ป.วิ แพ่ง น.5 มาตรา ๒๐๒ บัญญัติว่า ถ้าโจทก์ขาดนัดพิจารณา ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสียจากสารบบความ เว้นแต่จำเลยจะได้แจ้งต่อศาลในวันสืบพยานขอให้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป ก็ให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไปฝ่ายเดียว มาตรา ๒๐๔ บัญญัติว่า ถ้าจำเลยขาดนัดพิจารณา ให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไปฝ่ายเดียว ตามปัญหา เป็นกรณีที่มีโจทก์และจำเลยหลายคน โจทก์และจำเลยคนใดที่ไม่มาศาลในวันสืบพยานและไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี ถือว่าโจทก์และจำเลยคนนั้นขาดนัดพิจารณา การขาดนัดพิจารณาของคู่ความคนใด คงมีผลเฉพาะคู่ความคนนั้น ไม่มีผลถึงคู่ความอื่นที่ไม่ได้ขาดนัดพิจารณาด้วย สำหรับโจทก์ทั้งห้าและจำเลยที่ ๑ กับที่ ๓ ไม่มาศาลในวันสืบพยานและไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี ถือว่าโจทก์ทั้งห้าและจำเลยที่ ๑ กับที่ ๓ ขาดนัดพิจารณาตามมาตรา ๒๐๐ และเป็นกรณีที่คู่ความทั้งสองฝ่ายขาดนัดพิจารณา มาตรา ๒๐๑ บัญญัติให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ ที่ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีระหว่างโจทก์ทั้งห้าและจำเลยที่ ๑ กับที่ ๓ ออกจากสารบบความจึงชอบแล้ว สำหรับโจทก์ที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ เมื่อจำเลยที่ ๒ ฟ้องแย้ง โจทก์และจำเลยที่ ๒ จะมี ๒ ฐานะ คือ โจทก์จะมีฐานะเป็นโจทก์ตามฟ้องเดิมและมีฐานะเป็นจำเลยในส่วนฟ้องแย้ง ส่วนจำเลยที่ ๒ มีฐานะเป็นจำเลยในส่วนฟ้องเดิม และมีฐานะเป็นโจทก์ในส่วนฟ้องแย้ง การขาดนัดพิจารณาของโจทก์จะขาดนัดทั้งสองฐานะ ในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องเดิม โจทก์ไม่มาศาลในวันสืบพยาน และไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๐๐ ถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณา มาตรา ๒๐๒ บัญญัติให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ เว้นแต่จำเลยที่ ๒ จะได้แจ้งต่อศาลขอให้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป ก็ให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไปฝ่ายเดียว ตามปัญหา จำเลยที่ ๒ แถลงขอให้ศาลยกฟ้อง ถือว่าเป็นการขอให้ศาลดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป ศาลจึงต้องพิจารณาคดีในส่วนฟ้องเดิมต่อไป จะสั่งให้จำหน่ายคดีไม่ได้ เมื่อจำเลยที่ ๒ แถลงว่าไม่ประสงค์ที่จะสืบพยานต่อไป คดีย่อมเสร็จการพิจารณา ศาลชั้นต้นชอบที่จะพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ เพราะเมื่อโจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้าง จำเลยที่ ๒ ให้การปฏิเสธ โจทก์ย่อมมีภาระการพิสูจน์ เมื่อโจทก์ไม่นำพยานหลักฐานมาสืบให้สมฟ้อง โจทก์ต้องเป็นฝ่ายแพ้คดีตามภาระการพิสูจน์ การที่ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๒ จากสารบบความจึงเป็นการไม่ชอบ ในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องแย้ง จำเลยที่ ๒ มีฐานะเป็นโจทก์ตามฟ้องแย้ง ส่วนโจทก์ที่ ๑ มีฐานะเป็นจำเลย เมื่อโจทก์ขาดนัดพิจารณา ต้องถือว่าเป็นกรณีจำเลยฟ้องแย้งขาดนัดพิจารณา ป.วิ.พ. มาตรา ๒๐๔ บัญญัติว่า ให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไปฝ่ายเดียว ศาลจึงต้องดำเนินการสืบพยานจำเลยที่ ๒ ไปฝ่ายเดียว เมื่อจำเลยที่ ๒ แถลงว่าจำเลยที่ ๒ ไม่ประสงค์ที่จะสืบพยาน ก็ต้องถือว่าคดีในส่วนฟ้องแย้งเสร็จการพิจารณา ศา ลชอบที่จะพิพากษายกฟ้องแย้ง เพราะเมื่อจำเลยที่ ๒ เป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่าโจทก์ที่ ๑ ทำละเมิด เป็นเหตุให้จำเลยที่ ๒ ได้รับความเสียหาย โจทก์ที่ ๑ ให้การปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นฝ่ายทำละเมิด ภาระการพิสูจน์ย่อมตกแก่จำเลยที่ ๒ เมื่อจำเลยที่ ๒ ไม่นำสืบพยานให้ได้ความตามที่ฟ้องแย้ง จำเลยที่ ๒ ต้องเป็นฝ่ายแพ้คดีตามภาระการพิสูจน์ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีจึงเป็นการไม่ชอบ สำหรับโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๕ กับจำเลยที่ ๒ โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๕ ไม่มาศาลในวันสืบพยาน และไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี ถือว่าโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๕ ขาดนัดพิจารณา มาตรา ๒๐๒ บัญญัติว่า ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสียจากสารบบความ เว้นแต่จำเลยจะได้แจ้งต่อศาลในวันสืบพยานขอให้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป ก็ให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไปฝ่ายเดียว ตามปัญหาจำเลยที่ ๒ แถลงขอให้ศาลยกฟ้อง ถือได้ว่าเป็นการแจ้งต่อศาลขอให้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป ศาลจึงต้องดำเนินคดีในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๕ กับจำเลยที่ ๒ ต่อไป โดยให้สืบพยานจำเลยที่ ๒ ไปฝ่ายเดียว ศาลจะมีคำสั่งจำหน่ายคดีในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๕ และจำเลยที่ ๒ ไม่ได้ เมื่อจำเลยที่ ๒ แถลงว่าไม่ประสงค์ที่จะสืบพยาน คดีย่อมเสร็จการพิจารณา ศาลชั้นต้นชอบที่จะพิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๕ ตามภาระการพิสูจน์ เพราะเมื่อโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๕ เป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ ๑ ผู้ทำละเมิดในทางการที่จ้าง จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ด้วย แต่จำเลยที่ ๒ ให้การปฏิเสธว่าจำเลยที่ ๑ ไม่ได้ทำละเมิด โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๕ จึงมีภาระการพิสูจน์ เมื่อโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๕ ไม่นำพยานหลักฐานมาสืบให้ได้ความตามที่ฟ้อง โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๕ ต้องเป็นฝ่ายแพ้คดีตามภาระการพิสูจน์ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีจึงเป็นการไม่ชอบ -ฎ.๓๘๗๒/๓๕ การสืบพยานนัดแรกของคดีเป็นการเดินเผชิญสืบที่ดินพิพาท ถ้าคู่ความไปเผชิญสืบแล้ว ถือว่ามาในวันสืบพยานแล้ว กรณีไม่มีการขาดนัดพิจารณาเกิดขึ้น แม้คู่ความไม่ได้มาในวันนัดสืบพยานที่ศาลในนัดต่อมาก็ไม่ถือว่าเป็นการขาดนัดพิจารณา -การส่งประเด็นไปสืบพยานที่ศาลอื่น มาตรา ๑๐๒ วรรคสาม บัญญัติว่า คู่ความมีสิทธิจะไม่ตามประเด็นไปก็ได้ การที่คู่ความแถลงว่าจะตามประเด็นไปแต่แล้วไม่ไปยังศาลที่รับประเด็นตามที่แถลง ไม่ถือว่าขาดนัดพิจารณา แนว ฎ.๘๖๓/๐๔ การส่งประเด็นไปสืบพยานเป็นสิทธิของคู่ความที่จะตามประเด็นไปฟังการพิจารณาหรือไม่ก็ได้ ฉะนั้นแม้จะได้แถลงต่อศาลว่าจะตามประเด็นไป แต่แล้วต่อมาก็มิได้ไปตามกำหนดนัดก็ไม่ทำให้ผู้นั้นขาดนัดพิจารณา -คำถามหากมีในเรื่องจำเลยขาดนัดพิจารณา นั่นหมายความว่าผ่านการยื่นคำให้การมาแล้วเพราะหากจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การไม่ต้องพิจารณาในเรื่องจำเลยขาดนัดพิจารณาเลย เวลาตอบข้อสอบให้จับเป็นคู่ๆระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ หรือระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ เป็นต้น แล้วพิจารณาตามหลักกฎหมายเป็นคู่ๆไปว่าศาลสั่งชอบหรือไม่ประการใด -ฎ.๖๖๗๔/๔๑ คดีแพ่งระหว่างโจทก์ทั้งห้าและจำเลยที่ ๕ ถึงที่ ๗ ในวันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ ๕ ถึงที่ ๗ กับโจทก์ทั้งห้าต่างไม่ไปศาลตามวันเวลานัด ต้องถือว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายขาดนัดพิจารณา ส่วนคดีระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ นั้น จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ มาศาล ส่วนโจทก์ไม่มาศาล ถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณา เมื่อจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ แถลงไม่ติดใจดำเนินคดีต่อไป ขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี กรณีดังกล่าวบทบัญญัติกฎหมายให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสียจากสารบบความตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๐๐ วรรคแรก โดยศาลไม่จำต้องสอบถามจำเลยที่ ๕ ถึงที่ ๗ ก่อน *มาตรา ๒๐๑ ถ้าคู่ความทั้งสองฝ่ายขาดนัดพิจารณา ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสียจาก สารบบความ **มาตรา ๒๐๒ ถ้าโจทก์ขาดนัดพิจารณา ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสียจากสารบบความ เว้นแต่จำเลยจะได้แจ้งต่อศาลในวันสืบพยานขอให้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไปก็ให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไปฝ่ายเดียว อธิบาย -ฎ.๗๒๘/๔๘ การที่โจทก์ขอถอนฟ้องหลังจำเลยยื่นคำให้การแล้วแต่ศาลรอสั่งในวันสืบพยาน ครั้งถึงวันสืบพยานโจทก์ไม่มาศาล การที่ศาลสั่งจำหน่ายคดีเพราะเหตุโจทก์ทิ้งฟ้องไม่ชอบ เพราะการที่ศาลยังไม่สั่งขาดนัดพิจารณาตาม ม.๒๐๒ ถือว่าคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณา วันนัดแรกการที่โจทก์ไม่มาศาลจึงเป็นกรณีโจทก์ขาดนัดพิจารณา ศาลชอบที่จะถามจำเลยก่อน การที่จำเลยแถลงให้ดำเนินคดีต่อไปศาลต้องพิจารณาว่าจะตัดสินคดีไปฝ่ายเดียวหรือไม่ -ฎ.๖๓๔/๒๘ จำเลยแจ้งต่อศาลว่าเมื่อโจทก์ขาดนัดพิจารณาก็ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง ถือได้ว่าเป็นการที่จำเลยขอให้ดำเนินคดีต่อ่ไป (ศาลต้องพิจารณาคดีฝ่ายเดียว จะจำหน่ายคดีไม่ได้ แต่ถ้าแถลงว่าสุดแต่ศาลจะเห็นสมควร,แล้วแต่ศาลจะพิจารณาสั่ง หรือขอให้สั่งตามรูปคดี ไม่อาจถือว่าจำเลยประสงค์ให้ดำเนินคดีต่อไป ศาลจึงต้องจำหน่ายคดี) -ฎ.๕๑๐๑/๓๘,๘๙๘/๓๘ คำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ เท่ากับเป็นการยอมรับว่ากระบวนพิจารณาโดยขาดนัดที่ได้ดำเนินไปเป็นการถูกต้องแล้ว เพียงแต่คู่ความอ้างว่าที่ตนขาดนัดโดยมิได้จงใจเท่านั้น ซึ่งต่างกับกรณีคู่ความอ้าง ม.๒๗ -ตัวอย่างคำถาม โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยให้การต่อสู้คดี ศาลชั้นต้นให้โจทก์นำพยานเข้าสืบก่อนและนัดสืบพยานโจทก์เวลา ๙ นาฬิกา ถึงวันนัดจำเลยมาศาล ส่วนฝ่ายโจทก์ไม่มาศาลโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี ศาลรออยู่จนถึงเวลา ๑๐ นาฬิกา ทนายจำเลยแถลงขอให้ศาลพิจารณาสั่งตามที่เห็นสมควร ศาลเห็นว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ (ก) โจทก์มาศาลในวันเดียวกันเวลา ๑๐.๓๐ นาฬิกา และยื่นคำร้องว่าโจทก์มิได้ขาดนัดพิจารณา เพราะโจทก์มาศาลในวันสืบพยานแล้ว แต่เนื่องจากเกิดอุบัติเหตุทำให้โจทก์มาถึงศาลล่าช้าหลังจากที่ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพียง ๓๐ นาที ขอให้ศาลยกคดีขึ้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป (ข) จำเลยอุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดีว่า ทนายจำเลยแถลงต่อศาลดังกล่าวโดยมีความประสงค์จะให้ศาลดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป แต่ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องของโจทก์ใน (ก) อย่างไร และอุทธรณ์ของจำเลยใน (ข) ฟังขึ้นหรือไม่ ธงคำตอบ (ข้อสอบเนฯ ข้อ ๔ สมัย ๕๖) (ก) การที่คู่ความต้องมาศาลในวันสืบพยานนั้นจะต้องมาตรงตามเวลานัดด้วย เมื่อศาลนัดเวลา ๙ นาฬิกา และได้รออยู่จนถึงเวลา ๑๐ นาฬิกา ล่วงเลยเวลานัดไปถึง ๑ ชั่วโมง ฝ่ายโจทก์ก็ยังไม่มาศาล โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี จึงต้องถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๐ วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจากสารบบความตามมาตรา ๒๐๒ จึงชอบด้วยกฎหมาย การที่โจทก์มาศาลและยื่นคำร้องขอให้ศาลยกคดีขึ้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ย่อมมีผลเท่ากับเป็นการขอให้พิจารณาคดีใหม่ (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ ๓๓๘๘/๔๕) เมื่อศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจาก สารบบความโดยมิได้สั่งให้พิจารณาคดีนี้ไปฝ่ายเดียว โจทก์จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้ (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๔๘/๔๖) ดังนั้น ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งให้ยกคำร้องของโจทก์ (ข) เมื่อโจทก์ขาดนัดพิจารณา มาตรา ๒๐๒ ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ เว้นแต่จำเลยจะได้แจ้งต่อศาลในวันสืบพยานขอให้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป จึงให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว การที่ทนายจำเลยแถลงขอให้ศาลพิจารณาสั่งตามที่เห็นสมควร ถือไม่ได้ว่าเป็นการแจ้งต่อศาล ขอให้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๖๒/๔๕) ดังนั้น อุทธรณ์ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น *มาตรา ๒๐๓ ห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดีตามมาตรา ๒๐๑ และมาตรา ๒๐๒ แต่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยอายุความ คำสั่งเช่นว่านี้ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะเสนอคำฟ้องของตนใหม่ อธิบาย -มาตรานี้ห้ามโจทก์เท่านั้น ไม่ได้ห้ามจำเลย ฎ.๑๕๙๑/๔๒ ถ้าอยู่ระหว่างที่จำเลยอุทธรณ์ โจทก์มาฟ้องใหม่เป็นฟ้องซ้อนได้ -ตัวอย่างคำถาม โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ได้ขับรถยนต์โดยประมาทชนโจทก์ทั้งสองได้รับบาดเจ็บ อันเป็นการกระทำละเมิดในทางการที่จ้าง ขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสองคนละ ๔๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีขอให้ศาลยกฟ้อง ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์ทั้งสองนำพยานเข้าสืบก่อน ถึงวันสืบพยาน จำเลยที่ ๑ มาศาล ส่วนโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ ๒ ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาล ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ (ก) โจทก์ทั้งสองมาศาล ยื่นคำร้องว่าโจทก์ทั้งสองไม่ได้จงใจขาดนัดพิจารณา แต่ในวันสืบพยานการจราจรติดขัดมาก ทำให้เสมียนทนายโจทก์ทั้งสองนำคำร้องขอเลื่อนคดีมาถึงศาลล่าช้าหลังจากที่ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีไปแล้ว ขอให้ศาลไต่สวนคำร้องและมีคำสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ (ข) จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ว่า ศาลไม่ได้สอบถามจำเลยที่ ๑ ซึ่งมาศาลก่อนที่จะมีคำสั่ง คำสั่งศาลที่ให้จำหน่ายคดีจากสารบบความไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้วินิจฉัยว่า ศาลจะมีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องของโจทก์ทั้งสองใน (ก) อย่างไร และอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ ใน (ข) ฟังขึ้นหรือไม่ ธงคำตอบ (ข้อสอบเนฯ ข้อ ๔ สมัย ๕๙) (ก) เมื่อโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ ๒ ไม่มาศาลในวันสืบพยานและไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดีจึงเป็นกรณีที่คู่ความทั้งสองฝ่ายขาดนัดพิจารณา ซึ่งศาลจะต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๑ ส่วนโจทก์ทั้งสองที่ไม่มาศาลกับจำเลยที่ ๑ ที่มาศาลเป็นกรณีที่โจทก์ขาดนัดพิจารณาตามมาตรา ๒๐๒ เมื่อจำเลยที่ ๑ ไม่ได้แจ้งต่อศาลในวันสืบพยานขอให้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไปศาลย่อมจะต้องสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความเช่นเดียวกัน (คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๖๗๑/๔๑) ผลของคำสั่งจำหน่ายคดีตามมาตรา ๒๐๑ และมาตรา ๒๐๒ ต้องพิจารณาตามมาตรา ๒๐๓ แม้มาตรา ๒๐๓ มิได้บัญญัติห้ามมิให้โจทก์มีคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ แต่การที่โจทก์จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้จะต้องมีการพิจารณาคดีฝ่ายเดียวเป็นสำคัญ การที่ศาลได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีเสร็จสิ้นไปแล้ว จึงไม่มีการพิจารณาคดีฝ่ายเดียวอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิที่จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ สิทธิของโจทก์ทั้งสองมีอยู่ทางเดียวคือ ต้องฟ้องคดีใหม่ภายในอายุความตามมาตรา ๒๐๓ เท่านั้น (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๖๔๕/๔๙) ศาลชอบที่จะมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของโจทก์ทั้งสอง (ข) กรณีที่โจทก์ทั้งสองขาดนัดพิจารณา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๒ มิได้บัญญัติให้ศาลต้องสอบถามจำเลยที่มาศาลก่อน แต่เป็นหน้าที่ของจำเลยที่มาศาลจะต้องแจ้งต่อศาลเพื่อขอให้ศาลดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป การที่จำเลยที่ ๑ มิได้แจ้งต่อศาลตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลชอบที่จะมีคำสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๕๗/๔๓) คำสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ จึงฟังไม่ขึ้น *มาตรา ๒๐๔ ถ้าจำเลยขาดนัดพิจารณา ให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไปฝ่ายเดียว อธิบาย -ตัวอย่างคำถาม โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและเรียกค่าเสียหาย จำเลยยื่นคำให้การและยื่นบัญชีระบุพยานไว้แล้ว ในวันนัดสืบพยานโจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อน จำเลยและทนายจำเลยทราบวันนัดแล้วไม่มาศาล และไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี ศาลสืบพยานโจทก์เสร็จในวันนั้น แล้วมีคำสั่งให้เลื่อนคดีไปสืบพยานจำเลยในนัดหน้า ให้วินิจฉัยว่า คำสั่งศาลที่ให้เลื่อนคดีไปสืบพยานจำเลยชอบหรือไม่ ธงคำตอบ (ข้อสอบเนฯ สมัย ๓๐) จำเลยและทนายจำเลยทราบวันนัดแล้วไม่มาศาลและไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี ถือว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาตามมาตรา ๒๐๐ ซึ่งมาตรา ๒๐๔ บัญญัติให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไปฝ่ายเดียว เมื่อศาลสืบพยานโจทก์เสร็จในวันนั้น ถือว่าคดีเสร็จการพิจารณา และจำเลยไม่มาศาลจนโจทก์สืบพยานเสร็จ และคดีเสร็จการพิจารณาแล้ว ถือว่าพ้นเวลาที่จำเลยจะนำพยาน หลักฐานของตนเข้าสืบได้ แม้จำเลยจะยื่นคำให้การและยื่นบัญชีระบุพยานไว้จำเลยก็ไม่อาจสืบพยานของตนได้ ศาลชอบที่จะมีคำพิพากษาชี้ขาดคดีในวันนั้นตามมาตรา ๑๓๓ การที่ศาลมีคำสั่งให้เลื่อนคดีไปนัดสืบพยานจำเลยนัดหน้าจึงไม่ชอบ ( อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๕๖/๒๕๒๐ ) -ตัวอย่างข้อสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาเมื่อ ๒ พ.ย.๒๕๕๑ ข้อ ๔ (มาตราหลักคือ ม.๒๐๔ มาตรารอง คือ ม.