บัญญัติไว้ในห้ามาตราต่อไปนี้ มาตรา ๓๑๑ สิทธิเรียกร้องซึ่งระบุไว้ในมาตรา ๓๑๐ ทวิ นั้น ให้อายัดได้โดยคำสั่งอายัดซึ่งศาลได้ออกให้ตามที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องฝ่ายเดียวและเจ้าหนี้ได้นำส่งให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและบุคคลซึ่งต้องรับผิดเพื่อการชำระเงินหรือส่งมอบสิ่งของนั้น เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลอาจกำหนดไว้ในหมายบังคับคดีให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจอายัดสิทธิเรียกร้องตามมาตรา ๓๑๐ ทวิ ก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ถือว่าคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นคำสั่งอายัดของศาล คำสั่งอายัดนั้น อาจออกให้ได้ไม่ว่าหนี้ของบุคคลภายนอกนั้นจะมีข้อโต้แย้งหรือมีข้อจำกัดหรือเงื่อนไขหรือว่าได้กำหนดจำนวนไว้แน่นอนหรือไม่ คำสั่งนั้นต้องมีข้อห้ามลูกหนี้ตามคำพิพากษาให้งดเว้นการจำหน่ายสิทธิเรียกร้องตั้งแต่ขณะที่ได้ส่งคำสั่งนั้นให้ และมีข้อห้ามบุคคลภายนอกไม่ให้ชำระเงินหรือส่งมอบสิ่งของให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่ให้ชำระหรือส่งมอบให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี ณ เวลาหรือภายในเวลาตามที่กำหนดไว้ในคำสั่ง มาตรา ๓๑๒ ถ้าบุคคลภายนอกที่ได้รับคำสั่งอายัดทรัพย์ปฏิเสธหรือโต้แย้งหนี้ที่เรียกร้องเอาแก่ตน ศาลอาจทำการไต่สวน และ (๑) ถ้าศาลเป็นที่พอใจว่าหนี้ที่เรียกร้องนั้นมีอยู่จริงก็ให้มีคำสั่งให้บุคคลภายนอกปฏิบัติตามคำสั่งอายัด หรือ (๒) ถ้าศาลเห็นว่ารูปเรื่องจะทำให้เสร็จเด็ดขาดไม่ได้สะดวกโดยวิธีไต่สวน ก็ให้มีคำสั่งอย่างอื่นใดในอันที่จะให้เสร็จเด็ดขาดไปได้ตามที่เห็นสมควร ถ้าคำสั่งอายัดทรัพย์นั้นไม่มีการคัดค้าน หรือศาลได้มีคำสั่งรับรองดังกล่าวแล้วและบุคคลภายนอกมิได้ปฏิบัติตามนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีอาจร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีแก่บุคคลภายนอกนั้น และดำเนินการไปเสมือนหนึ่งว่าบุคคลนั้นเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา ถ้าค่าแห่งสิทธิเรียกร้องซึ่งอายัดไว้นั้นต้องเสื่อมเสียไปเพราะความผิดของบุคคลภายนอก เนื่องจากการที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลไม่ว่าด้วยประการใด ๆ บุคคลภายนอกเช่นว่านั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อความเสียหายใด ๆ ซึ่งเกิดขึ้นแก่เจ้าหนี้นั้น มาตรา ๓๑๓ การอายัดสิทธิเรียกร้องแห่งรายได้เป็นคราว ๆ นั้น รวมตลอดถึงจำนวนเงินซึ่งถึงกำหนดชำระภายหลังการอายัดนั้นด้วย ถ้าสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกในอันที่จะเรียกให้ชำระเงินจำนวนหนึ่งนั้น มีการจำนองเป็นประกัน การอายัดสิทธิเรียกร้องให้รวมตลอดถึงการจำนองด้วย แต่ทั้งนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องแจ้งคำสั่งอายัดทรัพย์นั้นไปยังเจ้าพนักงานที่ดินและให้เจ้าพนักงานที่ดินจดแจ้งไว้ในทะเบียนที่ดิน มาตรา ๓๑๔ การอายัดสิทธิเรียกร้องดังบัญญัติไว้ในสองมาตราก่อนนี้ ให้มีผลดังต่อไปนี้ (๑) การที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ก่อให้เกิด โอน หรือเปลี่ยนแปลงซึ่งสิทธิเรียกร้องที่ได้ถูกอายัดภายหลังที่ได้ทำการอายัดไว้แล้วนั้น