๒๐๐,๒๐๒) ถาม โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ร่วมกันชำระค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างทำของจำนวน ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การต่อสู้คดีภายในระยะเวลาตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง โดยจำเลยที่ ๒ ฟ้องแย้งด้วยว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาขอให้บังคับโจทก์ชำระค่าเสียหายแก่จำเลยที่ ๒ จำนวน ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท ศาลชั้นต้นรับคำให้การและฟ้องแย้ง โจทก์ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งภายในระยะเวลาตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้องแย้ง ศาลชั้นต้นสั่งรับคำให้การแก้ฟ้องแย้งของโจทก์ และนัดสืบพยานโดยกำหนดให้โจทก์นำพยานเข้าสืบก่อน ก่อนถึงวันนัด จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่าจำเลยที่ ๑ ไม่ติดใจซักค้านการสืบพยานของโจทก์ให้ศาลสืบพยานโจทก์ไปได้ ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมสำนวนไว้ ครั้นถึงวันนัดสืบพยานโจทก์นักแรกซึ่งคู่ความทราบนัดโดยชอบแล้ว โจทก์มาศาล ฝ่ายจำเลยที่ ๒ ไม่มีผู้ใดมาศาล ส่วนฝ่ายจำเลยที่ ๑ มีทนาย จำเลยที่ ๑ มาศาล แต่ไปว่าความในคดีอื่นที่ศาลเดียวกัน โดยไม่ได้เข้าห้องพิจารณาคดีนี้และไม่ได้แจ้งให้ศาลทราบ ศาลชั้นต้นถือว่าจำเลยทั้งสองขาดนัดพิจารณา และให้สืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียว โจทก์จึงนำพยาน หลักฐานเข้าสืบในประเด็นตามคำฟ้องและคำให้การแก้ฟ้องแย้งจนเสร็จสิ้นในวันเดียวกัน แล้วศาลชั้นต้นมี คำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ตามฟ้อง กับให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ ๒ ให้วินิจฉัยว่าการที่ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาชี้ขาดตัดสินคดีให้โจทก์ชนะคดีไปตามฟ้อง และยกฟ้องแย้งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตอบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๐๐ วรรคหนึ่ง ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มาศาลในวันสืบพยานและไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี ให้ถือว่าคู่ความฝ่ายนั้นขาดนัดพิจารณา กรณีคดีตามฟ้องในส่วนของจำเลยที่ ๑ แม้จำเลยที่ ๑ จะไม่ติดใจซักค้านการสืบพยานของโจทก์ ให้ศาลสืบพยานโจทก์ไปได้ก็ตาม ในวันสืบพยาน จำเลยที่ ๑ ก็ต้องมาศาลมิฉะนั้นจะเป็นการนัดพิจารณา การที่ทนายจำเลยที่ ๑ มาศาลแต่ไม่ได้เข้าห้องพิจารณาคดีนี้ก็ถือว่าจำเลยที่ ๑ ไม่มาศาลตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ ๑ ไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี จำเลยที่ ๑ จึงขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีตามฟ้องในส่วนของจำเลยที่ ๑ ไปฝ่ายเดียวตามมาตรา ๒๐๔ ส่วนกรณีจำเลยที่ ๒ เมื่อจำเลยที่ ๒ ไม่มาศาลโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี จำเลยที่ ๒ จึงขาดนัดพิจารณา และถือว่าขาดนัดพิจารณาทั้งสองฐานะ คือทั้งที่เป็นจำเลย และเป็นโจทก์ฟ้องแย้งด้วย แม้โจทก์ในฐานะฟ้องแย้งจะไม่ได้แจ้งต่อศาลโดยตรงในวันสืบพยานเพื่อขอให้ศาลดำเนินพิจารณาคดีต่อไป แต่การที่โจทก์มีหน้าที่นำสืบก่อนได้นำพยานหลักฐานเข้าสืบในประเด็นตามคำฟ้องและคำให้การแก้ฟ้องแย้งจนเสร็จสิ้น ก็ถือได้ว่าโจทก์ได้แจ้งให้ศาลทราบโดยปริยายแล้วว่าโจทก์ในฐานะจำเลยฟ้องแย้งขอให้ศาลดำเนินการพิจารณาคดีต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๐๒ แล้ว ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจพิจารณาและตัดสินคดีตามฟ้องในส่วนจำเลยที่ ๒ รวมทั้งฟ้องแย้งไปฝ่ายเดียวตามมาตรา ๒๐๔ และ ๒๐๒โดยไม่ต้องจำหน่ายคดีสำหรับฟ้องแย้งออกจากสารบบความ (เทียบ ฎ.๓๗๗๘/๒๕๔๙) ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาชี้ขาดตัดสินคดีให้โจทก์ชนะคดีไปตามฟ้องและยกฟ้องแย้งดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย มาตรา ๒๐๕ ในกรณีดังกล่าวมาในมาตรา ๒๐๒ และมาตรา ๒๐๔ ถ้ายังไม่เป็นที่พอใจของศาลว่าได้ส่งหมายกำหนดวันนัดสืบพยานไปให้คู่ความฝ่ายที่ขาดนัดทราบโดยชอบแล้วให้ศาลมีคำสั่งเลื่อนวันสืบพยานไป และกำหนดวิธีการอย่างใดตามที่เห็นสมควร เพื่อให้มีการส่งหมายกำหนดวันนัดสืบพยานใหม่แก่คู่ความฝ่ายที่ขาดนัดพิจารณาโดยวิธีส่งหมายธรรมดาหรือโดยวิธีอื่นแทน ถ้าได้กระทำดังเช่นว่ามาแล้ว คู่ความฝ่ายนั้นยังไม่มาศาลก่อนเริ่มสืบพยานในวันที่กำหนดไว้ในหมายนั้น ก็ให้ศาลดำเนินคดีนั้นไปดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๐๒หรือมาตรา ๒๐๔ แล้วแต่กรณี **มาตรา ๒๐๖ คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะร้องต่อศาลให้วินิจฉัยชี้ขาดคดีให้ตนเป็นฝ่ายชนะโดยอาศัยเหตุแต่เพียงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งขาดนัดพิจารณานั้นหาได้ไม่ ให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดีให้คู่ความที่มาศาลเป็นฝ่ายชนะต่อเมื่อศาลเห็นว่าข้ออ้างของคู่ความเช่นว่านี้มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ในการนี้ ศาลจะยกขึ้นอ้างโดยลำพัง ซึ่งข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ได้ เพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีตามวรรคหนึ่ง ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๙๘ ทวิ วรรคสอง และวรรคสาม มาใช้บังคับแก่คดีของคู่ความฝ่ายที่มาศาลโดยอนุโลม ในระหว่างการพิจารณาคดีฝ่ายเดียว ถ้าคู่ความฝ่ายที่ขาดนัดพิจารณามาศาลภายหลังที่เริ่มต้นสืบพยานไปบ้างแล้ว และแจ้งต่อศาลในโอกาสแรกว่าตนประสงค์จะดำเนินคดีเมื่อศาลเห็นว่าการขาดนัดพิจารณานั้นมิได้เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุอันสมควรและศาลไม่เคยมีคำสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ตามคำขอของคู่ความฝ่ายนั้นมาก่อนตามมาตรา ๑๙๙ ตรี ซึ่งให้นำมาใช้บังคับกับการขาดนัดพิจารณาตามมาตรา ๒๐๗ ด้วย ให้ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีนั้นใหม่ในกรณีเช่นนี้ หากคู่ความนั้นขาดนัดพิจารณาอีก จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ตามมาตรานี้ไม่ได้ ในกรณีตามวรรคสาม ถ้าคู่ความฝ่ายที่ขาดนัดพิจารณามิได้แจ้งต่อศาลก็ดีหรือศาลเห็นว่าการขาดนัดพิจารณานั้นเป็นไปโดยจงใจหรือไม่มีเหตุอันสมควรก็ดี หรือคำขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้นต้องห้ามตามกฎหมายก็ดี ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แต่ (๑) ห้ามไม่ให้ศาลอนุญาตให้คู่ความที่ขาดนัดพิจารณานำพยานเข้าสืบถ้าคู่ความนั้นมาศาลเมื่อพ้นเวลาที่จะนำพยานของตนเข้าสืบแล้ว (๒) ถ้าคู่ความที่ขาดนัดพิจารณามาศาลเมื่อคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งได้นำพยานหลักฐานเข้าสืบไปแล้ว ห้ามไม่ให้ศาลยอมให้คู่ความที่ขาดนัดพิจารณาคัดค้านพยานหลักฐานเช่นว่านั้น โดยวิธีถามค้านพยานของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งที่ได้สืบไปแล้วหรือโดยวิธีคัดค้านการระบุเอกสารหรือคัดค้านคำขอที่ให้ศาลไปทำการตรวจหรือให้ตั้งผู้เชี่ยวชาญของศาล แต่ถ้าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งนำพยานหลักฐานเข้าสืบยังไม่บริบูรณ์ ให้ศาลอนุญาตให้คู่ความที่ขาดนัดพิจารณาหักล้างได้แต่เฉพาะพยานหลักฐานที่นำสืบภายหลังที่ตนมาศาล (๓) ในกรณีเช่นนี้ คู่ความที่ขาดนัดพิจารณาไม่มีสิทธิที่จะร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ อธิบาย -ตัวอย่างคำถาม คดีสามัญเรื่องหนึ่ง โจทก์ฟ้องจำเลย จำเลยให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้ง โจทก์ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งศาลชั้นต้นให้โจทก์นำพยานเข้าสืบก่อน ก่อนถึงวันนัด จำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี ศาลมีคำสั่งว่ารอไว้สั่งวันนัดถึงวันนัดโจทก์มาศาล ส่วนจำเลยไม่มาศาล ศาลไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีและถือว่าจำเลยขาดนัดพิจารณามีคำสั่งให้จำหน่ายคดีฟ้องแย้งจากสารบบความ ส่วนคดีตามฟ้องเดิมให้สืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียว โจทก์แถลงขอสืบพยานสองปาก เมื่อโจทก์นำพยานเข้าสืบได้หนึ่งปาก จำเลยมาศาล ขออนุญาตนำพยานจำเลยเข้าสืบตามข้อต่อสู้ในคำให้การซึ่งจำเลยได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้แล้ว ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตและสืบพยานโจทก์ที่เหลืออีกหนึ่งปาก แล้วมีคำพิพากษาในวันเดียวกัน ให้วินิจฉัยว่า (ก) คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีฟ้องแย้งจากสารบบความและให้สืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวในคดีตามฟ้องเดิมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ (ข) คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยนำพยานเข้าสืบชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ธงคำตอบ (ข้อสอบเนฯ ข้อ ๔ สมัย ๕๘) (ก) แม้จำเลยจะได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีไว้ก่อนวันสืบพยาน แต่เมื่อถึงวันนัด จำเลยไม่มาศาลและศาล ไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีจึงถือว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๐ วรรคหนึ่ง เมื่อคดีนี้จำเลยได้ฟ้องแย้งโจทก์ด้วย จำเลยย่อมอยู่ในฐานะเป็นโจทก์ฟ้องแย้งอีกฐานะหนึ่งการที่จำเลยขาดนัดพิจารณาก็ย่อมถือว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาทั้งสองฐานะคือ ฐานะที่เป็นจำเลยในฟ้องเดิมและที่เป็นโจทก์ในฟ้องแย้ง (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ ๘๖๓/๙๔) คดีในส่วนฟ้องแย้งจึงเป็นกรณีที่โจทก์ขาดนัดพิจารณาเมื่อโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในฟ้องแย้งไม่ได้แจ้งต่อศาลขอให้ดำเนินการพิจารณาต่อไป ศาลชั้นต้นจึงต้องมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีฟ้องแย้งจากสารบบความตามมาตรา ๒๐๒ ส่วนคดีตามฟ้องเดิม เป็นกรณีที่จำเลยขาดนัดพิจารณาซึ่งมาตรา ๒๐๔ บัญญัติให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไปฝ่ายเดียว การที่ศาลชั้นต้นให้สืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียว จึงชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีฟ้องแย้งจากสารบบความและให้สืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวในคดีตามฟ้องเดิมจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว (ข) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๖ วรรคสี่ (๑) ให้สิทธิแก่คู่ความฝ่ายที่ขาดนัด พิจารณาซึ่งมาศาลในระหว่างการพิจารณาคดีฝ่ายเดียวนำพยานของตนเข้าสืบได้หากมาศาลยังไม่พ้นเวลาที่จะนำพยานของตนเข้าสืบ การที่จำเลยมาศาลภายหลังที่โจทก์สืบพยานได้หนึ่งปาก ยังเหลือพยานโจทก์อีกหนึ่งปากการสืบพยานโจทก์ยังไม่เสร็จบริบูรณ์ ถือว่าจำเลยมาศาลในขณะที่ยังไม่พ้นเวลาที่จะนำพยานของตนเข้าสืบจำเลยจึงมีสิทธินำพยานเข้าสืบได้ (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๖๕๔/๒๖ และ ๘๖๐/๓๖) คำสั่งศาลชั้นต้น ที่ไม่อนุญาตให้จำเลยนำพยานเข้าสืบจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย -ตัวอย่างคำถาม โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินตามเช็ค จำเลยให้การว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อประกันหนี้การพนัน ขอให้ยกฟ้อง ศาลกำหนดให้จำเลยนำพยานเข้าสืบก่อนในวันนัดสืบพยานจำเลยนัดแรก ฝ่ายจำเลยไม่มาศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้สืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวโจทก์นำพยานเข้าสืบได้ ๑ ปาก แล้วแถลงหมดพยาน ศาลชั้นต้นสั่งว่าคดีเสร็จการพิจารณาและพิพากษาในวันเดียวกันให้จำเลยชำระเงินตามฟ้องแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ว่า แม้จำเลยจะขาดนัดพิจารณาแต่จำเลยก็มีสิทธิซักค้านพยานโจทก์ตามมาตรา ๒๐๖ วรรคสี่ ศาลชั้นต้นควรเลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์ในวันต่อไป การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์นำพยานเข้าสืบในวันนัดสืบพยานจำเลยโดยจำเลยไม่รู้เห็นจึงเป็นการไม่ชอบ ดังนี้ ท่านเห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นหรือไม่ ธงคำตอบ (ข้อสอบเนฯ สมัย ๔๘) เมื่อจำเลยขาดนัดพิจารณาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๔ บัญญัติให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว ส่วนสิทธิของจำเลยที่จะซักค้านพยานโจทก์ตามมาตรา ๒๐๖ วรรคสี่ หมายความเฉพาะกรณีที่จำเลยมาศาลในระหว่างการพิจารณาคดีฝ่ายเดียวอยู่เท่านั้น จำเลยไม่มีสิทธิถามค้านพยานโจทก์ที่ได้สืบไปแล้ว ตามปัญหาโจทก์นำพยานเข้าสืบเสร็จในวันเดียวกัน โดยจำเลยไม่มาศาล ต้องถือว่าคดีเสร็จการพิจารณาแล้ว จึงไม่อาจจะเลื่อนคดีไปเพื่อให้จำเลยซักค้านพยานโจทก์ได้ การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๘๓๔/๓๑) -ตัวอย่างคำถาม โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินตามสัญญากู้ยืมเงินจำนวน ๖๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นให้โจทก์นำพยานเข้าสืบก่อน ก่อนถึงวันนัด จำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี ศาลมีคำสั่งว่า รอไว้สั่งวันนัด ถึงวันสืบพยาน โจทก์มาศาล ส่วนจำเลยไม่มาศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีและให้สืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียว โจทก์นำพยานเข้าสืบได้ ๒ ปาก แล้วแถลงหมดพยาน คงติดใจอ้างสำนวนคดีแพ่งของศาลอื่นและขอให้ศาลยืมสำนวนคดีดังกล่าวมา ศาลอนุญาตโดยให้เลื่อนไปนัดฟังคำพิพากษาอีก ๑ เดือน เพื่อรอสำนวนที่โจทก์อ้าง ก่อนวันนัดฟังคำพิพากษา จำเลยมาศาล ขอนำพยานจำเลยเข้าสืบตามข้อต่อสู้และจำเลยได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้แล้ว ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาต จำเลยโต้แย้งคำสั่งศาลไว้ ต่อมาศาลพิพากษาให้จำเลยแพ้คดี จำเลยอุทธรณ์ว่า (ก) จำเลยมิได้ขาดนัดพิจารณาเพราะจำเลยได้ยื่นคำร้องเลื่อนคดีไว้แล้ว (ข) คำสั่งศาลที่ไม่อนุญาตให้จำเลยนำพยานเข้าสืบไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้วินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อฟังขึ้นหรือไม่ ธงคำตอบ (ข้อสอบเนฯ ข้อ ๔ สมัย ๖๒) (ก) การที่จำเลยไม่มาศาลในวันสืบพยาน แม้จำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีไว้ก่อนวันนัด แต่เมื่อถึง วันสืบพยานศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดี จึงเป็นกรณีที่จำเลยไม่มาศาลในวันสืบพยานและไม่ได้รับ อนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี ถือว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๐ วรรคหนึ่ง ซึ่งตามมาตรา ๒๐๔ บัญญัติให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไปฝ่ายเดียว การที่ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาไปเพราะเหตุจำเลยขาดนัดพิจารณาจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว (ข) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๖ วรรคสี่ (๑) คู่ความฝ่ายที่ขาดนัดพิจารณามาศาลระหว่างการพิจารณาคดีฝ่ายเดียวมีสิทธินำพยานของตนเข้าสืบได้หากมาศาลยังไม่พ้นเวลาที่จะนำพยานของตนเข้าสืบ การที่จำเลยมาศาลภายหลังที่โจทก์สืบพยานบุคคลเสร็จสิ้นแล้ว แม้โจทก์ยังติดใจอ้างสำนวนคดีแพ่งของศาลอื่นและอยู่ระหว่างการขอยืมสำนวน ก็ถือว่าจำเลยมาศาลเมื่อพ้นเวลาที่จะนำพยานของตนเข้าสืบจำเลยจึงไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบตามข้อต่อสู้ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๕๐/๐๑) คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยนำพยานเข้าสืบจึงชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งข้อ (ก) และ (ข) ฟังไม่ขึ้น *มาตรา ๒๐๗ เมื่อศาลพิพากษาให้คู่ความฝ่ายที่ขาดนัดพิจารณาแพ้คดี ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๙๙ ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลม และคู่ความฝ่ายนั้นอาจมีคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๙๙ ตรี มาตรา ๑๙๙ จัตวา และมาตรา ๑๙๙ เบญจ มาใช้บังคับโดยอนุโลม อธิบาย -ฎ.๘๓๓/๒๕๕๐ วิแพ่งม.๑๙๙ จัตวา,๒๐๗ จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดไต่สวนโดยเห็นว่าข้ออ้างของจำเลยที่ว่าผู้รับมอบฉันทะของทนายจำเลยจดวัดนัดผิดพลาดฟังไม่ขึ้น ทั้งคำร้องของจำเลยมิได้แสดงข้อคัดค้านโดยชัดแจ้งซึ่งคำตัดสินชี้ขาดของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๙๙ จัตวา วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา ๒๐๗ ให้ยกคำร้อง จำเลยอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว โดยเพียงขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้นเพื่อให้จำเลยมีโอกาสนำพยานเข้าไต่สวนโดยไม่มีผลกระทบต่อคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยแพ้คดีโดยขาดนัดพิจารณา จำเลยจึงไม่ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๒๙ คำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยกล่าวเพียงว่า การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีของโจทก์ไปฝ่ายเดียว ทำให้จำเลยเสียเปรียบหากจำเลยมีโอกาสนำพยานเข้าสืบหลังจากโจทก์สืบพยานเสร็จแล้วย่อมมีผลให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป มิได้กล่าวว่าจำเลยมีพยานหลักฐานอย่างใดที่จะนำมาหักพยานโจทก์อันจะแสดงให้เห็นว่าหากศาลได้พิจารณาคดีนั้นใหม่แล้วตนอาจเป็นฝ่ายชนะ จึงเป็นคำร้องที่มิได้กล่าวโดยชัดแจ้งซึ่งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๙๙ จัตวา วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๐๗ ถือว่าเป็นคำร้องที่ไม่ชอบ -ตัวอย่างคำถาม คดีสามัญเรื่องหนึ่ง โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันชำระหนี้ จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดี ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์นำพยานเข้าสืบก่อน ในวันสืบพยาน โจทก์มาศาล ส่วนจำเลยที่ ๑ มีเสมียนทนาย ซึ่งได้รับมอบฉันทะจากทนายจำเลยที่ ๑ ให้มาศาลเพื่อยื่นคำร้องขอถอนทนายและฟังคำสั่งศาล สำหรับจำเลยที่ ๒ มีเสมียนทนายซึ่งได้รับมอบฉันทะจากทนายจำเลยที่ ๒ ให้มาศาลเพื่อยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี กำหนดวันนัดพิจารณาและลงลายมือชื่อแทนในรายงานกระบวนพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องของทนายจำเลยที่ ๑ ว่า คำร้องขอถอนทนาย ยังไม่ได้รับความยินยอมจากตัวความ จึงไม่อนุญาตและสั่งในคำร้องขอเลื่อนคดีของทนายจำเลยที่ ๒ ว่า ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี ถือว่าจำเลยทั้งสองขาดนัดพิจารณาแล้วให้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว โจทก์นำพยานเข้าสืบจนเสร็จศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในวันเดียวกัน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้องให้วินิจฉัยว่า (ก) การที่ศาลชั้นต้นถือว่า จำเลยทั้งสองขาดนัดพิจารณาแล้วให้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ (ข) หากจำเลยทั้งสองไม่ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา จำเลยทั้งสองมีสิทธิที่จะร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้หรือไม่ ธงคำตอบ (ข้อสอบเนฯ ข้อ ๔ สมัย ๖๑) (ก) เสมียนทนายผู้รับมอบฉันทะจากตัวความหรือทนายความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๖๔ จะถือว่ามีฐานะเป็นคู่ความก็เฉพาะในกิจการที่ได้รับมอบหมาย การที่เสมียนทนายผู้รับมอบฉันทะจากทนายจำเลยที่ ๑ มาศาลในวันสืบพยานเพื่อยื่นคำร้องขอถอนทนายและฟังคำสั่งศาลนั้น เสมียนทนายจำเลยที่ ๑ ไม่อยู่ในฐานะเป็นคู่ความตามมาตรา ๑ (๑๑) เพราะเสมียนทนายไม่มีสิทธิที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ นอกจากมายื่นคำร้องดังกล่าว และรับทราบคำสั่งของศาลตามที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น กรณีของจำเลยที่ ๑ ย่อมถือว่าไม่มีคู่ความมาศาลในวันสืบพยาน (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ ๖๔๐/๔๙) เมื่อไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี จึงถือว่าจำเลยที่ ๑ ขาดนัดพิจารณาตามมาตรา ๒๐๐ วรรคหนึ่ง ซึ่งตามมาตรา ๒๐๔ ให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว การที่ศาลชั้นต้นถือว่า จำเลยที่ ๑ ขาดนัดพิจารณาแล้วพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนกรณีของจำเลยที่ ๒ การที่ทนายจำเลยที่ ๒ มอบฉันทะให้เสมียนทนายมาศาลเพื่อยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี กำหนดวันนัดพิจารณา และลงลายมือชื่อแทน ถือว่าเสมียนทนายของจำเลยที่ ๒ มีฐานะเป็นคู่ความ เท่ากับฝ่ายจำเลยที่ ๒ มีคู่ความมาศาลในวันสืบพยานแล้ว จำเลยที่ ๒ จึงมิได้ขาดนัดพิจารณา(คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๗๙๐/๔๙) ที่ศาลชั้นต้นถือว่า จำเลยที่ ๒ ขาดนัดพิจารณา แล้วพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ข) ตามมาตรา ๒๐๗ คู่ความที่จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้นั้น ต้องเป็นคู่ความฝ่ายที่ขาดนัดพิจารณาและแพ้คดี จำเลยที่ ๑ เป็นคู่ความฝ่ายที่ขาดนัดพิจารณาและแพ้คดี จำเลยที่ ๑ จึงมีสิทธิที่จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ ส่วนจำเลยที่ ๒ นั้นมิใช่คู่ความฝ่ายที่ขาดนัดพิจารณาและแพ้คดี จำเลยที่ ๒ จึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ ๙๖๗/๒๕๓๕) -ตัวอย่างคำถาม โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำละเมิด ขอให้จำเลยชำระค่าเสียหาย ๕๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยให้การว่าโจทก์เป็นฝ่ายประมาท ศาลนัดสืบพยานโจทก์ ในวันนัดจำเลยมาศาล ส่วนโจทก์ไม่มาศาล จำเลยแถลงว่า โจทก์ไม่มาก็ขอให้ยกฟ้อง โดยจำเลยไม่ประสงค์จะสืบพยาน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานและพิพากษายกฟ้อง โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ โดยบรรยายชัดแจ้งถึงเหตุแห่งการขาดนัดและข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลโดยครบถ้วนแล้ว มีปัญหาว่า ศาลจะรับคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของโจทก์ไว้พิจารณาหรือไม่ ธงคำตอบ ป.วิ.พ. มาตรา ๒๐๗ บัญญัติว่า เมื่อศาลพิพากษาให้คู่ความฝ่ายที่ขาดนัดพิจารณาแพ้คดี คู่ความฝ่ายนั้นอาจมีคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๙๙ ตรี และมาตรา ๑๙๙ จัตวา มาใช้บังคับโดยอนุโลม กรณีที่โจทก์ไม่มาศาลในวันสืบพยานและไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี มาตรา ๒๐๐ บัญญัติว่า ให้ถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณา และมาตรา ๒๐๒ บัญญัติให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ เว้นแต่จำเลยจะได้แจ้งต่อศาลในวันสืบพยานขอให้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป ตามปัญหา โจทก์ไม่มาศาลในวันสืบพยานและไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี ถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณา จำเลยแจ้งต่อศาลว่าเมื่อโจทก์ขาดนัดพิจารณาก็ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ เท่ากับแจ้งต่อศาลว่าขอให้ศาลดำเนินคดีต่อไป ( คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๓๔/๒๕๒๘ ) เพราะการที่ศาลจะพิพากษายกฟ้องโจทก์ได้ ศาลต้องพิจารณาจากภาระการพิสูจน์ คดีนี้โจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่าจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่ได้ทำละเมิด ภาระการพิสูจน์ตกแก่ฝ่ายโจทก์ เมื่อโจทก์ขาดนัดพิจารณาเท่ากับโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบให้สมคำฟ้อง ศาลต้องพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ จำเลยไม่จำต้องสืบพยานของตนต่อไป เมื่อจำเลยแถลงว่าไม่ประสงค์จะสืบพยาน คดีย่อมเสร็จการพิจารณา ศาลมีอำนาจพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ในวันดังกล่าวได้เพราะเป็นวันที่เสร็จการพิจารณาตามมาตรา ๑๓๓ การที่ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะโจทก์มีภาระการพิสูจน์แต่โจทก์ไม่มีพยานมานำสืบให้สมฟ้อง เป็นการพิพากษาให้โจทก์ซึ่งเป็นคู่ความที่ขาดนัดพิจารณาแพ้คดี แม้คดีนี้จะไม่มีการสืบพยานไปฝ่ายเดียว ก็ต้องถือว่าศาลได้พิพากษาให้โจทก์แพ้คดีเพราะการขาดนัดพิจารณาแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิที่จะร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ตามมาตรา ๒๐๗ ประกอบมาตรา ๑๙๙ ตรี โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ โดยบรรยายชัดแจ้งถึงเหตุแห่งการขาดนัดและข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลโดยครบถ้วน เป็นคำขอที่ชอบด้วยมาตรา ๑๙๙ จัตวา วรรคสอง ซึ่งนำมาใช้บังคับแก่การขาดนัดพิจารณาโดยอนุโลม ศาลจึงต้องสั่งให้รับคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของโจทก์ไว้พิจารณา มาตรา ๒๐๘ (ยกเลิก) มาตรา ๒๐๙ (ยกเลิก) หมวด ๓ อนุญาโตตุลาการ มาตรา ๒๑๐ บรรดาคดีทั้งปวงซึ่งอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น คู่ความจะตกลงกันเสนอข้อพิพาทอันเกี่ยวกับประเด็นทั้งปวงหรือแต่ข้อใดข้อหนึ่ง ให้อนุญาโตตุลาการคนเดียวหรือหลายคนเป็นผู้ชี้ขาดก็ได้ โดยยื่นคำขอร่วมกันกล่าวถึงข้อความแห่งข้อตกลงเช่นว่านั้นต่อศาล ถ้าศาลเห็นว่าข้อตกลงนั้นไม่ผิดกฎหมาย ให้ศาลอนุญาตตามคำขอนั้น มาตรา ๒๑๑ ถ้าในข้อตกลงมิได้กำหนดข้อความไว้เป็นอย่างอื่น การตั้งอนุญาโตตุลาการให้ใช้ข้อบังคับดังต่อไปนี้ (๑) คู่ความชอบที่จะตั้งอนุญาโตตุลาการได้ฝ่ายละคน แต่ถ้าคดีมีโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วมหลายคน ให้ตั้งอนุญาโตตุลาการเพียงคนหนึ่งแทนโจทก์ร่วมทั้งหมดและคนหนึ่งแทนจำเลยร่วมทั้งหมด (๒) ถ้าคู่ความจะตั้งอนุญาโตตุลาการคนเดียวหรือหลายคน ด้วยความเห็นชอบพร้อมกัน การตั้งเช่นว่านี้ให้ทำเป็นหนังสือลงวัน เดือน ปี และให้คู่ความลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ (๓) ถ้าตกลงกันให้คู่ความฝ่ายหนึ่ง หรือบุคคลภายนอกเป็นผู้ตั้งอนุญาโตตุลาการ การตั้งเช่นว่านี้ ให้ทำเป็นหนังสือลงวัน เดือน ปี และลงลายมือชื่อของคู่ความหรือบุคคลภายนอกนั้น แล้วส่งไปให้คู่ความอื่น ๆ (๔) ถ้าศาลไม่เห็นชอบด้วยบุคคลที่คู่ความตั้งหรือที่เสนอตั้งเป็นอนุญาโตตุลาการให้ศาลสั่งให้คู่ความตั้งบุคคลอื่นหรือเสนอบุคคลอื่นตั้งเป็นอนุญาโตตุลาการ ถ้าคู่ความมิได้ตั้งหรือเสนอให้ตั้งบุคคลใดเป็นอนุญาโตตุลาการ ให้ศาลมีอำนาจตั้งบุคคลใดเป็นอนุญาโตตุลาการได้ตามที่เห็นสมควร แล้วให้ศาลส่งคำสั่งเช่นว่านี้ไปยังอนุญาโตตุลาการที่ตั้งขึ้น และคู่ความที่เกี่ยวข้องโดยทางเจ้าพนักงานศาล มาตรา ๒๑๒ ข้อความในหมวดนี้มิได้ให้อำนาจศาลที่จะตั้งบุคคลใดเป็นอนุญาโตตุลาการโดยมิได้รับความยินยอมจากบุคคลนั้น มาตรา ๒๑๓ เมื่อบุคคลหรือคู่ความที่มีสิทธิ ได้ตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นแล้วห้ามมิให้บุคคลหรือคู่ความนั้นถอนการตั้งเสีย เว้นแต่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมด้วย อนุญาโตตุลาการที่ตั้งขึ้นโดยชอบนั้น ถ้าเป็นกรณีที่ศาลหรือบุคคลภายนอกเป็นผู้ตั้ง คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะคัดค้านก็ได้ หรือถ้าเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ตั้ง คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะคัดค้านก็ได้ โดยอาศัยเหตุดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๑ หรือเหตุที่อนุญาโตตุลาการนั้นเป็นผู้ไร้ความสามารถ หรือไม่สามารถทำหน้าที่อนุญาโตตุลาการได้ ในกรณีที่มีการคัดค้านอนุญาโตตุลาการดังว่านี้ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการคัดค้านผู้พิพากษามาใช้บังคับโดยอนุโลม ถ้าการคัดค้านอนุญาโตตุลาการนั้นฟังขึ้น ให้ตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นใหม่ มาตรา ๒๑๔ ถ้าในข้อตกลงมิได้กำหนดค่าธรรมเนียมอนุญาโตตุลาการไว้อนุญาโตตุลาการชอบที่จะเสนอความข้อนี้ต่อศาลโดยทำเป็นคำร้อง และให้ศาลมีอำนาจมีคำสั่งให้ชำระค่าธรรมเนียมตามที่เห็นสมควร มาตรา ๒๑๕ เมื่อได้ตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นแล้ว ถ้าในข้อตกลงหรือในคำสั่งศาลแล้วแต่กรณี มิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ ให้อนุญาโตตุลาการกำหนดประเด็นข้อพิพาทเหล่านั้น แล้วจดลงในรายงานพิสดารกลัดไว้ในสำนวนคดีอนุญาโตตุลาการ มาตรา ๒๑๖ ก่อนที่จะทำคำชี้ขาด ให้อนุญาโตตุลาการฟังคู่ความทั้งปวงและอาจทำการไต่สวนตามที่เห็นสมควรในข้อพิพาทอันเสนอมาให้พิจารณานั้น อนุญาโตตุลาการ อาจตรวจเอกสารทั้งปวงที่ยื่นขึ้นมาและฟังพยาน หรือผู้เชี่ยวชาญซึ่งเต็มใจมาให้การ ถ้าอนุญาโตตุลาการขอให้ศาลส่งคำคู่ความ หรือบรรดาเอกสารอื่น ๆ ในสำนวนเช่นว่านี้มาให้ตรวจดู ให้ศาลจัดการให้ตามคำร้องขอนั้น ถ้าอนุญาโตตุลาการเห็นว่าจำต้องดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างใด ที่ต้องดำเนินทางศาล (เช่นหมายเรียกพยาน หรือให้พยานสาบานตน หรือให้ส่งเอกสาร) อนุญาโตตุลาการอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาล ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาเช่นว่านั้น ถ้าศาลเห็นว่ากระบวนพิจารณานั้นอยู่ในอำนาจศาลและพึงรับทำให้ได้แล้ว ให้ศาลจัดการให้ตามคำขอเช่นว่านี้โดยเรียกค่าธรรมเนียมศาลตามอัตราที่กำหนดไว้สำหรับกระบวนพิจารณาที่ขอให้จัดการนั้นจากอนุญาโตตุลาการ ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา ๒๑๕ และมาตรานี้ อนุญาโตตุลาการมีอำนาจที่จะดำเนินตามวิธีพิจารณาใด ๆ ตามที่เห็นสมควรก็ได้ เว้นแต่ในข้อตกลงจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น มาตรา ๒๑๗ ถ้าในข้อตกลงมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้นให้อยู่ภายในบังคับต่อไปนี้ (๑) ในกรณีที่มีอนุญาโตตุลาการหลายคน ให้ชี้ขาดตามคะแนนเสียงฝ่ายข้างมาก (๒) ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้อนุญาโตตุลาการตั้งบุคคลภายนอกเป็นประธานขึ้นคนหนึ่ง เพื่อออกคะแนนเสียงชี้ขาด ถ้าอนุญาโตตุลาการไม่ตกลงกันในการตั้งประธาน ให้ยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งตั้งประธาน มาตรา ๒๑๘ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๔๐, ๑๔๑ และ ๑๔๒ ว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งของศาลมาใช้บังคับแก่คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการโดยอนุโลม ให้อนุญาโตตุลาการยื่นคำชี้ขาดของตนต่อศาล และให้ศาลพิพากษาตามคำชี้ขาดนั้น แต่ถ้าศาลเห็นว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการขัดต่อกฎหมายประการใดประการหนึ่ง ให้ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธไม่ยอมพิพากษาตามคำชี้ขาดนั้น แต่ถ้าคำชี้ขาดนั้นอาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ ศาลอาจให้อนุญาโตตุลาการหรือคู่ความที่เกี่ยวข้องแก้ไขเสียก่อนภายในเวลาอันสมควรที่ศาลจะกำหนดไว้ มาตรา ๒๑๙ ถ้าในข้อตกลงมิได้กำหนดข้อความไว้เป็นอย่างอื่น ในกรณีที่ไม่อาจดำเนินตามข้อตกลง เสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด เพราะบุคคลภายนอกซึ่งรับมอบหมายให้เป็นผู้ตั้งอนุญาโตตุลาการมิได้ตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้น หรืออนุญาโตตุลาการที่ตั้งขึ้นคนเดียวหรือหลายคนนั้นปฏิเสธไม่ยอมรับหน้าที่ หรือตายเสียก่อน หรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถหรือด้วยเหตุประการอื่นไม่อาจที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนได้ก่อนให้คำชี้ขาด หรือปฏิเสธหรือเพิกเฉยไม่กระทำตามหน้าที่ของตนภายในเวลาอันสมควร ถ้าคู่ความไม่สามารถทำความตกลงกันเป็นอย่างอื่น ให้ถือว่าข้อตกลงนั้นเป็นอันสิ้นสุด มาตรา ๒๒๐ ถ้ามีข้อพิพาทเกิดขึ้นเนื่องจากการดำเนินตามข้อตกลงเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด หรือมีข้อพิพาทกันว่า ข้อตกลงนั้นได้สิ้นสุดลงตามมาตราก่อนแล้วหรือหาไม่ ข้อพิพาทนั้นให้เสนอต่อศาลที่เห็นชอบด้วยข้อตกลงดังกล่าวแล้ว มาตรา ๒๒๑ การเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดนอกศาล ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ มาตรา ๒๒๒ ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งศาลซึ่งปฏิเสธไม่ยอมพิพากษาตามคำสั่งชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ หรือคำพิพากษาของศาลตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ เว้นแต่ในเหตุต่อไปนี้ (๑) เมื่อมีข้ออ้างแสดงว่าอนุญาโตตุลาการหรือประธานมิได้กระทำการโดยสุจริตหรือคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้กลฉ้อฉล (๒) เมื่อคำสั่งหรือคำพิพากษานั้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน (๓) เมื่อคำพิพากษานั้นไม่ตรงกับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ภาค ๓ อุทธรณ์และฎีกา ลักษณะ ๑ อุทธรณ์ มาตรา ๒๒๓ ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา ๑๓๘, ๑๖๘, ๑๘๘ และ ๒๒๒และในลักษณะนี้ คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นนั้น ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ เว้นแต่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นจะได้บัญญัติว่าให้เป็นที่สุด อธิบาย -เป็นมาตราหลักของการคัดค้านหรือโต้แย้งคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นสิทธิของคู่ความที่จะอุทธรณ์ โดยกฎหมายกำหนดให้อุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ ซึ่งเป็นการกำหนดตามลำดับชั้นศาล เว้นแต่กรณีศาลชำนัญพิเศษเช่นคดีทรัพย์สินทางปัญญา คดีล้มละลาย หรือคดีแพ่งกรณีการอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาไปยังศาลฎีกาตาม ป.วิ แพ่ง ม.๒๕๒ และมีมาตรา ๒๒๙ อธิบายวิธีการยื่นอุทธรณ์ -ข้อยกเว้นในมาตรา ๒๒๓ คือ ๑) เรื่องตาม ม.๑๓๘ (คำพิพากษาตามยอมซึ่งห้ามอุทธรณ์เว้นแต่...)ม.๑๖๘(ห้ามอุทธรณ์เฉพาะค่าธรรมเนียมศาลเว้นแต่...),ม.๑๘๘ คดีไม่มีข้อพิพาทอุทธรณ์ฎีกาในสองประเด็น),๒๒๒(เรื่องอนุญาโตตุลาการ) ๒) เรื่องตามลักษณะ ๑ ของวิแพ่ง ภาค ๓ คือม.๒๒๔,๒๒๕,๒๒๖ ๓) เรื่องนั้นๆมี ป.วิแพ่ง บัญญัติให้ถึงที่สุด เช่นการคัดค้านผู้พิพากษาตาม ม.๑๔, การยอมรับเงินที่จำเลยวางศาลของโจทก์ตาม ม.๑๓๖, โจทก์ยอมรับชำระหนี้ตามจำนวนที่เรียกร้องตาม ม.๑๓๗, คำสั่งอนุญาตฯยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลตาม ม.๑๕๖/๑, คำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ตาม ม.๑๙๙ เบญจ วรรค ๔, คำสั่งจำหน่ายคดีตาม ม.๒๐๓,ในกรณีโจทก์ขาดนัดพิจารณาตาม ม.๒๐๑,๒๐๒, กรณีคู่ความร้องขออุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตหรือยกเป็นที่สุดตาม ม.๒๒๓ ทวิ วรรค ๑, กรณีศาลชั้นต้นยกคำขอในเหตุฉุกเฉิน ตาม ม.๒๖๗, กรณีศาลสั่งผู้ร้องขัดทรัพย์วางเงินตาม ม.๒๘๘ วรรคท้าย, กรณีศาลอนุญาตให้ผู้ขอเฉลี่ยเพื่อบังคับคดีตาม ม.๒๙๐ วรรคท้ายหรือผู้ยื่นคำร้องตาม ม.๒๘๗,๒๘๙,การ บังคับคดีตาม ม.๒๙๐ วรรค ๘,๒๙๑ วรรคท้าย , การงดการบังคับคดีตาม ม.๒๙๓ วรรค ๓ , การอนุญาตขายทอดตลาดตาม ม.๓๐๖ วรรค ๒,๓๐๙,๓๐๙ ทวิ , การจัดการสิทธิเรียกร้องตาม ม.๓๑๐ ๔) มีกฎหมายอื่นให้ถึงที่สุด เช่น พ.ร.บ.กักเรือ ม.๘,๑๔ , พ.ร.บ.การใช้กฎหมายอิสลามใน ๔ จังหวัด ม.๔ วรรค ๓ ๕) นอกจากนั้นยังมีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาวางแนวว่าอุทธรณ์ฎีกาไม่ได้ เช่นเรื่องละเมิดอำนาจศาล ผู้ได้รับความเสียหายจากการละเมิดไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะอุทธรณ์ฎีกาได้ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตาม ป.วิแพ่ง ม.๓๑(๑) , เรื่องวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาเมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้ว, การทุเลาการบังคับคดีตาม ม.๒๓๑ เป็นเรื่องขอศาลโดยเฉพาะ , กรณีศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ ฎีกา ของคู่ความฝ่ายหนึ่ง คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะอุทธรณ์ ฎีกา การสั่งรับอุทธรณ์ หรือฎีกา ไม่ได้, คู่ความในคดีหรือบุคคลนอกคดี ถ้าไม่เข้ามามีส่วนได้เสียในเรื่องที่ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่ง *มาตรา ๒๒๓ ทวิ ในกรณีที่มีการอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ผู้อุทธรณ์อาจขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา โดยทำเป็นคำร้องมาพร้อมคำฟ้องอุทธรณ์ เมื่อศาลชั้นต้นซึ่งมีคำพิพากษาหรือคำสั่งได้สั่งรับอุทธรณ์และส่งสำเนาคำฟ้องอุทธรณ์และคำร้องแก่จำเลยอุทธรณ์แล้ว หากไม่มีคู่ความอื่นยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๒๓ และจำเลยอุทธรณ์มิได้คัดค้านคำร้องดังกล่าวต่อศาลภายในกำหนดเวลายื่นคำแก้อุทธรณ์และศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นการอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ให้สั่งอนุญาตให้ผู้อุทธรณ์ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้มิฉะนั้นให้สั่งยกคำร้อง ในกรณีที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง ให้ถือว่าอุทธรณ์เช่นว่านั้นได้ยื่นต่อศาลอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๒๓ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตหรือยกคำร้องในกรณีนี้ให้เป็นที่สุด เว้นแต่ในกรณีที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องเพราะเห็นว่าเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงผู้อุทธรณ์อาจอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นไปยังศาลฎีกาภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่ง ถ้าศาลฎีกาเห็นว่าอุทธรณ์ตามวิธีการในวรรคหนึ่งเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงให้ศาลฎีกาส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชี้ขาดต่อไป อธิบาย -นำไปใช้ในคดีอาญาไม่ได้ -การอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาให้ทำเป็นคำร้องมาพร้อมฟ้องอุทธรณ์มี ฎ.๗๖๖๐/๔๙ พออนุมานได้ว่าอย่างช้าก่อนศาลชั้นต้นส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยอุทธรณ์ **มาตรา ๒๒๔ ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เว้นแต่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นได้ทำความเห็นแย้งไว้หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ หรือถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคำรับรองเช่นว่านี้ต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาชั้นต้นหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอำนาจแล้วแต่กรณี บทบัญญัติในวรรคหนึ่งมิได้ให้บังคับในคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัวและคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เว้นแต่ในคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละสี่พันบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา การขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาในคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ ให้ผู้อุทธรณ์ยื่นคำร้องถึงผู้พิพากษานั้น พร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้น เมื่อศาลได้รับคำร้องเช่นว่านั้น ให้ศาลส่งคำร้องพร้อมด้วยสำนวนความไปยังผู้พิพากษาดังกล่าวเพื่อพิจารณารับรอง อธิบาย -ปัญหาข้อเท็จจริง ได้แก่การวินิจฉัยพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในคดี , เกี่ยวกับการใช้ดุลยพินิจของศาลตามรูปคดี การใช้ดุลยพินิจให้โจทก์ถอนฟ้อง,จำหน่ายคดี -ปัญหาข้อกฎหมาย ได้แก่การตีความกฎหมาย , การตีความคำพิพากษา คำคู่ความ นิติกรรม สัญญาและเอกสาร , ปัญหาเกี่ยวกับการปรับบทกฎหมายเข้ากับข้อเท็จจริง -คำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์มิใช่คำฟ้อง จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง -คำสั่งระหว่างพิจารณา ม.