หาอาจใช้ยันแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ไม่ ถึงแม้ว่าราคาแห่งสิทธิเรียกร้องนั้นจะเกินกว่าจำนวนหนี้ตามคำพิพากษาและค่าฤชาธรรมเนียมในการฟ้องร้องและการบังคับคดี และลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้จำหน่ายสิทธิเรียกร้องนั้นเพียงส่วนที่เกินจำนวนนั้นก็ตาม (๒) ถ้าค่าแห่งสิทธิเรียกร้องซึ่งอายัดไว้นั้น ต้องเสื่อมเสียไปเพราะความผิดของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ๆ ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อความเสียหายใด ๆ ซึ่งเกิดขึ้นแก่ลูกหนี้นั้น (๓) การชำระหนี้โดยบุคคลภายนอกตามที่ระบุไว้ในคำสั่งอายัดทรัพย์นั้นให้ถือว่าเป็นการชำระหนี้ตามกฎหมาย มาตรา ๓๑๕ ถ้าสิ่งของที่จะต้องส่งมอบตามสิทธิเรียกร้องที่ถูกอายัดนั้นได้ส่งมอบให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีไปแล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีนำออกขายโดยการขายทอดตลาดดังที่บัญญัติไว้ในลักษณะนี้ ถ้าการจำหน่ายสิทธิเรียกร้องที่ถูกอายัดนั้นกระทำได้โดยยาก เนื่องจากการชำระหนี้นั้นต้องอาศัยการชำระหนี้ตอบแทน หรือด้วยเหตุอื่นใด และการบังคับคดีอาจล่าช้าเป็นการเสียหายแก่คู่ความทุกฝ่าย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือแก่บุคคลผู้มีส่วนได้เสีย เมื่อคู่ความหรือบุคคลเช่นว่านั้นหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีร้องขอ ศาลจะมีคำสั่งกำหนดให้จำหน่ายโดยวิธีอื่นก็ได้ มาตรา ๓๑๖ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีรายละเอียดแสดงจำนวนเงินทั้งหมดที่ได้ยึดหรือได้มาจากการจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือที่ได้วางไว้กับตน นอกจากนี้ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีพิเศษสำหรับทรัพย์สินแต่ละราย ซึ่งอยู่ในบังคับการจำนองหรือบุริมสิทธิพิเศษซึ่งได้มีการแจ้งให้ทราบโดยชอบแล้วตามที่กล่าวไว้ในมาตรา ๒๘๙ ภายใต้บังคับมาตรา ๔๔ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะล้มละลายและมาตรา ๒๙๒ถึง ๒๙๕ แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการรอหรือการงดการบังคับคดี ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดสรรหรือแบ่งเฉลี่ยเงินนั้นดังบัญญัติไว้ในมาตราต่อไปนี้ มาตรา ๓๑๗ ในกรณีที่จะต้องบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งได้พิพากษาหรือสั่งโดยจำเลยขาดนัดนั้น ห้ามมิให้เฉลี่ยเงินที่ได้มาจนกว่าระยะหกเดือนจะได้ล่วงพ้นไปแล้วนับแต่วันยึดทรัพย์หรืออายัดทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแสดงให้ศาลเป็นที่พอใจว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ทราบถึงคดีซึ่งขอให้มีการบังคับแล้ว มิให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรานี้มาใช้บังคับ มาตรา ๓๑๘ ในกรณีที่มีเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแต่คนเดียวร้องขอให้บังคับคดี และมิได้มีการแจ้งให้ทราบซึ่งการจำนองหรือบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินที่จำหน่ายได้มาดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘๙ เมื่อได้จัดการจำหน่ายทรัพย์สินเสร็จ และได้หักค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีไว้แล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินตามจำนวนหนี้ในคำพิพากษาและค่าฤชาธรรมเนียมในการฟ้องร้องให้แก่เจ้าหนี้ที่ตามคำพิพากษา เพียงเท่าที่เงินรายได้จำนวนสุทธิจะพอแก่การที่จะจ่ายให้ได้ มาตรา ๓๑๙ ในกรณีที่มีเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหลายคนร้องขอให้บังคับคดี หรือได้มีการแจ้งให้ทราบซึ่งการจำนองหรือบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินที่จำหน่ายได้มาดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘๙ เมื่อได้จัดการจำหน่ายทรัพย์สินเสร็จ และได้หักค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีไว้แล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีส่วนเฉลี่ยแสดงจำนวนเงินที่จ่ายให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หรือเจ้าหนี้บุริมสิทธิแต่ละคนจากเงินรายได้จำนวนสุทธิที่พอแก่การที่จะจ่ายให้ตามสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้เหล่านั้น ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือตามประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการจ่ายเงินเช่นว่านี้ และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งคำบอกกล่าวไปยังเจ้าหนี้เหล่านั้นขอให้ตรวจสอบบัญชีเช่นว่านั้นและให้แถลงข้อคัดค้านภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ส่งคำบอกกล่าว ถ้าไม่มีคำแถลงยื่นภายในเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าบัญชีส่วนเฉลี่ยนั้นเป็นที่สุด และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้เหล่านั้นตามบัญชี มาตรา ๓๒๐ ในกรณีดังบัญญัติไว้ในมาตราก่อนนี้ ถ้ามีเจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนดังกล่าวแล้ว ยื่นคำแถลงคัดค้านบัญชีส่วนเฉลี่ยต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในเวลาที่กำหนดไว้ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีออกหมายเรียก ให้เจ้าหนี้ทุกคนมาในเวลา และ ณ สถานที่ตามที่เห็นสมควร แต่ต้องให้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวัน เจ้าหนี้จะไปตามหมายเรียกเช่นว่านั้นด้วยตนเอง หรือจะให้ผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจโดยชอบไปและกระทำการแทนในกิจการทั้งหลายอันเกี่ยวแก่เรื่องนั้นก็ได้ เมื่อได้ตรวจพิจารณาคำแถลงและฟังคำชี้แจงของเจ้าหนี้ผู้ที่มาตามหมายเรียกแล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำคำสั่งยืนตามหรือแก้ไขบัญชีส่วนเฉลี่ยนั้น แล้วให้อ่านให้เจ้าหนี้ที่มานั้นฟัง และให้เจ้าหนี้ลงลายมือชื่อรับทราบไว้เป็นหลักฐาน และให้ส่งคำสั่งนั้นไปยังเจ้าหนี้ผู้ซึ่งมิได้มาตามหมายเรียกด้วย ถ้าหากมี ถ้าเจ้าหนี้คนใดไม่พอใจคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีเจ้าหนี้นั้นชอบที่จะยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องคัดค้านคำสั่งนั้นต่อศาลชั้นต้นได้ ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้อ่านหรือที่ได้ส่งคำสั่ง แล้วแต่กรณี แต่ถ้าเจ้าหนี้ที่ยื่นคำขอนั้นมิได้ไปตามหมายเรียกของเจ้าพนักงานบังคับคดีและไม่สามารถแสดงเหตุผลดีในการที่ไม่ไปต่อหน้าเจ้าพนักงานบังคับคดีนั้น