๒๒๖ หากเป็นการอุทธรณ์ข้อเท็จจริงก็ต้องอยู่ใต้บังคับ ม.๒๒๔ ด้วย -ฎ. ๑๐๖/๔๙ สัญญาเช่าอาคารมีข้อความเกี่ยวกับค่าเช่าว่า ค่าเช่าเดือนละ ๔,๐๐๐ บาท และผู้เช่าชำระเงินกินเปล่า ๕๐๐,๐๐๐ บาท เงินกินเปล่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าเช่าที่ชำระกันล่วงหน้า จึงต้องนำมาคำนวณเฉลี่ยรวมเป็นค่าเช่าสำหรับการยื่นอุทธรณ์ด้วย สัญญาเช่ากำหนดเวลาเช่า ๙ ปี ๖ เดือน ดังนั้น เงินกินเปล่าหรือค่าเช่าล่วงหน้า ๕๐๐,๐๐๐ บาท คิดเป็นค่าเช่าเฉลี่ยเดือนละ ๔,๓๘๕ บาท รวมกับค่าเช่าปกติเดือนละ ๔,๐๐๐ บาท เป็นค่าเช่าเดือนละ ๘,๓๘๕ บาท ในขณะยื่นคำฟ้อง ซึ่งเป็นค่าเช่า ที่เกินเดือนละ ๔,๐๐๐ บาท จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ แพ่ง มาตรา ๒๒๔ วรรคสอง -คดีหลักต้องห้ามอุทธรณ์ คดีรองก็ต้องห้ามอุทธรณ์ แต่การร้องขัดทรัพย์เป็นการตั้งประเด็นต่างหาก -คร.๒๖๑/๑๗ คำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์มิใช่คำฟ้องจึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง -ฎ.๓๑๔๐/๔๕ ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลย จำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องดังกล่าวใหม่แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี โดยไม่ได้อุทธรณ์ขอให้ตนชนะคดี จึงเป็นการขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ -กรณีอุทธรณ์ค่าเสียหายในอนาคตมาด้วยจะนำมารวมเพื่อคิดทุนทรัพย์ชั้นอุทธรณ์ให้เกินห้าหมื่นบาทไม่ได้ -ฎ.๓๔๑๑/๔๕ ถ้าค่าเช่ามีกำหนดไว้ในสัญญาเช่าอย่างชัดเจน ก็ต้องถือตามนั้นจะเอาราคาตามท้องตลาดว่าอาจให้เช่าเท่านั้นเท่านี้ไม่ได้ -ฎ.๒๑๗/๒๑ , ฎ.๑๔๒๒/๔๒ การรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องรับรองโดยชัดแจ้งว่ามีเหตุอันสมควรให้อุทธรณ์ได้ คำสั่งของผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นที่สั่งว่ารับอุทธรณ์สำเนาให้โจทก์ ยังไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตาม ม.๒๒๔ วรรค ๑ -ฎ.๖๔๔๘/๕๑ โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยให้รื้อถอนอาคารออกจากที่ดินพิพาทและให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย แม้จะขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายวันละ ๓,๒๐๐ บาท หรือเดือนละ ๙๖,๐๐๐ บาท ซึ่งเท่ากับเป็นการกล่าวอ้างว่าที่ดินพิพาทอาจให้เช่าได้เดือนละ ๙๖,๐๐๐ บาท แต่เมื่อศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ ๔,๐๐๐ บาท โจทก์มิได้อุทธรณ์ จึงถือได้ว่าที่ดินพิพาทอาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ ๔,๐๐๐ บาท กรณีจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๒๔ วรรคสอง ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยเนื่องจากเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงและต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๒๔ วรรคสอง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค๒ มิได้รับวินิจฉัยเพราะเป็นอุทธรณ์ต้องห้ามแล้ว ฎีกาของจำเลยจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามมาตรา ๒๔๙ วรรคหนึ่ง แม้ศาลชั้นต้นจะรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริงก็ไม่มีผลทำให้ฎีกาของจำเลยกลับกลายเป็นฎีกาที่ชอบด้วยกฎหมาย -ฎ.๖๑๗๙/๒๕๕๑ โจทก์เป็นผู้มีสิทธิการเช่าอาคารราชพัสดุของกองจัดประโยชน์ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง อาคารตึกแถวเลขที่ ๒๓๑ โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าขณะยื่นฟ้องเดือนละ ๒,๐๐๐ บาท แม้โจทก์จะเรียกร้องค่าเสียหายนับแต่วันบอกเลิกสัญญาเดือนละ ๑๐,๐๐๐ บาท ก็เป็นค่าเสียหายอันเป็นส่วนหนึ่งของการฟ้องขับไล่ จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่งและวรรคสอง ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์มิได้ให้เช่าช่วงแต่มีเจตนาโอนสิทธิการเช่า เป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายว่า สัญญาเช่าช่วงเป็นนิติกรรม อำพรางการโอนสิทธิการเช่าหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ในประเด็นนี้โดยผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมิได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้จึงเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว -ถ้าคำขอมีทั้งมีทุนทรัพย์และไม่มีทุนทรัพย์แยกกันไม่ได้ เช่นฟ้องขับไล่ออกจากที่ดินและเรียกค่าเสียหายจากการผิดสัญญา ให้ดูที่คำขอหลัก(ขับไล่ออกจากที่ดินเป็นคำขอหลัก) -สิทธิสภาพบุคคล เช่นสัญชาติไทยหรือต่างด้าว , ให้ศาลสั่งเป็นผู้ไร้ความสามารถ , ไม่ใช่สิทธิสภาพบุคคลเช่น เช่นฟ้องว่าพินัยกรรมเป็นโมฆะเพราะผู้ทำอายุไม่ถึง ๑๕ ปี หรือขณะทำวิกลจริต -สิทธิในครอบครัว เช่นฟ้องเรียกค่าทดแทนจากชายชู้ , ขอหย่าและขอแบ่งสินสมรส , ฟ้องให้จำเลยรับผิดโดยอ้างว่าจำเลยเป็นทายาท ไม่เป็นสิทธิในครอบครัวเช่นฟ้องว่าผิดสัญญาหมั้นขอคืนของหมั้น , ฟ้องขอแบ่งมรดก , ฟ้องขอให้บังคับชำระเงินตามท้ายสัญญาหย่า -ตัวอย่างคำถาม โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาเช่าตึกแถวซึ่งมีค่าเช่าเดือนละ ๕,๐๐๐ บาท ขอให้ขับไล่จำเลยและให้ชำระค่าเสียหายนับแต่วันที่โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากสถานที่เช่า ให้จำเลยชำระค่าเสียหาย ๖๐,๐๐๐ บาท กับให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เต็มตามฟ้อง ส่วนจำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคำร้องมิได้กล่าวโดยชัดแจ้งซึ่งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลที่แสดงให้เห็นว่าหากศาลได้นำคดีขึ้นพิจารณาใหม่จำเลยอาจเป็นฝ่ายชนะคดีได้อย่างไรตามมาตรา ๑๙๙ จัตวา ให้ยกคำร้อง จำเลยอุทธรณ์ขอให้รับคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ไว้พิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยมิได้นำค่าธรรมเนียมที่จะต้องใช้แทนโจทก์ตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ จึงไม่รับอุทธรณ์ ให้วินิจฉัยว่า (ก) ศาลชั้นต้นจะสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้ได้หรือไม่ (ข) คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยชอบหรือไม่ ธงคำตอบ (ข้อสอบเนฯ ข้อ ๕ สมัย ๖๒) (ก) โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยพร้อมกับเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ถือได้ว่าเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ส่วนหนึ่งกับคดีมีทุนทรัพย์อีกส่วนหนึ่งปนกันมา การที่จะอุทธรณ์ข้อเท็จจริงได้หรือไม่ต้องแยกจากกัน เมื่อโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยอันมีอัตราค่าเช่าเดือนละ ๕,๐๐๐ บาท ในส่วนเรื่องขับไล่จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๔ วรรคสอง ส่วนในเรื่องค่าเสียหายปรากฏว่าทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์มีจำนวนเพียง ๔๐,๐๐๐ บาท ย่อมต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามมาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของโจทก์ในเรื่องค่าเสียหายเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ศาลชั้นต้นจะสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้ไม่ได้ (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๐๓/๔๙ และ ๓๐๐๕/๕๑) (ข) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๙ บัญญัติให้ผู้อุทธรณ์ต้องนำเงิน ค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมอุทธรณ์นั้น ใช้บังคับเฉพาะกรณีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีของศาลชั้นต้นตลอดจนการอุทธรณ์คำสั่งอื่นๆ ของศาลชั้นต้นที่มีผลกระทบต่อคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีของศาลชั้นต้นเท่านั้น การที่จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของจำเลยโดยขอให้ศาลอุทธรณ์รับคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยไว้พิจารณาต่อไป ซึ่งหากศาลอุทธรณ์เห็นชอบด้วยตามข้ออุทธรณ์ของจำเลย ศาลอุทธรณ์ก็ชอบที่จะพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น และให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยไว้พิจารณาและมีคำสั่งต่อไปตามรูปคดีเท่านั้น อุทธรณ์ของจำเลยในชั้นนี้ไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยจึงไม่ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๒๙ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ชอบ (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ ๗๕๖/๕๐ และ ๔๙๒๑/๕๐) -ตัวอย่างคำถาม โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยซึ่งเป็นทายาทและผู้จัดการมรดกแบ่งที่ดินทรัพย์มรดกตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๒๓๔ จำนวนเนื้อที่ ๓๐๐ ตารางวา แก่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทคนละ ๑๐๐ ตารางวา โดยตีราคาที่ดินทั้งแปลงคิดเป็นเงินรวม ๙๐,๐๐๐ บาท จำเลยให้การว่าที่ดินดังกล่าวมิใช่ทรัพย์มรดกเพราะเจ้ามรดกยกให้แก่จำเลยตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๒๓๔ แก่โจทก์ทั้งสองคนละ ๑๐๐ ตารางวา ก่อนครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์อ้างว่ายังติดต่อกับตัวจำเลยไม่ได้ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าไม่มีเหตุที่จะขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้ยกคำร้อง จำเลยอุทธรณ์ว่าทนายจำเลยจำเป็นต้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เนื่องจากติดต่อกับตัวจำเลยไม่ได้ให้วินิจฉัยว่า ศาลจะมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยได้หรือไม่ ธงคำตอบ (ข้อสอบเนฯ ข้อ ๕ สมัย ๕๙)โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยแบ่งที่ดินทรัพย์มรดกตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๒๓๔ จำนวนเนื้อที่ ๓๐๐ ตารางวา ให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละ ๑๐๐ ตารางวา โดยตีราคาที่ดินดังกล่าวทั้งแปลงคิดเป็นเงินรวม๙๐,๐๐๐ บาท แม้โจทก์ทั้งสองฟ้องรวมกันมา การอุทธรณ์ฎีกาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกันเพราะเป็นเรื่องโจทก์แต่ละคนใช้สิทธิเฉพาะของตน ดังนั้น ที่ดินแต่ละส่วนที่โจทก์แต่ละคนฟ้องขอแบ่งจึงมีราคา ๓๐,๐๐๐ บาท ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์สำหรับโจทก์แต่ละคนจึงไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท ต้องห้ามคู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง (คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๙๗๑/๔๔ ประชุมใหญ่) อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า ทนายจำเลยจำเป็นต้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เนื่องจากติดต่อกับจำเลยไม่ได้เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง แม้จะเป็นอุทธรณ์คัดค้านในเรื่องของการขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ซึ่งไม่เกี่ยวกับเนื้อหาของคดีที่คู่ความพิพาทกันก็ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว (คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๑๘๕/๔๘) ดังนั้น ศาลจะมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยไม่ได้ -ตัวอย่างคำถาม โจทก์ฟ้องว่าจำเลยซื้อโทรทัศน์สีไปจากโจทก์แล้วไม่ชำระราคา ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน ๔๐,๐๐๐ บาท จำเลยให้การว่า ไม่เคยซื้อโทรทัศน์สีไปจากโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์เสร็จและสืบพยานจำเลยได้ ๒ ปาก ในวันนัดสืบพยานจำเลยนัดต่อมา ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างว่า พยานจำเลยติดธุระสำคัญที่ต่างจังหวัดไม่สามารถมาเบิกความตามนัดได้ โจทก์คัดค้านว่าจำเลยมีเจตนาประวิงคดี ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและมีคำสั่งงดสืบพยานจำเลย จำเลยยื่นคำแถลงโต้แย้งคำสั่งดังกล่าว ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้อง จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและงดสืบพยานจำเลย กับอุทธรณ์ว่าคำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมโดยยกเหตุแห่งการที่เป็นฟ้องเคลือบคลุมขึ้นอ้างมาในอุทธรณ์ด้วย ให้วินิจฉัยว่า จำเลยจะอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่ ธงคำตอบ (ข้อสอบเนฯ ข้อ ๕ สมัย ๕๖) คดีนี้จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาท ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง การอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคำสั่งระหว่างพิจารณาจะต้องพิจารณาจากคดีเดิมเป็นสำคัญ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและงดสืบพยานจำเลยนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการดำเนินคดีของศาลชั้นต้นจึงเป็นข้อเท็จจริง แม้จำเลยจะได้ยื่นคำแถลงโต้แย้งคำสั่งนั้นไว้ ก็ต้องห้ามอุทธรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าว (คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๒๓๐/๔๑ และ ๕๕๐๑/๔๕) จำเลยจึงอุทธรณ์ในปัญหานี้ไม่ได้ ปัญหาเรื่องฟ้องเคลือบคลุมแม้จะเป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่จำเลยมิได้ให้การต่อสู้คดีไว้ จึงไม่มีประเด็นในเรื่องดังกล่าว ทั้งมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น และเรื่องฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่ในคดีแพ่งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยจึงอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวไม่ได้ ตามมาตรา ๒๒๕ (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ ๓๔๙๘/๒๕๔๖) **มาตรา ๒๒๕ ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์นั้นคู่ความจะต้อง กล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งจะต้องเป็น สาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย ถ้าคู่ความฝ่ายใดมิได้ยกปัญหาข้อใดอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นหรือคู่ความฝ่ายใดไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายใด ๆ ขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นเพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ หรือเพราะเหตุเป็นเรื่องที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวนพิจารณาชั้นอุทธรณ์ คู่ความที่เกี่ยวข้องย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นได้ อธิบาย -วรรค ๑ อธิบายถึงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างในการอุทธรณ์ต้องประกอบด้วยองค์ประกอบ ๓ ประการขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ ขาดไปจะทำให้อุทธรณ์ไม่ชอบ คือ (๑)กล่าวอย่างชัดแจ้ง (๒) เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วตั้งแต่ศาลชั้นต้น (๓) เป็นสาระควรได้รับการวินิจฉัย -ข้อยกเว้นเฉพาะในเรื่องที่ไมได้ว่ากล่าวในศาลชั้นต้นแต่สามารถอุทธรณ์ได้คือ (๑)ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบฯ(ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายก็ได้) (๒)ไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายเพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่อง (๓)เพราะเหตุไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยกระบวนการพิจารณาชั้นอุทธรณ์ - ฎ.๔๘๓๙-๔๘๔๐/๔๗ ปัญหาว่าศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์ชอบหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์ก็มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ตามมาตรา ๒๒๕ วรรคสอง ศาลอุทธรณ์ต้องรับวินิจฉัยข้อนี้ของโจทก์ -ฎ.๖๓๘/๔๙ เรื่องอำนาจยื่นคำร้องได้หรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของ ประชาชน -ขาดอายุความหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่ไม่เกี่ยวกับความสงบฯ ฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่ไม่เกี่ยวด้วยความสงบฯ -ฎ.๓๔๓/๕๑ จำเลยทั้งหกให้การแต่เพียงว่า บ. เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างแต่ใช้ชื่อห้างโจทก์เป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ ๑ โจทก์มอบอำนาจให้ บ. เป็นผู้รับเงินค่าจ้างแทน จำเลยทั้งหกจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินให้แก่โจทก์อีก และศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์ได้รับเงินค่าจ้างก่อสร้างปรับปรุงถนนตามฟ้องจากจำเลยที่ ๑ ไว้ถูกต้องแล้วหรือไม่ และจำเลยทั้งหกและจำเลยร่วมต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด ที่จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ว่าโจทก์เชิดจำเลยร่วมขึ้นเป็นตัวแทนก็ดี หรือการที่โจทก์ลงลายมือชื่อของตนไว้ในหนังสือมอบอำนาจและให้จำเลยร่วมนำหนังสือดังกล่าวมากรอกข้อความในทำนองว่าโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยร่วมเป็นผู้รับเงินแทน ถือเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ จำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ก็ดี ล้วนแต่เป็นการอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ไม่ชอบด้วย ป.วิ แพ่ง มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง และไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ วินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามมาตรา ๒๔๙ วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย -ฎ.๖๗๘๘/๕๒ การที่โจทก์และจำเลยที่ ๓ แถลงร่วมกันต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้ชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเพียงข้อเดียวว่า สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของจำเลยที่ ๑ เป็นการแปลงหนี้ใหม่หรือไม่ ถ้าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ จำเลยที่ ๓ ก็หลุดพ้นจากความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันของจำเลยที่ ๑ ถือว่าโจทก์และจำเลยที่ ๓ ได้สละประเด็นข้อพิพาทอื่นทั้งหมด ดังนั้นการที่จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์และโจทก์แก้อุทธรณ์ในประเด็นอื่นดังกล่าว จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พ.ศ.๒๕๓๙ มาตรา ๓๘ ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง -ฎ.๑๓๕/๔๑ จำเลยให้การเพียงว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งมารดายกให้จำเลยทั้งแปลง ครั้นจำเลยอนุญาตให้โจทก์เข้าทำกิน โจทก์กลับละโมบจึงนำคดีมาฟ้อง โดยจำเลยมิได้ให้การโต้แย้งคัดค้านเรื่องคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้อง รวมทั้งอำนาจฟ้องจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค ๔ มิได้รับวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุตาม ป.วิ แพ่ง มาตรา ๑๔๒ (๕) ซึ่งต้องห้ามตามมาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง แม้ต่อมาศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาข้อนี้ของจำเลย และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่ศาลฎีกาเห็นไม่สมควรที่ยกขึ้นวินิจฉัยให้ การอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น คู่ความผู้อุทธรณ์ต้องยกประเด็นข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขึ้นอ้างเพื่อโต้แย้งคัดค้านเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นโดยชัดแจ้งว่าไม่ถูกต้องอย่างไร เพราะเหตุใด ตามที่กำหนดไว้ใน ป.วิ แพ่ง มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง เสมอ เพื่อให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่ออุทธรณ์จำเลยกล่าวแต่เพียงว่าโจทก์เบิกความอย่างไร และหากเป็นเช่นนั้น โจทก์ควรทำอย่างไรต่อไป ทำนองว่าที่ถูกแล้วข้อเท็จจริงควรเป็นเช่นไรเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้จึงชอบแล้ว -ฎ.๒๙๓๘/๕๒ อุทธรณ์ของโจทก์ไม่ได้ให้เหตุผลโดยชัดแจ้งว่า ที่ศาลชั้นต้นยกเหตุต่างๆ ที่แสดงว่า ง. ไม่ได้ยกที่ดินพิพาทให้โจทก์นั้นไม่ชอบอย่างไร พยานหลักฐานอื่นที่แสดงว่าโจทก์ได้รับมอบที่ดินพิพาทในวันแต่งงานดังที่โจทก์อ้าง โจทก์ก็ไม่ได้ระบุไว้ในอุทธรณ์ ดังนั้น อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้จึงไม่ชัดแจ้งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์รับพิจารณาประเด็นดังกล่าวจึงไม่ชอบ ดังนั้น ฎีกาโจทก์ที่ว่า พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักและเหตุผลน่าเชื่อว่า ง. ได้ยกที่ดินพิพาทให้โจทก์จริง จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๙ วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย -ตัวอย่างคำถาม โจทก์ฟ้องว่าจำเลยขับรถยนต์ประมาทเลินเล่อโดยถอยรถขึ้นมาบนถนนอย่างกะทันหัน เป็นเหตุให้เฉี่ยวชนกับรถคันที่บุตรโจทก์ขับ ทำให้รถโจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นค่าซ่อมรถยนต์จำนวน ๑๒๐,๐๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์จำเลยให้การว่า บุตรโจทก์ขับรถยนต์ด้วยความประมาทเลินเล่อ ทำให้รถเสียหลักตกไหล่ทางแล้วพุ่งเข้าชนรถจำเลยซึ่งตกหล่มอยู่ จำเลยจึงไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายสูงกว่าความเป็นจริง และฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่ได้บรรยายฟ้องว่าบุตรโจทก์กระทำการในฐานะเป็นอะไรกับโจทก์ และบุตรโจทก์ยังเป็นผู้เยาว์หรือบรรลุนิติภาวะแล้ว ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเหตุที่รถยนต์ชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลย แต่เห็นว่าค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมานั้นสูงเกินไป และฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ๕๐,๐๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ว่า (ก) พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบรับฟังไม่ได้ว่าเหตุละเมิดเกิดเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลย (ข) ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าบุตรโจทก์ขับรถมาด้วยความเร็วปกติและใช้ความระมัดระวังเต็มที่พอที่จะให้จำเลยทราบสภาพแห่งข้อหาและแก้ข้อกล่าวหาได้อย่างเพียงพอให้วินิจฉัยว่า จำเลยจะอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่ ธงคำตอบ (ข้อสอบเนฯ ข้อ ๕ สมัย ๖๐) (ก) โจทก์ฟ้องให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ๑๒๐,๐๐๐ บาท แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเพียง ๕๐,๐๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ย และโจทก์มิได้อุทธรณ์ ถือว่าโจทก์พอใจตามคำพิพากษา เมื่อจำเลย อุทธรณ์ฝ่ายเดียวว่าไม่ต้องรับผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ก็ต้องถือว่าทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์มีเท่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินคือ ๕๐,๐๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ยเท่านั้น และดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จก็จะนำมาคำนวณรวมเป็นทุนทรัพย์ไม่ได้ จึงต้องถือว่าคดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท (คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๘๙๔/๔๑) ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบรับฟังไม่ได้ว่าเหตุละเมิดเกิดเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง (คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๙/๔๐, ๘๙๘๔/๔๑) อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง จำเลยจึงอุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้ไม่ได้ (ข) ปัญหาเรื่องฟ้องเคลือบคลุมเป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่จำเลยให้การต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะมิได้บรรยายฟ้องให้ชัดเจนว่าบุตรโจทก์กระทำการในฐานะเป็นอะไรกับโจทก์ และบุตรโจทก์ยังเป็นผู้เยาว์หรือบรรลุนิติภาวะแล้ว ซึ่งแตกต่างกับที่จำเลยอุทธรณ์ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าบุตรโจทก์ขับรถมาด้วยความเร็วปกติและใช้ความระมัดระวังอย่างเต็มที่ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง(คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๘๖๔/๒๕๔๖) จำเลยจึงอุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้ไม่ได้ **มาตรา ๒๒๖ ก่อนศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี ถ้าศาลนั้นได้มีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา ๒๒๗ และ ๒๒๘ (๑) ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณา (๒) ถ้าคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคำสั่งใด ให้ศาลจดข้อโต้แย้งนั้นลงไว้ในรายงานคู่ความที่โต้แย้งชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลได้มีคำพิพากษา หรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีนั้นเป็นต้นไป เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ไม่ว่าศาลจะได้มีคำสั่งให้รับคำฟ้องไว้แล้วหรือไม่ให้ถือว่าคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งของศาลนับตั้งแต่มีการยื่นคำฟ้องต่อศาลนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา ๒๒๗ และ ๒๒๘ เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา อธิบาย -ดู ป.วิอาญา มาตรา ๑๙๖ ประกอบ -คำสั่งระหว่างพิจารณาเป็นได้ทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง ยกเว้น ม.๒๒๗,๒๒๘ -มาตรา ๒๒๖ ต้องอยู่ในบังคับ ม.๒๒๔ และ ๒๒๕ ด้วย (แต่ ม.๒๒๗ เป็นปัญหาข้อกฎหมาย ไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา และไม่อยู่ในบังคับมาตรา ๒๒๔) -โต้แย้งไว้ก่อนศาลจะมีคำสั่ง ถือไม่ได้ว่ามีการโต้แย้งไว้แล้วตาม ม.๒๒๖(๒) -ฎ.๘๙๗๗/๕๑ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ผู้ร้องสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ต้องห้ามอุทธรณ์จนกว่าศาลชั้นต้นจะได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๒๖(๑) -ฎ.๘๓๒๑/๕๑ คำร้องขอขยายระยะเวลาของผู้ร้องที่ยื่นต่อศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๓ เป็นอำนาจและดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่จะสั่งตามที่เห็นสมควร คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินของผู้ร้อง ฉบับลงวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณานอกเหนือจากคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๒๗,๒๒๘ ผู้ร้องจะต้องโต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นไว้จึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อไป เว้นแต่ผู้ร้องจะไม่มีโอกาสที่จะโต้แย้งได้ การที่ทนายผู้ร้องได้ลงชื่อรับทราบในคำร้องฉบับดังกล่าวเพื่อให้มาฟังคำสั่งในวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ กรณีย่อมต้องถือว่า ผู้ร้องได้ทราบคำสั่งศาลชั้นต้นตั้งแต่วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ ต่อมาเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ ให้จำหน่ายคดีของผู้ร้องออกจากสารบบความ อันเป็นเวลาหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งถึง ๔ วัน ผู้ร้องย่อมมีโอกาสเพียงพอที่จะโต้แย้งคัดค้านคำสั่งนี้ได้ แต่ผู้ร้องก็มิได้โต้แย้ง เป็นการไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๒๖(๒) -**ฎ.๗๙๘๐/๕๑ คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๓๒(๑) ทำให้คดีเสร็จไปจากศาล เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีแล้ว คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งใหม่ให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีจึงไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาอันต้องห้ามตามมาตรา ๒๒๖(๑) ศาลชั้นต้นได้สั่งจำหน่ายคดีโดยเห็นว่าโจทก์ทิ้งฟ้องไปแล้ว แต่เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องแสดงเหตุอันสมควร ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะทำการไต่สวนคำร้องของโจทก์เพื่อทราบข้อเท็จจริง และหากเห็นว่ามีการกระทำหรือการดำเนินกระบวนพิจารณาไปโดยผิดหลงและเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม ศาลชั้นต้นก็ย่อมมีอำนาจเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวโดยสั่งเพิกถอนคำสั่งที่สั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องและให้จำหน่ายคดีจากสารบบความนั้นเสียได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๗ -ตัวอย่างคำถาม โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ ๑ รับผิดในมูลละเมิดเป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท และฟ้องจำเลยที่ ๒ ผู้รับประกันภัยให้ร่วมรับผิดในวงเงิน ๖๐,๐๐๐ บาท โดยโจทก์เสียค่าขึ้นศาลจากทุนทรัพย์ ๑๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๑ ให้การปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้ทำละเมิด ส่วนจำเลยที่ ๒ ให้การปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้รับประกันภัย ระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลเพิ่มในจำนวนทุนทรัพย์ ๖๐,๐๐๐ บาท โจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งโดยไม่ได้โต้แย้ง เมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว วันนัดสืบพยานจำเลย จำเลยที่ ๑ ขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตและถือว่าจำเลยที่ ๑ ไม่มีพยานมาสืบ ให้งดสืบพยานจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ยื่นคำแถลงคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้น เมื่อเสร็จการพิจารณา ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ และยกฟ้องจำเลยที่ ๒ ให้จำเลยที่ ๑ ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ ให้เป็นพับ โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ ๒ เป็นผู้รับประกันภัยขอให้จำเลยที่ ๒ รับผิดตามฟ้องและอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่เรียกเก็บค่าขึ้นศาลเพิ่มว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนจำเลยที่ ๑ อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยที่ ๑ เลื่อนคดี และงดสืบพยานจำเลยที่ ๑ โดยมิได้นำค่าธรรมเนียมที่ต้องใช้แก่โจทก์มาวางศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์และของจำเลยที่ ๑ ให้วินิจฉัยว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ธงคำตอบ (ข้อสอบเนฯ ข้อ ๕ สมัย ๕๗) คำสั่งศาลชั้นต้นที่เรียกเก็บค่าขึ้นศาลเพิ่มในจำนวนทุนทรัพย์ ๖๐,๐๐๐ บาท เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาซึ่งโจทก์จะต้องโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวไว้จึงจะอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๖(๒) แต่กรณีนี้อุทธรณ์คำสั่งของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายว่าการที่ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลเพิ่มชอบด้วยกฎหมายหรือไม่และเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์จะมิได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวไว้ซึ่งเท่ากับว่าโจทก์มิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้น โจทก์ก็มีสิทธิยกปัญหาเช่นว่านั้นขึ้นอ้างในอุทธรณ์ได้ ตามมาตรา ๒๒๕ วรรคสอง อันเป็นข้อยกเว้นของมาตรา ๒๒๖ (๒) โจทก์จึงชอบที่จะอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวได้ คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ในข้อนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ ๗๔๐๙/๔๖ (ประชุมใหญ่) คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยที่ ๑ เลื่อนคดีและงดสืบพยานจำเลยที่ ๑ เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เมื่อจำเลยที่ ๑ ได้โต้แย้งไว้แล้ว จึงชอบที่จะอุทธรณ์ได้ตามมาตรา ๒๒๖ (๒) และการที่จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาโดยมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นก็ตาม ย่อมมีผลโดยตรงต่อคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้สิ้นผลบังคับไปในตัวด้วย จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมที่ต้องใช้แก่โจทก์มาวางศาลชั้นต้นพร้อมอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๒๙ เมื่อจำเลยที่ ๑ ไม่ชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าว จึงเป็นอุทธรณ์ไม่ชอบ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย (คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๑๕๒/๔๕ และ ๖๗๔๗/๔๕) -ตัวอย่างคำถาม โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ ๑ ผู้กู้และจำเลยที่ ๒ ผู้ค้ำประกันร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์จำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ในฐานะตัวแทนของนายทอง จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ขอให้ยกฟ้อง และยื่นคำร้องขอให้ศาลหมายเรียกนายทองเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ส่วนจำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ ๒ ไปทำธุระที่ต่างจังหวัดกลับมายื่นคำให้การไม่ทัน มิได้จงใจยื่นคำให้การเกินกำหนด ขอให้รับคำให้การที่ยื่นมาพร้อมกับคำร้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ กับมีคำสั่งในคำให้การของจำเลยที่ ๒ ด้วยว่า จำเลยที่ ๒ยื่นคำให้การเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมาย จึงไม่รับคำให้การ จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ต่างยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นทันที ให้วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นจะรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ หรือไม่ ธงคำตอบ (ข้อสอบเนฯ ข้อ ๕ สมัย ๕๕) การที่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นคู่ความในคดีที่ยื่นคำร้องขอให้เรียกนายทองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกให้เข้ามาเป็นคู่ความในคดีคือเป็นจำเลยร่วม คำร้องของจำเลยที่ ๑ ดังกล่าวมิใช่คำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑ (๕)เพราะมิได้ตั้งประเด็นระหว่างคู่ความ ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ ๑ จึงไม่ใช่คำสั่งไม่รับหรือคืนคำคู่ความตามมาตรา ๑๘ แต่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามมาตรา ๒๒๖ (๑)ศาลชั้นต้นชอบที่จะไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ ไว้พิจารณา (คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๒๑๗/๓๕, ๙๑๐๗/๔๔) จำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นรับคำให้การโดยยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนดเวลาที่จะยื่นคำให้การได้ การที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องจึงมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยที่ ๒ ยื่นคำให้การ ซึ่งเมื่อสั่งไม่อนุญาตแล้ว ก็ไม่จำต้องสั่งไม่รับคำให้การอีก คำสั่งของศาลชั้นต้นยังอยู่ในขั้นตอนของคำสั่งไม่อนุญาตให้ยื่นคำให้การ มิใช่คำสั่งไม่รับคำให้การอันจะถือเป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๘ จึงเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณาต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวในระหว่างพิจารณาคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๖ (๑) ศาลชั้นต้นชอบที่จะไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ไว้พิจารณา (คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๑๓๓/๔๕) -ตัวอย่างข้อสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาเมื่อ ๒ พ.ย.๒๕๕๑ ข้อ ๕ (มาตราหลัก ม.๒๒๖ มาตรารอง ม.๑๘,๒๒๕, ๒๒๗,๒๒๘) ถาม ในระหว่างพิจารณาคดีแพ่งเรื่องหนึ่ง ศาลเห็นว่าฟ้องโจทก์เป็นคดีมีทุนทรัพย์จึงมีคำสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มอย่างคดีมีทุนทรัพย์ โจทก์ยินยอมเสียโดยไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกนายดีเข้า มาเป็นจำเลยร่วมและขอให้ศาลชั้นต้นเดินเผชิญสืบที่พิพาท ขณะเดียวกันนายดำก็ยื่นคำร้องสอดเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าไม่มีเหตุผลที่จะเรียกนายดีเข้ามาเป็นจำเลยร่วม และไม่จำเป็นต้นเดินเผชิญสืบ ยกคำร้องของโจทก์ และแม้คำร้องสอดของนายดำจะชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่มีเหตุอันสมควร จึงให้ยกคำร้องสอดของนายดำ โจทก์ยื่นคำแถลงโต้แย้งคัดค้านคำสั่งดังกล่าวเพียงว่ามีเหตุผลที่จำเป็นต้องเรียกนายดีเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ส่วนนายดำไม่ได้ดำเนินการใดๆ ภายหลังเมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีแล้วโจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์ กับที่ไม่อนุญาตให้เรียกนายเข้ามาเป็นจำเลยร่วม และไม่อนุญาตให้เดินเผชิญสืบ ส่วนนายดำยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้นายดำเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ ให้วินิจฉัยว่า ศาลอุทธรณ์จะต้องรับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์และนายดำหรือไม่ ตอบ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๒๖ วางหลักไว้ว่า ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี ถ้าได้มีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดนอกจากมาตรา ๒๒๗,๒๒๘ ห้ามอุทธรณ์คำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณา และคู่ความที่ได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวไว้ชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวใน ๑ เดือนนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี แม้คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มอย่างคดีมีทุนทรัพย์เป็นคำสั่งก่อนศาลชั้นต้นตัดสินคดีซึ่งเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา และโจทก์จะมิได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๒๖ ก็ตาม แต่ปัญหาว่าศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์ชอบหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์ก็มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ตามมาตรา ๒๒๕ วรรคสอง ศาลอุทธรณ์ต้องรับวินิจฉัยข้อนี้ของโจทก์ (เทียบ ฎ.๔๘๓๙-๔๘๔๐/๒๕๔๗) คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่ให้เรียกนายดีเข้ามาเป็นจำเลยร่วมและไม่อนุญาตให้เดินเผชิญสืบเป็นคำสั่งก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาชี้ขาดตัดสินคดี จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำแถลงโต้แย้งเฉพาะว่ามีเหตุจำเป็นเรียกนายดีเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ไม่ได้โต้แย้งคัดค้าเรื่องการเดินเผชิญสืบ โจทก์จึงสามารถอุทธรณ์ได้ เฉพาะในข้อที่ว่าศาลชั้นต้นไม่อนุญาตเรียกนายดีเข้ามาเป็นจำเลยร่วมโดยไม่ชอบเท่านั้น ศาลอุทธรณ์ต้องรับวินิจฉัยส่วนนี้ของโจทก์ ส่วนที่อุทธรณ์เรื่องการไม่อนุญาตให้เดินเผชิญสืบเมื่อเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ได้โต้แย้งไว้จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์จึงไม่จำเป็นวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ (เทียบ ฎ.