ให้ศาลนั้นยกคำขอนั้นเสีย คำสั่งของศาลที่ออกตามความในวรรคนี้ให้เป็นที่สุด ถ้าเจ้าหนี้ซึ่งได้มาตามหมายเรียกทุกคนได้ยินยอมตามคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีและลงลายมือชื่อไว้เป็นพยานหลักฐานในการยินยอมนั้นแล้ว และถ้าเจ้าหนี้ผู้ไม่มาซึ่งมีสิทธิคัดค้านคำสั่งได้ มิได้ยื่นคำคัดค้านภายในเวลากำหนด ให้ถือว่าบัญชีส่วนเฉลี่ยนั้นเป็นที่สุด และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ตามนั้น ถ้าเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิคัดค้านคำสั่งได้ยื่นคำคัดค้านดังที่บัญญัติไว้ข้างต้นแล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเลื่อนการจ่ายส่วนเฉลี่ยไปจนกว่าศาลได้มีคำสั่งแล้ว หรือทำการจ่ายส่วนเฉลี่ยชั่วคราว ดังที่บัญญัติไว้ในมาตราต่อไป บทบัญญัติมาตรานี้ ให้ใช้บังคับแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีด้วยโดยอนุโลม มาตรา ๓๒๑ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่า ถ้าจะเลื่อนการจ่ายส่วนเฉลี่ยไปจนกว่าได้จำหน่ายทรัพย์สินที่ประสงค์จะบังคับทั้งหมด หรือจนกว่าการเรียกร้องทั้งหมดที่มาสู่ศาลได้เสร็จเด็ดขาดแล้ว จะทำให้บุคคลผู้มีส่วนเฉลี่ยในเงินรายได้แห่งทรัพย์สินที่บังคับนั้นทุกคนหรือคนใดคนหนึ่งได้รับความเสียหาย เจ้าพนักงานบังคับคดีมีสิทธิที่จะแบ่งเงินรายได้เท่าที่พอแก่การที่จะจ่ายให้ดั่งที่บัญญัติไว้ในสองมาตราก่อนได้ ในเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้กันเงินไว้สำหรับชำระค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดในการบังคับคดีที่เกิดขึ้นหรือจะเกิดขึ้นต่อไป และสำหรับชำระการเรียกร้องใด ๆ ที่ยังมีข้อโต้แย้งไว้แล้ว มาตรา ๓๒๒ เมื่อผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีทุกคนได้รับส่วนแบ่งเป็นที่พอใจแล้ว ถ้ายังมีเงินที่จำหน่ายทรัพย์สินได้เหลืออยู่ และเงินที่ยังเหลือเช่นว่านั้นได้ถูกอายัดตามมาตรา ๒๙๑ หรือโดยประการอื่น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจำหน่ายส่วนที่เหลือนั้นตามมาตรา ๒๙๑ หรือตามคำสั่งอายัดทรัพย์ แล้วแต่กรณี ถ้าเงินรายได้จำนวนสุทธิที่จำหน่ายทรัพย์สินได้มานั้นไม่ต้องการใช้สำหรับการบังคับคดีต่อไปก็ดี หรือมีเงินเหลืออยู่ภายหลังที่ได้หักชำระค่าฤชาธรรมเนียมและจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ทุกคนเป็นที่พอใจแล้วก็ดี ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินรายได้จำนวนสุทธิหรือส่วนที่เหลือนั้นให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา และถ้าทรัพย์สินของบุคคลภายนอกต้องถูกจำหน่ายไปเพื่อประโยชน์แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา ให้จ่ายเงินรายได้จำนวนสุทธินั้นแก่บุคคลภายนอกตามสิทธิเรียกร้องของบุคคลภายนอกที่มีอยู่ต่อลูกหนี้ตามคำพิพากษา ถ้าได้จำหน่ายสังหาริมทรัพย์รายใดไปแล้วตามมาตรา ๒๘๘ และได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดเป็นคุณแก่ผู้เรียกร้อง ให้ศาลหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินที่จำหน่ายได้แก่ผู้เรียกร้องไป มาตรา ๓๒๓ บรรดาเงินต่าง ๆ ที่ค้างจ่ายอยู่ในศาลหรือที่เจ้าพนักงานบังคับคดี ถ้าผู้มีสิทธิมิได้เรียกเอาภายในห้าปี ให้ตกเป็นของแผ่นดิน |