๓๔๙๕/๒๕๓๒) ส่วนคำสั่งยกคำร้องสอดของนายดำที่เป็นบุคคลภายนอกร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความร่วมกับจำเลย ซึ่ง จะต้องแสดงเหตุผลที่ขอเข้ามา คำขอและเอกสารแสดงเหตุที่ขอร้องสอดเข้ามาเพื่อตั้งประเด็นจึงจัดเป็นคำคู่ความ การที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องไม่ให้เข้ามาในคดีจึงเป็นการไม่รับคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๘ ซึ่งเป็นข้อยกเว้นตามมาตรา ๒๒๗ ไม่ให้ถือเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา แต่อยู่ในบังคับการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี ดังนั้นแม้นายดำจะไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำสั่งดังกล่าวไว้ ศาลอุทธรณ์ต้องรับวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวของนายดำ (เทียบ ฎ.๑๒๒๖/๒๕๑๐ ประชุมใหญ่) *มาตรา ๒๒๗ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับหรือให้คืนคำคู่ความตามมาตรา ๑๘ หรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นตามมาตรา ๒๔ ซึ่งทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องนั้น มิให้ถือว่าเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณา และให้อยู่ภายในข้อบังคับของการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี อธิบาย - ฎ.(ป)๑๒๒๖/๑๐ คำขอและเอกสารแสดงเหตุที่ขอร้องสอดเข้ามาเพื่อตั้งประเด็นจึงจัดเป็นคำคู่ความ การที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องไม่ให้เข้ามาในคดีจึงเป็นการไม่รับคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๘ ซึ่งเป็นข้อยกเว้นตามมาตรา ๒๒๗ ไม่ให้ถือเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา แต่อยู่ในบังคับการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี ดังนั้นแม้จะไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำสั่งดังกล่าวไว้ ศาลอุทธรณ์ต้องรับวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว *มาตรา ๒๒๘ ก่อนศาลชี้ขาดตัดสินคดี ถ้าศาลมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้คือ (๑) ให้กักขัง หรือปรับไหม หรือจำขัง ผู้ใด ตามประมวลกฎหมายนี้ (๒) มีคำสั่งอันเกี่ยวด้วยคำขอเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่ความในระหว่างการพิจารณา หรือมีคำสั่งอันเกี่ยวด้วยคำขอเพื่อจะบังคับคดีตามคำพิพากษาต่อไป หรือ (๓) ไม่รับหรือคืนคำคู่ความตามมาตรา ๑๘ หรือวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นตามมาตรา ๒๔ ซึ่งมิได้ทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง หากเสร็จไปเฉพาะแต่ประเด็นบางข้อ คำสั่งเช่นว่านี้ คู่ความย่อมอุทธรณ์ได้ภายในกำหนดหนึ่งเดือน นับแต่วันมีคำสั่งเป็นต้นไป แม้ถึงว่าจะมีอุทธรณ์ในระหว่างพิจารณา ให้ศาลดำเนินคดีต่อไป และมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีนั้น แต่ถ้าในระหว่างพิจารณา คู่ความอุทธรณ์คำสั่งชนิดที่ระบุไว้ในอนุมาตรา (๓) ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่า การกลับหรือแก้ไขคำสั่งที่คู่ความอุทธรณ์นั้นจะเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดี หรือวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อใดที่ศาลล่างมิได้วินิจฉัยไว้ ให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจทำคำสั่งให้ศาลล่างงดการพิจารณาไว้ในระหว่างอุทธรณ์ หรืองดการวินิจฉัยคดีไว้จนกว่าศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยชี้ขาดอุทธรณ์นั้น ถ้าคู่ความมิได้อุทธรณ์คำสั่งในระหว่างพิจารณาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้ ก็ให้อุทธรณ์ได้ในเมื่อศาลพิพากษาคดีแล้วตามความในมาตรา ๒๒๓ อธิบาย ม.๒๒๗,๒๒๘ ๑) ศาลสั่งไม่รับ ตาม ม.๑๘ -ไม่รับคำร้องสอด เป็น ม.๒๒๗ -ไม่รับคำฟ้อง เป็น ม.๒๒๗ -รับบางข้อ เป็น ม.๒๒๘ -ไม่อนุญาตให้แก้คำฟ้อง เป็น ม.๒๒๘ -ไม่รับฟ้องเลย เป็น ม.๒๒๗ -ไม่รับคำให้การเลยทั้งหมด เป็น ม.๒๒๘ -ไม่อนุญาตแก้คำให้การ เป็น ม.๒๒๘ -ไม่รับฟ้องแย้ง เป็น ม.๒๒๗ -ม.๒๖๔ เสร็จทั้งเรื่อง เป็น ม.๒๒๗ -ไม่เสร็จทั้งเรื่อง(เฉพาะประเด็น) เป็น ม.๒๒๘ ๒) ชี้ขาดเบื้องต้นข้อกฎหมาย ส่วนใหญ่เสร็จทั้งเรื่องเข้า ม.๒๒๗ ใช้เฉพาะศาลชั้นต้นและอุทธรณ์เท่านั้น -เป็นคุณแก่ผู้ร้องจึงเป็น ม.๒๔ ซึ่งเข้าทั้ง ม.๒๒๗ และ ๒๒๘ ได้ - สั่งไม่เป็นคุณแก่ผู้ร้อง เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เข้า ม.๒๒๖ -ปัจจุบันศาลจะไม่สั่งถ้าสั่งแล้วคดีไม่จบ -สั่งยกคำร้อง,ไม่รับวินิจฉัย,รอไว้สั่งในคดพิพากษา ซึ่งถือไม่เป็นคุณ เป็น ม.๒๒๖ -ศาลหยิบยก ม.๒๔ ขึ้นได้เอง เป็น ม.๒๒๗ -ฎ.๑๑๐๖/๓๐ คำสั่งศาลให้โจทก์วางเงินประกันค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๕๓เป็นคำสั่งอันเกี่ยวด้วยคำขอเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่ความในระหว่างการพิจารณาตามป.วิ.พ. มาตรา ๒๒๘(๒) ย่อมอุทธรณ์ฎีกาได้โดยไม่จำต้องโต้แย้งคำสั่งไว้ก่อน -ฎ.๑๕๐๑๙/๕๑ ระหว่างพิจารณาภายหลังศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งว่า จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การโดยอ้างว่าเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบพร้อมทั้งยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องและไม่รับคำให้การของจำเลยที่ ๑ ดังนี้ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งว่าจำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและคำสั่งยกคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งว่าจำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๒๖ (๑) ส่วนคำสั่งไม่รับคำให้การของจำเลยที่ ๑ เป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๘ วรรคสาม ซึ่งทำให้คดีเสร็จไปเฉพาะแต่ประเด็นบางข้อ มิใช่คำสั่งระหว่างพิจารณา จำเลยที่ ๒ มีสิทธิอุทธรณ์ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๒๘ (๓) **มาตรา ๒๒๙ การอุทธรณ์นั้นให้ทำเป็นหนังสือยื่นต่อศาลชั้นต้นซึ่งมีคำพิพากษาหรือคำสั่งภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น และผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์นั้นด้วย ให้ผู้อุทธรณ์ยื่นสำเนาอุทธรณ์ต่อศาล เพื่อส่งให้แก่จำเลยอุทธรณ์ (คือฝ่ายโจทก์หรือจำเลยความเดิมซึ่งเป็นฝ่ายที่มิได้อุทธรณ์ความนั้น) ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๓๕ และ ๒๓๖ อธิบาย -ค่าธรรมเนียมที่โจทก์อุทธรณ์ต้องวางศาลพร้อมอุทธรณ์คือค่าธรรมเนียมใช้แทน ไม่ใช่ค่าธรรมเนียมศาลตาม ม.๑๘,๑๔๙,๑๕๐ ซึ่งเป็นคนละส่วนกัน -ดูตัวอย่างคำถามจาก ม.๒๒๔ ข้อสอบเนฯข้อ ๕ สมัย ๖๒ ประกอบด้วย **-ฎ.๖๑๘๑/๕๑ ป.วิ.พ. มาตรา ๒๒๙ บัญญัติว่า การอุทธรณ์นั้นให้ทำเป็นหนังสือยื่นต่อศาลชั้นต้นซึ่งมีคำพิพากษาหรือคำสั่งภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น และผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาและคำสั่งมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์นั้นด้วย บทบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับแก่การอุทธรณ์คำพิพากษาและคำสั่งในทุกกรณี จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว การที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ เสียเฉพาะค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมอย่างหนึ่งที่กฎหมายบังคับให้ต้องเสียในขณะยื่นคำฟ้องอุทธรณ์ แต่เงินดังกล่าวเป็นคนละส่วนกับเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษา เมื่อจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวให้ครบถ้วนจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้หลังจากที่ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว ก่อนที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ จะยื่นฎีกา จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ได้นำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษามาวางศาล ก็ไม่มีผลทำให้อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ไปแล้วกลับเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมายไปได้ **-ฎ.๕๙๐๕/๕๑ ที่ ป.วิ.พ. มาตรา ๒๒๙ บัญญัติให้ ผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์นั้นด้วยเป็นบทใช้บังคับเฉพาะกรณีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีของศาลชั้นต้น ตลอดจนการอุทธรณ์คำสั่งอื่นๆ ของศาลชั้นต้นที่มีผลกระทบต่อคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีของศาลชั้นต้นเท่านั้น คดีนี้หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว จำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นทั้งหมด โดยให้ดำเนินการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ ๒ ใหม่และขอให้พิจารณาคดีใหม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง การที่จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น โดยขอให้ศาลอุทธรณ์กลับคำสั่งของศาลชั้นต้นให้รับคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของจำเลยที่ ๒ ไว้พิจารณาต่อไป ซึ่งหากศาลอุทธรณ์พิจารณาเห็นชอบด้วยตามข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ศาลอุทธรณ์ก็จะพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นและให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยที่ ๒ ไว้พิจารณาและไต่สวนพยานของจำเลยที่ ๒ แล้วมีคำสั่งไปตามรูปคดีว่าจะอนุญาตให้จำเลยที่ ๒ พิจารณาคดีใหม่หรือไม่ ศาลอุทธรณ์ไม่อาจพิจารณาและอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ตามคำขอท้ายอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ได้ เพราะยังไม่มีข้อเท็จจริงที่จะนำมาวินิจฉัยว่ากระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นเกิดขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ การอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ ๒ ชั้นนี้ไม่มีผลโดยตรงต่อคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้สิ้นผลบังคับแต่อย่างใด จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องนำเงินค่าธรรมเนียม ซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๒๙ -ฎ.๒๐๘/๕๐ จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยที่ ๑ โดยขอให้ศาลอุทธรณ์ มีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ มีผลเท่ากับเป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นอยู่ในตัว จำเลยที่ ๑ จึงมีหน้าที่ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมศาลซึ่งต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ตาม ม.๒๒๙ เมื่อจำเลยที่ ๑ ไม่ปฏิบัติดังกล่าว อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งในชั้นตรวจคำฟ้องอุทธรณ์ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ ได้ทันที โดยไม่ต้องกำหนดให้จำเลยที่ ๑ วางเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวเสียก่อนตาม ม.๑๘ เพราะกรณีดังกล่าวไม่ใช่เรื่องของการมิได้ชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลโดยไม่ถูกต้องครบถ้วนตาม ม.๑๘ แต่อย่างใด(ดูรายละเอียด ม.๑๘,๒๗,๒๒๙และ๒๓๒ ควบกัน) -ฎ.๑๑๒๕/๔๕ (ป.วิแพ่ง ม.๒๒๙,๒๓๒,๒๓๔) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๙บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ ซึ่งค่าธรรมเนียมใช้แทนนอกจากค่าทนายความแล้วยังรวมถึงค่าฤชาธรรมเนียมที่คู่ความอีกฝ่ายต้องเสียไปจากการดำเนินคดีในศาลชั้นต้นด้วย การที่จำเลยยื่นอุทธรณ์โดยนำเพียงค่าทนายความใช้แทนมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งไม่รับอุทธรณ์ได้ทันที แต่เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยมิได้จงใจหรือฝ่าฝืนที่จะไม่ปฏิบัติตามบทกฎหมายและมีคำสั่งกำหนดเวลาให้จำเลยปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วน เท่ากับศาลชั้นต้นเปิดโอกาสให้จำเลยนำเงินค่าธรรมเนียมมาวางศาลให้ถูกต้องอีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะพิจารณาสั่งอุทธรณ์อันเป็นกระบวนพิจารณาในชั้นตรวจคำฟ้องอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๓๒ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลชั้นต้นโดยเฉพาะ คำสั่งของศาลชั้นต้นเช่นนี้จึงมิใช่คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ซึ่งผู้อุทธรณ์อาจอุทธรณ์คำสั่งศาลนั้นไปยังศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๓๔ ได้ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในชั้นตรวจคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยว่า ให้จำเลยนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนมาวางศาลภายในเวลาที่กำหนดก่อนจึงจะพิจารณาสั่งอุทธรณ์ของจำเลยนั้น จำเลยจึงยังไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวการที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยมานั้นจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่อาจวินิจฉัยฎีกาของจำเลยได้ หมายเหตุ เหตุผลที่คำพิพากษาศาลฎีกาที่หมายเหตุนี้วินิจฉัยว่าจำเลยยังไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งอุทธรณ์ อยู่ที่ว่าคำสั่งศาลชั้นต้นเป็นการเปิดโอกาสให้จำเลยนำค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนมาวางศาลให้ครบถ้วนก่อนที่ศาลจะสั่งเท่านั้น กล่าวคือคำสั่งนี้มิได้เพิ่มภาระให้จำเลยแต่อย่างใด เพราะจำเลยมีหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๙ ที่จะต้องนำค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์อยู่แล้ว คำสั่งศาลชั้นต้นเพียงให้โอกาสจำเลยเพิ่มขึ้นเป็นเวลา ๑๕ วัน เป็นประโยชน์แก่จำเลยถ่ายเดียว ส่วนที่ศาลฎีกากล่าวว่าคำสั่งศาลชั้นต้นอยู่ในชั้นตรวจคำฟ้องอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๓๒ เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลชั้นต้นโดยเฉพาะนั้น เป็นการอธิบายว่าคำสั่งนี้ยังอยู่ในขั้นศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องอุทธรณ์อยู่ มิได้หมายความว่าเมื่อเป็นคำสั่งที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลชั้นต้นโดยเฉพาะแล้วอุทธรณ์ไม่ได้ เพราะคำสั่งขั้นใด ๆ เมื่อไม่มีกฎหมายห้ามอุทธรณ์แล้วย่อมอุทธรณ์ได้เสมอ โดยถ้าเป็นคำสั่งขั้นตรวจคำฟ้องอุทธรณ์เป็นคำสั่งของศาลชั้นต้นเอง ก็อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๓ โดยทำเป็นคำฟ้องอุทธรณ์ธรรมดา ถ้าพ้นขั้นนี้ไปถึงขั้นสั่งรับหรือไม่รับคำฟ้องอุทธรณ์ก็อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ โดยทำเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๓๔ แต่ถ้าศาลชั้นต้นสั่งรับฟ้องอุทธรณ์แล้วการดำเนินการของศาลชั้นต้นภายหลังจากนั้นย่อมเป็นการทำแทนศาลอุทธรณ์ จะอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์เองย่อมไม่ได้ แต่ถ้าคู่ความไม่พอใจก็ชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ซึ่งเป็นเจ้าของคดีให้สั่งใหม่ได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๔๗/๙๕ ,๑๑๘๔/๙๕ และ๖๘๑/๓๐) และที่ศาลฎีกากล่าวว่าคำสั่งศาลชั้นต้นในคดีนี้มิใช่คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ก็เป็นการอธิบายว่ายังไม่ถึงขั้นนั้น เพราะคำสั่งในสองขั้นนี้ใกล้เคียงกันบางครั้งศาลชั้นต้นมิได้ใช้คำว่าไม่รับอุทธรณ์แต่เป็นคำสั่งไม่รับอุทธรณ์แล้ว เช่น ศาลชั้นต้นตรวจอุทธรณ์ของโจทก์ แล้วมีคำสั่งให้คืนฟ้องอุทธรณ์ให้โจทก์ไปเสียค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เสียไม่ครบถ้วน ถือว่าเป็นคำสั่งไม่รับอุทธรณ์แล้ว (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๕๗-๖๖๐/๑๐) เป็นต้น -***ฎ.๔๙๒๑/๕๐ ป.วิ.พ. มาตรา ๒๒๙ ซึ่งบัญญัติบังคับให้ผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมที่จะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์นั้นใช้บังคับเฉพาะกรณีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีของศาลชั้นต้น ตลอดจนการอุทธรณ์คำสั่งอื่น ๆ ของศาลชั้นต้นที่มีผลกระทบต่อคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีของศาลชั้นต้นเท่านั้น คดีนี้ปรากฏว่าหลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งแปดร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ ๕ และที่ ๗ ได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้กล่าวโดยชัดแจ้งซึ่งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลที่แสดงให้เห็นว่าหากศาลให้พิจารณาคดีนั้นใหม่ตนอาจเป็นฝ่ายชนะ ให้ยกคำร้อง จำเลยที่ ๕ และที่ ๗ อุทธรณ์คำสั่งโดยขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นรับคำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยที่ ๕ และที่ ๗ ไว้พิจารณาต่อไป อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๕ และที่ ๗ ดังกล่าว หากศาลอุทธรณ์ภาค ๔พิจารณาแล้วเห็นชอบด้วยตามข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ ๕ และที่ ๗ ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ ก็จะมีคำสั่งยกคำสั่งศาลชั้นต้นและให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยที่ ๕ และที่ ๗ ไว้พิจารณาและมีคำสั่งต่อไปตามรูปคดีเท่านั้น การอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ ๕ และที่ ๗ ในชั้นนี้จึงไม่มีผลทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นสิ้นผลบังคับแต่อย่างใด เมื่ออุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ ๕ และที่ ๗ จึงไม่ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๒๙ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๕ และที่ ๗ และศาลอุทธรณ์ภาค ๔ ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๕ และที่ ๗ นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา -ฎ.๓๑๓๗/๕๐,๗๕๖/๕๐ ป.วิ.พ. มาตรา ๒๒๙ บัญญัติว่า "การอุทธรณ์นั้นให้ทำเป็นหนังสือยื่นต่อศาลชั้นต้นซึ่งมีคำพิพากษาหรือคำสั่งภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น และผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์นั้นด้วย..." บทบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับเฉพาะกรณีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีของศาลชั้นต้น ตลอดจนการอุทธรณ์คำสั่งอื่น ๆ ของศาลชั้นต้นที่มีผลกระทบต่อคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีของศาลชั้นต้นเท่านั้น คดีนี้ปรากฏว่าหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า คำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยทั้งสองไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา ๑๙๙ จัตวา วรรคสอง ให้ยกคำร้อง จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวนี้ หากศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิจารณาแล้วเห็นชอบด้วยตามข้ออุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ ก็จะพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นรับคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยทั้งสองไว้พิจารณาและมีคำสั่งต่อไปตามรูปคดี การอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยทั้งสองในชั้นนี้ไม่มีผลโดยตรงต่อคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้สิ้นผลบังคับแต่อย่างใด เมื่ออุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๒๙ -ฎ.๖๔๔๗/๔๘ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ ๓๐,๐๐๐ บาท จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ ศาลชั้นต้นนัดไต่สวน ระหว่างไต่สวนคำร้องจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและถือว่าจำเลยไม่มีพยานมาสืบ มีคำสั่งยกคำร้อง จำเลยอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี แม้ตามคำขอท้ายอุทธรณ์ของจำเลยมีคำขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ อนุญาตให้จำเลยพิจารณาคดีใหม่ แต่เนื้อหาในอุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านเฉพาะเรื่องการไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี และให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องใหม่แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดีเท่านั้น ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ ไม่อาจอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ตามคำขอท้ายอุทธรณ์ได้ เพราะยังไม่มีข้อเท็จจริงที่จะนำมาวินิจฉัยว่าการขาดนัดยื่นคำให้การนั้นมิได้เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุอันสมควรหรือไม่ อุทธรณ์ของจำเลยยังไม่มีผลโดยตรงต่อคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ต้องถูกยกเลิกหรือสิ้นผลบังคับ จำเลยจึงไม่ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นวางศาลพร้อมอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๙ มาตรา ๒๓๐ คดีตามมาตรา ๒๒๔ ถ้าคู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ให้ศาลชั้นต้นตรวจเสียก่อนว่าฟ้องอุทธรณ์นั้นจะรับไว้พิจารณาได้หรือไม่ ถ้าผู้พิพากษาที่ได้พิจารณาคดีนั้นมีความเห็นแย้ง หรือได้รับรองไว้แล้ว หรือรับรองในเวลาที่ตรวจอุทธรณ์นั้นว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงนั้นได้ ก็ให้ศาลมีคำสั่งรับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว ถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคำรับรองเช่นว่านั้น ให้ศาลมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงที่กล่าวแล้ว ในกรณีเช่นนี้ ถ้าอธิบดีผู้พิพากษาหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคมิได้เป็นคณะในคำสั่งนั้น ผู้อุทธรณ์ชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลถึงอธิบดีผู้พิพากษาหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคภายในเจ็ดวัน เมื่อศาลได้รับคำร้องเช่นว่านั้น ให้ศาลส่งคำร้องนั้นพร้อมด้วยสำนวนความไปยังอธิบดีผู้พิพากษาหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาค เพื่อมีคำสั่งยืนตามหรือกลับคำสั่งของศาลนั้นคำสั่งของอธิบดีผู้พิพากษา หรืออธิบดีผู้พิพากษาภาค เช่นว่านี้ ให้เป็นที่สุด บทบัญญัติแห่งมาตรานี้ ไม่ห้ามศาลในอันที่จะมีคำสั่งตามมาตรา ๒๓๒ ปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์ในเหตุอื่น หรือในอันที่ศาลจะมีคำสั่งให้ส่งอุทธรณ์นั้นไปเท่าที่เป็นอุทธรณ์ในข้อกฎหมาย *มาตรา ๒๓๑ การยื่นอุทธรณ์ย่อมไม่เป็นการทุเลาการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น แต่คู่ความที่ยื่นอุทธรณ์อาจยื่นคำขอต่อศาลอุทธรณ์ไม่ว่าเวลาใด ๆก่อนพิพากษา โดยทำเป็นคำร้องชี้แจงเหตุผลอันสมควรแห่งการขอ ให้ศาลอุทธรณ์ทุเลาการบังคับไว้ คำขอเช่นว่านั้น ให้ผู้อุทธรณ์ยื่นต่อศาลชั้นต้นได้จนถึงเวลาที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้อุทธรณ์ ถ้าภายหลังศาลได้มีคำสั่งเช่นว่านี้แล้ว ให้ยื่นตรงต่อศาลอุทธรณ์ ถ้าได้ยื่นคำขอต่อศาลชั้นต้นก็ให้ศาลรีบส่งคำขอนั้นไปยังศาลอุทธรณ์ ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินอย่างยิ่ง เมื่อศาลชั้นต้นได้รับคำขอไว้ ก็ให้มีอำนาจทำคำสั่งให้ทุเลาการบังคับไว้รอคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลอุทธรณ์ในคำขอเช่นว่านั้น ถ้าผู้อุทธรณ์วางเงินต่อศาลชั้นต้นเป็นจำนวนพอชำระหนี้ตามคำพิพากษารวมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในการฟ้องร้องและการบังคับคดี หรือได้หาประกันมาให้สำหรับเงินจำนวนเช่นว่านี้จนเป็นที่พอใจของศาล ให้ศาลที่กล่าวมาแล้วงดการบังคับคดีไว้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๙๕ (๑) เมื่อได้รับคำขอเช่นว่านี้ ศาลอุทธรณ์จะอนุญาตให้ทุเลาการบังคับไว้ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินก็ได้ โดยมิต้องฟังคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ถือว่าคำสั่งนี้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะได้ฟังคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งในภายหลัง ถ้าศาลมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับไว้ตามที่ขอ คำสั่งนี้อาจอยู่ภายใต้บังคับเงื่อนไขใด ๆ หรือไม่ก็ได้ ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้อุทธรณ์ทำทัณฑ์บนว่าจะไม่ยักย้ายจำหน่ายทรัพย์สินของตนในระหว่างอุทธรณ์ หรือให้หาประกันมาให้ศาลให้พอกับเงินที่ต้องใช้ตามคำพิพากษาหรือจะให้วางเงินจำนวนนั้นต่อศาลก็ได้ ถ้าผู้อุทธรณ์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้น ศาลจะสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้อุทธรณ์นั้นก็ได้ และถ้าทรัพย์สินเช่นว่านั้นหรือส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ ศาลอาจมีคำสั่งให้เอาออกขายทอดตลาดก็ได้ ถ้าปรากฏว่าการขายนั้นเป็นการจำเป็นและสมควร เพราะทรัพย์สินนั้นมีสภาพเป็นของเสียได้ง่ายหรือว่าการเก็บรักษาไว้ในระหว่างอุทธรณ์น่าจะนำไปสู่ความยุ่งยากหรือจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก อธิบาย -การขอทุเลาเป็นการของดบังคับคดีไว้ชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งทำได้เฉพาะไม้ให้อีกฝ่ายได้รับความเสียหาย และผู้ที่จะขอทุเลาการบังคับคดีได้ต้องเป็นคู่ความที่ถูกบังคับคดี -บางกรณีดูไม่ออกว่าขอ ม.๒๓๑ หรือขอตาม ม.๒๖๔ ซึ่งมีความแตกต่างกัน ม.๒๓๑ ฎีกาไม่ได้ แต่ ม.๒๖๔ ฎีกาได้ -ขอทุเลาฯไม่ได้ (๑) ค่าธรรมเนียมใช้แทน ม.๒๒๙ (๒)คดีล้มละลายเมื่อมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด (๓)คดีภาษี เป็นอำนาจเฉพาะของอธิบดีกรรมสรรพากร -ขอทุเลาฯไม่มีเหตุฉุกเฉิน ต้องส่งสำเนาและฟังอีกฝ่ายเสมอมิฉะนั้นต้องยกย้อนสำนวน -ฎ.๓๔๓๘/๓๓ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับผิด ๑๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๒ จำนวน ๔๐๐,๐๐๐บาท จำเลยทั้งสองอุทธรณ์และขอทุเลาการบังคับคดี ศาลอุทธรณ์สั่งให้วางหลักประกันร่วมกันเพียง ๔๐๐,๐๐๐ บาท จึงจะให้ทุเลาฯ ศาลฎีกาว่าเรื่องนี้เป็นการตีความคำสั่งศาล ไม่ใช่โต้แย้งดุลยพินิจ จึงให้รับฎีกาได้ในเรื่องขอขอทุเลาฯ มาตรา ๒๓๒ เมื่อได้รับอุทธรณ์แล้ว ให้ศาลชั้นต้นตรวจอุทธรณ์และมีคำสั่งให้ส่งหรือปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์นั้นไปยังศาลอุทธรณ์ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าศาลปฏิเสธไม่ส่ง ให้ศาลแสดงเหตุที่ไม่ส่งนั้นไว้ในคำสั่งทุกเรื่องไป ถ้าคู่ความทั้งสองฝ่ายได้ยื่นอุทธรณ์ศาลจะวินิจฉัยอุทธรณ์ทั้งสองฉบับนั้นในคำสั่งฉบับเดียวกันก็ได้ อธิบาย -**ฎ.๖๖๕/๔๘ การนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมอุทธรณ์นั้น ป.วิ.พ. มาตรา ๒๒๙ บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของผู้อุทธรณ์ที่จะต้องนำเงินมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ด้วย การที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยทั้งสองยื่นอุทธรณ์โดยไม่นำเงินค่าธรรมเนียมใช้แทนมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์จึงเป็นการไม่ชอบ ซึ่งศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งไม่รับอุทธรณ์ได้ทันที แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งกำหนดระยะเวลาให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนเท่ากับศาลชั้นต้นเปิดโอกาสให้แก่จำเลยทั้งสองนำเงินค่าธรรมเนียมมาวางศาลให้ถูกต้องอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะพิจารณาสั่งอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่าจะให้ส่งหรือปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองไปยังศาลอุทธรณ์ภาค ๓ อันเป็นกระบวนพิจารณาในชั้นตรวจคำฟ้องอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา ๒๓๒ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลชั้นต้นโดยเฉพาะ คำสั่งของศาลชั้นต้นเช่นนี้มิใช่เป็นคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ซึ่งผู้อุทธรณ์อาจอุทธรณ์คำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๓๔ ได้ จำเลยทั้งสองจึงยังไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว -**ฎ.๕๔๙๙/๕๐ วิแพ่ง ม.๒๓๒,๒๓๔,๑๔๒(๕),๒๔๖,๒๔๗ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ ๑ ให้คืนค่าขึ้นศาลแก่จำเลยที่ ๑ จึงเป็นการตรวจและมีคำสั่งปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ ๑ ไปยังศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๓๒ ทางแก้ของจำเลยที่ ๑ คือจำเลยที่ ๑ ต้องยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นไปยังศาลอุทธรณ์ และนำค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาลและนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลภายในกำหนด ๑๕ วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา ๒๓๔ แต่จำเลยที่ ๑ ไม่ดำเนินการตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว กลับยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวเพื่อให้มีคำสั่งคืนอุทธรณ์ให้จำเลยที่ ๑ ทำมาใหม่หรือแก้ไขเพิ่มเติมหรือชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลให้ถูกต้องครบถ้วน เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง การที่จำเลยที่ ๑ ยื่นอุทธรณ์คำสั่งนั้น จึงเห็นได้ว่าเป็นการพยายามเชื่อมโยงเหตุการณ์เพื่อให้กลับไปสู่การวินิจฉัยเรื่องที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ เท่ากับเป็นการหลีกเลี่ยงให้จำเลยที่ ๑ สามารถอุทธรณ์ได้โดยไม่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา ๒๓๔ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ให้จำเลยที่ ๑ จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๒(๕) ๒๔๖ และ ๒๔๗ และถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ไม่เป็นเหตุให้จำเลยที่ ๑ ฎีกาต่อไปได้ มาตรา ๒๓๓ ถ้าศาลยอมรับอุทธรณ์และมีความเห็นว่าการอุทธรณ์นั้นคู่ความที่ศาลพิพากษาให้ชนะจะต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมเพิ่มขึ้น ให้ศาลมีอำนาจกำหนดไว้ในคำสั่งให้ผู้อุทธรณ์นำเงินมาวางศาลอีกให้พอกับจำนวนค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งจะต้องเสียดังกล่าวแล้ว ตามอัตราที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น ก่อนสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์หรือภายในระยะเวลาตามที่ศาลจะเห็นสมควรอนุญาต หรือตามแต่ผู้อุทธรณ์จะมีคำขอขึ้นมาไม่เกินสิบวันนับแต่สิ้นระยะเวลาอุทธรณ์นั้นถ้าผู้อุทธรณ์ไม่นำเงินจำนวนที่กล่าวข้างต้นมาวางศาลภายในกำหนดเวลาที่อนุญาตไว้ก็ให้ศาลยกอุทธรณ์นั้นเสีย **มาตรา ๒๓๔ ถ้าศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์อาจอุทธรณ์คำสั่งศาลนั้นไปยังศาลอุทธรณ์โดยยื่นคำขอเป็นคำร้องต่อศาลชั้นต้น และนำค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาลและนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ศาลได้มีคำสั่ง อธิบาย -ฎ.๑๘๕๑/๕๑ จำเลยยื่นคำร้องขอให้งดการบังคับคดีอันเป็นกระบวนการในชั้นบังคับคดี แต่ศาลชั้นต้น มีคำสั่งให้ยกคำร้อง จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่ง จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ต่อมานั้น แม้การอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยทำขึ้นภายหลังที่ศาลชั้นต้นพิพากษาชี้ขาดตัดสินคดีแล้ว แต่การอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวไม่มีผลกระทบถึงคำพิพากษาศาลชั้นต้นอันทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นต้องถูกกลับ แก้หรือถูกยกไปด้วย อีกทั้งกรณีดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความกระทบกระเทือนจากการยื่นอุทธรณ์เพราะหากจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดียังคงดำเนินการบังคับคดีกับจำเลยได้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนั้น การอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยคดีนี้จึงไม่จำต้องนำเงินที่ต้องชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันมาวางไว้ต่อศาลตาม ป.วิ แพ่ง มาตรา ๒๓๔ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันมาวางไว้ต่อศาลและศาลอุทธรณ์อาศัยเหตุที่จำเลยไม่นำเงินส่วนที่ขาดหรือหาประกันมาวางเพิ่มต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนดแล้วมีคำสั่งว่าจำเลยทิ้งคำร้องอุทธรณ์คำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ จึงเป็นกระบวนพิจารณาและคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย -คำว่าถ้าศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์ จะเป็นไม่รับทั้งฉบับหรือข้อหนึ่งข้อใดก็ได้ การไม่รับไม่ว่าด้วยเหตุใดๆก็เข้ามาตรานี้ -กรณีถ้าศาลคืนอุทธรณ์ตาม ม.๑๘ แล้วโจทก์ไม่ทำตามคำสั่งศาล แล้วศาลไม่รับอุทธรณ์ก็จะเข้ามาตรา ๒๓๔ ซึ่งต้องอุทธรณ์ใน ๑๕ วัน แต่กรณีศาลคืนอุทธรณ์ให้ไปทำมาใหม่ อุทธรณ์ได้ทันทีตาม ม.๑๘ วรรคท้ายและ ม.๒๒๗,๒๒๘ โดยอุทธรณ์ใน ๑ เดือนตามหลักทั่วไปตาม ม.๒๒๓,๒๒๙ แต่ถ้าศาลสั่งผิดไม่สั่งคืนแต่กลับสั่งไม่รับทันทีก็เข้า ม.๒๓๔,๒๓๖ -คร.ฎ.๑๙๙๒/๔๗ ขอขยายเวลาอุทธรณ์ ศาลไม่รับ ไม่อยู่ในบังคับ ม.๒๓๔ -ฎ.๒๕๒๐/๔๘ คู่ความอุทธรณ์แล้วไม่ได้วางเงินค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนตาม ม.๒๒๙ ศาลสั่งไม่รับ อุทธรณ์ได้ทันทีตาม ม.๒๓๒ แต่ศาลได้กำหนดให้นำเงินมาวางในกำหนด ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นการใช้ดุลพินิจของศาลชั้นต้นอันเป็นการสั่งตามดุลพินิจตาม ม.๒๓๒ ซึ่งอุทธรณ์ตาม ม.๒๓๔ -ฎ.๕๔๙๙/๕๐ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ ๑ ให้คืนค่าขึ้นศาลแก่จำเลยที่ ๑ จึงเป็นการตรวจและมีคำสั่งปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ ๑ ไปยังศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๓๒ ทางแก้ของจำเลยที่ ๑ คือจำเลยที่ ๑ ต้องยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นไปยังศาลอุทธรณ์ และนำค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาลและนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลภายในกำหนด ๑๕ วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา ๒๓๔ แต่จำเลยที่ ๑ไม่ดำเนินการตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว กลับยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวเพื่อให้มีคำสั่งคืนอุทธรณ์ให้จำเลยที่ ๑ ทำมาใหม่หรือแก้ไขเพิ่มเติมหรือชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลให้ถูกต้องครบถ้วน เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง การที่จำเลยที่ ๑ ยื่นอุทธรณ์คำสั่งนั้น จึงเห็นได้ว่าเป็นการพยายามเชื่อมโยงเหตุการณ์เพื่อให้กลับไปสู่การวินิจฉัยเรื่องที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ เท่ากับเป็นการหลีกเลี่ยงให้จำเลยที่ ๑ สามารถอุทธรณ์ได้โดยไม่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา ๒๓๔ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ให้จำเลยที่ ๑ จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๒(๕),๒๔๖และ๒๔๗ -ฎ.๗๔๗๕/๔๑ การอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ.มาตรา ๒๓๔ นั้นแม้จะเป็นการอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์คำสั่ง จำเลยก็ต้องนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาล หาใช่ต้องนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันเฉพาะกรณีอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์คำพิพากษาแต่เพียงอย่างเดียวไม่ คดีนี้แม้จำเลยจะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอเลื่อนคดี และงดสืบพยานจำเลยไม่ใช่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นก็ตาม จำเลยก็ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ.มาตรา ๒๓๔ -ฎ. ๓๕๙๘/๔๓ การอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๓๔ แม้เป็นการอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์คำสั่ง ผู้อุทธรณ์ก็ต้องนำค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาลและนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาล ทั้งยังเป็นหน้าที่ของผู้อุทธรณ์ ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว โดยศาลชั้นต้นไม่จำต้องมีคำสั่งให้ปฏิบัติก่อน คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ เพราะเหตุที่ผู้อุทธรณ์ไม่ปฏิบัติตามบทกฎหมายดังกล่าวชอบแล้ว มาตรา ๒๓๕ เมื่อศาลชั้นต้นได้รับอุทธรณ์แล้วให้ส่งสำเนาอุทธรณ์นั้นให้แก่จำเลยอุทธรณ์ภายในกำหนดเจ็ดวัน นับแต่วันที่จำเลยอุทธรณ์ยื่นคำแก้อุทธรณ์ หรือถ้าจำเลยอุทธรณ์ไม่ยื่นคำแก้อุทธรณ์ ภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่ระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๓๗ สำหรับการยื่นคำแก้อุทธรณ์ได้สิ้นสุดลง ให้ศาลส่งอุทธรณ์และคำแก้อุทธรณ์ถ้าหากมี พร้อมทั้งสำนวนและหลักฐานต่าง ๆ ไปยังศาลอุทธรณ์เมื่อศาลอุทธรณ์ได้รับฟ้องอุทธรณ์และสำนวนความไว้แล้ว ให้นำคดีลงสารบบความของศาลอุทธรณ์โดยพลัน มาตรา ๒๓๖ เมื่อคู่ความยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลที่ปฏิเสธไม่ยอมรับอุทธรณ์ให้ศาลส่งคำร้องเช่นว่านั้นไปยังศาลอุทธรณ์โดยไม่ชักช้าพร้อมด้วยคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีของศาลชั้นต้นและฟ้องอุทธรณ์ ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นเป็นการจำเป็นที่จะต้องตรวจสำนวน ให้มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ ในกรณีเช่นนี้ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาคำร้อง แล้วมีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นหรือมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ คำสั่งนี้ให้เป็นที่สุด แล้วส่งไปให้ศาลชั้นต้นอ่าน เมื่อได้อ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ให้รับอุทธรณ์แล้ว ให้ศาลชั้นต้นส่งสำเนาอุทธรณ์แก่จำเลยอุทธรณ์ และภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่จำเลยอุทธรณ์ยื่นคำแก้อุทธรณ์ หรือนับแต่ระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๓๗ สำหรับการยื่นคำแก้อุทธรณ์ได้สิ้นสุดลง ให้ศาลส่งคำแก้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์หรือแจ้งให้ทราบว่าไม่มีคำแก้อุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์ได้รับคำแก้อุทธรณ์หรือแจ้งความเช่นว่าแล้ว ให้นำคดีลง สารบบความของศาลอุทธรณ์โดยพลัน อธิบาย -**ฎ.๔๖๕๙/๕๒ จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยไม่นำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษามาวางภายในกำหนด จึงไม่รับอุทธรณ์จำเลย จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ไว้พิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า จำเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์กลับคำสั่งศาลชั้นต้นและให้สืบพยานใหม่เท่ากับขอให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยจึงต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๒๙ เมื่อจำเลยไม่นำเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวมาวางพร้อมอุทธรณ์ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ ให้ยกคำร้อง เท่ากับศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย คำสั่งศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๓๖ วรรคหนึ่ง จำเลยไม่มีสิทธิฎีกาต่อไป -ฎ.๘๒๗๖/๕๑ คดีนี้ เมื่อจำเลยที่ ๒ อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คำสั่งของศาลตาม ป.วิ.พ. ตามมาตรา ๓๐๙ ทวิ วรรคสอง เป็นที่สุด ย่อมต้องห้ามอุทธรณ์ จึงไม่รับอุทธรณ์ จำเลยที่ ๒ จึงยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ได้วินิจฉัยว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๓๐๙ ทวิ วรรคสอง ย่อมเป็นที่สุดตามวรรคสี่ จึงให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ ๒ จึงมีผลเป็นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นโดยวินิจฉัยถึงเหตุเดียวกัน คำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ย่อมเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๓๖ วรรคหนึ่ง จำเลยที่ ๒ จึงฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ไม่ได้ -ฎ.๑๐๔๔/๕๐ (วิแพ่ง ม.๒๓๒,๒๓๔,๒๓๖) จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีหน้าที่ส่งคำร้องนั้นไปยังศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๓๖ ไม่มีหน้าที่ตรวจสั่งไม่รับเหมือนอย่างชั้นรับหรือไม่รับอุทธรณ์ตามความในมาตรา ๒๓๒ การที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์จึงไม่ชอบ เลยอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบกรณีศาลชั้นต้นไม่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย และศาลชั้นต้นได้ส่งคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์และสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่า จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์พ้นกำหนด ๑๕ วัน ทั้งมิได้นำค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาลและนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลตามมาตรา ๒๓๔ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ยกคำร้อง จึงมีผลเป็นการยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้น คำสั่งของศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุดตามมาตรา ๒๓๖ วรรคหนึ่ง -ฎ.๔๔๙๓/๕๐ (วิแพ่ง ม.๒๓๔,๒๓๖) ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย โดยจำเลยยื่นอุทธรณ์วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๘ และท้ายอุทธรณ์มีข้อความว่า รอฟังคำสั่งอยู่ ถ้าไม่รอให้ถือว่าทราบแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยในวันเดียวกันกับที่จำเลยยื่นอุทธรณ์ ถือว่าจำเลยทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๘ การอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์นั้น จำเลยต้องยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนด ๑๕ วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๓๔ แต่จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๔๘ เกินกำหนด ๑๕ วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ และเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค ๖ มีคำสั่งให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลย โดยเห็นว่าจำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งพ้นกำหนด ๑๕ วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่ง คำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค ๖ดังกล่าวจึงเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๓๖ วรรคหนึ่ง คำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค ๖ ที่ให้เป็นที่สุดนั้น ไม่จำต้องคำนึงว่าในการมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ดังกล่าวจะต้องเป็นกรณีวินิจฉัยเฉพาะเนื้อหาอุทธรณ์เท่านั้น เพราะการที่ศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์อาจมาจากสาเหตุอื่น โดยไม่ต้องวินิจฉัยเนื้อหาอุทธรณ์ว่าต้องห้ามอุทธรณ์หรือไม่ก็ได้ ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๖ มีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย คำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค ๖ จึงเป็นอันถังที่สุดตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งฎีกาคำสั่งของจำเลยมาให้ศาลฎีกาวินิจฉัยนั้นเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย -ฎ.๒๑๙๗/๔๘ ไม่รับอุทธรณ์เพราะเนื้อหาเป็นที่สุดตาม ม.๒๓๖ (เมื่ออุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์แล้วศาลอุทธรณ์ยืนตาม) เช่นไม่รับอุทธรณ์ตาม ม.๑๘,๒๒๔,๒๒๕,๒๒๖ เป็นเนื้อหา จึงเป็นที่สุด แต่หากสั่งตาม ม.๒๒๙ เช่นไม่ชำระค่าธรรมเนียมใช้แทนไม่ใช่ไม่รับเพราะเนื้อหาจึงอุทธรณ์ฎีกาได้ -ตัวอย่างคำถาม โจทก์ฟ้องจำเลยอ้างว่าจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์ขอให้ชำระค่าเสียหาย ๖๐,๐๐๐ บาท จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้โจทก์ ๕๐,๐๐๐ บาท จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่อ้างว่าจำเลยมิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง จำเลยอุทธรณ์คำสั่งว่าจำเลยมิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย หลังจากนั้น ๑ เดือน จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งเพราะยื่นคำร้องเกิน ๑๕ วัน และส่งคำร้องพร้อมสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่าคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยยื่นเกิน ๑๕ วัน นับแต่วันทราบคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ ให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งให้วินิจฉัยว่า (ก) คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์และคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ (ข) จำเลยจะฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลอุทธรณ์ได้หรือไม่ ธงคำตอบ (ข้อสอบเนฯ ข้อ ๕ สมัย ๖๑) (ก) การที่จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยมิได้จงใจขาดนัดพิจารณาเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง แม้เป็นปัญหาในชั้นดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นไม่ใช่ปัญหาในประเด็นที่พิพาทในคดี การพิจารณาถึงสิทธิในการอุทธรณ์ก็ต้องถือทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์เป็นเงินเกิน ๕๐,๐๐๐ บาท ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่เมื่อไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท ย่อมต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยจึงชอบแล้ว (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ ๔๒๔๔/๔๑) ส่วนการที่จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีหน้าที่ต้องส่งคำร้องไปยังศาลอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๓๖ ไม่มีหน้าที่ตรวจสั่งไม่รับเหมือนอย่างชั้นรับหรือไม่รับอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๓๒ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์จึงไม่ชอบ (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ ๔๕๑/๔๙ และ ๑๐๔๔/๕๐) (ข) การที่จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์เกินกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ยื่นเกินกำหนด ให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลย จึงมีผลเป็นการไม่รับอุทธรณ์ยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้น คำสั่งศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุดตามมาตรา ๒๓๖ วรรคหนึ่ง (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๔๔/๕๐, ๔๔๙๓/๕๐ และ ๘๐๑/๕๑) มาตรา ๒๓๗ จำเลยอุทธรณ์อาจยื่นคำแก้อุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นได้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันส่งสำเนาอุทธรณ์ ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ห้ามมิให้ศาลแสดงว่า จำเลยอุทธรณ์ขาดนัดเพราะไม่ยื่นคำแก้อุทธรณ์ อธิบาย -กรณีศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ โยงมาตรา ๒๓๒-๒๓๕-๒๓๗ -กรณีศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์ โยงมาตรา ๒๓๔-๒๓๖-๒๓๗ มาตรา ๒๓๘ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๔๓ (๓) ในคดีที่อุทธรณ์ได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายนั้น การวินิจฉัยปัญหาเช่นว่านี้ ศาลอุทธรณ์จำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน มาตรา ๒๓๙ อุทธรณ์คำสั่งนั้นจะต้องพิจารณาก่อนอุทธรณ์คำพิพากษาเท่าที่สามารถจะทำได้ แม้ถึงว่าอุทธรณ์คำพิพากษานั้นจะได้ลงไว้ในสารบบความของศาลอุทธรณ์ก่อนอุทธรณ์คำสั่งนั้นก็ดี มาตรา ๒๔๐ ศาลอุทธรณ์มีอำนาจที่จะวินิจฉัยคดีโดยเพียงแต่พิจารณาฟ้องอุทธรณ์ คำแก้อุทธรณ์ เอกสารและหลักฐานทั้งปวง ในสำนวนความซึ่งศาลชั้นต้นส่งขึ้นมาเว้นแต่ (๑) ศาลอุทธรณ์ได้นัดฟังคำแถลงการณ์ด้วยวาจาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๔๑ แต่ถ้าคู่ความฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่ายไม่มาศาลในวันกำหนดนัด ศาลอุทธรณ์อาจดำเนินคดีไปได้และคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์นั้น ไม่ให้ถือเป็นคำพิพากษาโดยขาดนัด (๒) ถ้าศาลอุทธรณ์ยังไม่เป็นที่พอใจในการพิจารณาฟ้องอุทธรณ์ คำแก้อุทธรณ์และพยานหลักฐาน ที่ปรากฏในสำนวน ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๒๓๘ และเฉพาะในปัญหาที่อุทธรณ์ให้ศาลมีอำนาจที่จะกำหนดประเด็นทำการสืบพยานที่สืบมาแล้ว หรือพยานที่เห็นควรสืบต่อไป และพิจารณาคดีโดยทั่ว ๆ ไป ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้สำหรับการพิจารณาในศาลชั้นต้น และให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการพิจารณาในศาลชั้นต้น มาใช้บังคับโดยอนุโลม (๓) ในคดีที่คู่ความอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าศาลชั้นต้นยังมิได้พิจารณาหรือวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญในประเด็น ให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจทำคำสั่งให้ศาลชั้นต้นพิจารณาปัญหาข้อเท็จจริงเช่นว่านั้น แล้วพิพากษาไปตามรูปความ มาตรา ๒๔๑ ถ้าคู่ความฝ่ายใดประสงค์จะมาแถลงการณ์ด้วยวาจาในชั้นศาลอุทธรณ์ ให้ขอมาในตอนท้ายคำฟ้องอุทธรณ์ หรือคำแก้อุทธรณ์ แล้วแต่กรณี และให้ศาลอุทธรณ์กำหนดนัดฟังคำแถลงการณ์ด้วยวาจานั้น เว้นแต่ศาลอุทธรณ์จะพิจารณาเห็นว่าการแถลงการณ์ด้วยวาจาไม่จำเป็นแก่คดี จะสั่งงดฟังคำแถลงการณ์เสียก็ได้ ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์นัดฟังคำแถลงการณ์ด้วยวาจา คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งชอบที่จะไปแถลงการณ์ด้วยวาจาในชั้นศาลอุทธรณ์ได้ด้วย ถึงแม้ว่าตนจะมิได้แสดงความประสงค์ไว้ การแถลงการณ์ด้วยวาจา ผู้ขอแถลง เป็นผู้แถลงก่อน แล้วอีกฝ่ายหนึ่งแถลงแก้แล้วผู้ขอแถลง แถลงได้อีกครั้งหนึ่ง ถ้าขอแถลงทั้งสองฝ่าย ให้ผู้อุทธรณ์แถลงก่อน ถ้าทั้งสองฝ่ายอุทธรณ์และต่างขอแถลง ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่ง มาตรา ๒๔๒ เมื่อศาลอุทธรณ์ได้ตรวจสำนวนความและฟังคู่ความทั้งปวง หรือสืบพยานต่อไปดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๒๔๐ เสร็จแล้ว ให้ศาลอุทธรณ์ชี้ขาดตัดสินอุทธรณ์โดยประการใดประการหนึ่งในสี่ประการนี้ (๑) ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่า อุทธรณ์นั้นต้องห้ามตามกฎหมาย ก็ให้ยกอุทธรณ์นั้นเสียโดยไม่ต้องวินิจฉัยในประเด็นแห่งอุทธรณ์ (๒) ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นถูกต้อง ไม่ว่าโดยเหตุเดียวกันหรือเหตุอื่น ก็ให้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นนั้น (๓) ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำชี้ขาดของศาลชั้นต้นไม่ถูกต้อง ให้กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเสีย และพิพากษาในปัญหาเหล่านั้นใหม่ (๔) ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นถูกแต่บางส่วน และผิดบางส่วน ก็ให้แก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นไปตามนั้น โดยพิพากษายืนบางส่วน กลับบางส่วน และมีคำพิพากษาใหม่แทนส่วนที่กลับนั้น มาตรา ๒๔๓ ให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจดังต่อไปนี้ด้วย คือ (๑) เมื่อคดีปรากฏเหตุที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง และศาลอุทธรณ์เห็นว่ามีเหตุอันสมควร ก็ให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้นนั้นเสีย แล้วส่งสำนวนคืนไปยังศาลชั้นต้นเพื่อให้พิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่ ในกรณีเช่นนี้ศาลชั้นต้นอาจประกอบด้วยผู้พิพากษาอื่นนอกจากที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่งมาแล้ว และคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่นี้ อาจวินิจฉัยชี้ขาดคดีเป็นอย่างอื่นนอกจากคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถูกยกได้ (๒) เมื่อคดีปรากฏเหตุที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการพิจารณาหรือมีเหตุที่ศาลได้ปฏิเสธไม่สืบพยานตามที่ผู้อุทธรณ์ร้องขอ และศาลอุทธรณ์เห็นว่ามีเหตุอันสมควร ก็ให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้นนั้นแล้วกำหนดให้ศาลชั้นต้นซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาคณะเดิมหรือผู้พิพากษาอื่น หรือศาลชั้นต้นอื่นใดตามที่ศาลอุทธรณ์จะเห็นสมควร พิจารณาคดีนั้นใหม่ทั้งหมดหรือบางส่วน และพิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่ (๓) ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์จำต้องถือตามข้อเท็จจริงของศาลชั้นต้น ถ้าปรากฏว่า (ก) การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงนั้นผิดต่อกฎหมาย ศาลอุทธรณ์อาจฟังข้อเท็จจริงใหม่แทนข้อเท็จจริงของศาลชั้นต้น แล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีไปตามนั้น หรือ (ข) ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นฟังมาไม่พอแก่การวินิจฉัยข้อกฎหมาย ศาลอุทธรณ์อาจทำคำสั่งให้ยกคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้นนั้นเสีย แล้วกำหนดให้ศาลชั้นต้นซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาคณะเดิม หรือผู้พิพากษาอื่น หรือศาลชั้นต้นอื่นใด ตามที่ศาลอุทธรณ์เห็นสมควรพิจารณาคดีนั้นใหม่ทั้งหมดหรือบางส่วน โดยดำเนินตามคำชี้ขาดของศาลอุทธรณ์แล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีไปตามรูปความ ทั้งนี้ไม่ว่าจะปรากฏจากการอุทธรณ์หรือไม่ ในคดีทั้งปวงที่ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่ตามมาตรานี้ คู่ความชอบที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่เช่นว่านี้ไปยังศาลอุทธรณ์ได้ตามบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ มาตรา ๒๔๔ ศาลอุทธรณ์จะอ่านคำพิพากษานั้นเองหรือจะส่งไปให้ศาลชั้นต้นอ่านก็ได้ ในกรณีเหล่านี้ให้ศาลที่อ่านคำพิพากษามีคำสั่งกำหนดนัดวันอ่านส่งให้แก่คู่ความอุทธรณ์ทุกฝ่าย *มาตรา ๒๔๕ คำพิพากษาหรือคำสั่งชั้นอุทธรณ์ให้มีผลเฉพาะระหว่างคู่ความชั้นอุทธรณ์ เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้ (๑) ถ้าคำพิพากษาหรือคำสั่งที่อุทธรณ์นั้นเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ และคู่ความแต่บางฝ่ายเป็นผู้อุทธรณ์ซึ่งทำให้คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นมีผลเป็นที่สุดระหว่างคู่ความอื่น ๆ ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าควรกลับคำพิพากษาหรือคำสั่งที่อุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจชี้ขาดว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์ ให้มีผลระหว่างคู่ความทุกฝ่ายในคดีในศาลชั้นต้นด้วย (๒) ถ้าได้มีการอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาในคดีแทนคู่ความฝ่ายใด คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ย่อมมีผลบังคับแก่คู่ความฝ่ายนั้นด้วย อธิบาย -เทียบกับมาตรา ๑๔๕ คำพิพากษาผูกพันคู่ความ *มาตรา ๒๔๖ เว้นแต่ที่ได้บัญญัติไว้ดังกล่าวมาข้างต้นบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินคดีในศาลชั้นต้นนั้น ให้ใช้บังคับแก่การพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นอุทธรณ์ได้โดยอนุโลม อธิบาย -เช่นการถอนฟ้องตาม ม.๑๗๕ ทิ้งฟ้อง ม.๑๗๔(๒),การสั่งจำหน่ายคดี เป็นต้น ลักษณะ ๒ ฎีกา มาตรา ๒๔๗ ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาหรือมีคำสั่งในชั้นอุทธรณ์แล้วนั้น ให้ยื่นฎีกาได้ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์นั้นและภายใต้บังคับบทบัญญัติสี่มาตราต่อไปนี้กับกฎหมายอื่นว่าด้วยการฎีกา ให้นำบทบัญญัติในลักษณะ ๑ ว่าด้วยอุทธรณ์มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม อธิบาย -การโต้แย้งคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้นเรียกว่าอุทธรณ์ การโต้แย้งคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์เรียกว่าฎีกา -มาตรา ๒๔๗ ฎีกาไปยังศาลฎีกา แต่มาตรา ๒๒๓ ทวิ อุทธรณ์ไปยังศาลฎีกา **มาตรา ๒๔๘ ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริง เว้นแต่ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลอุทธรณ์ได้มีความเห็นแย้งหรือผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นก็ดี ศาลอุทธรณ์ก็ดี ได้รับรองไว้หรือรับรองในเวลาตรวจฎีกาว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาได้ ถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคำรับรองเช่นว่านี้ ต้องได้รับอนุญาตให้ฎีกาเป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์(ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมฉบับปัจจุบันคือตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์) บทบัญญัติในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับในคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัว และคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เว้นแต่ในคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา คดีเกี่ยวกับการบังคับวงศ์ญาติทั้งหลายและบริวารของผู้ถูกฟ้องขับไล่ ซึ่งอยู่บนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งคู่ความในคดีฟ้องขับไล่นั้นต้องห้ามฎีกาข้อเท็จจริงตามวรรคสอง ถ้าศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้น หรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย ไม่ว่าศาลจะฟังว่าบุคคลดังกล่าวสามารถแสดงอำนาจพิเศษให้ศาลเห็นได้หรือไม่ห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริง เว้นแต่จะได้มีความเห็นแย้งหรือคำรับรอง หรือหนังสืออนุญาตให้ฎีกาตามที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง การขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาได้ ให้ผู้ฎีกายื่นคำร้องถึงผู้พิพากษานั้นพร้อมกับคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นเมื่อศาลได้รับคำร้องเช่นว่านั้น ให้ส่งคำร้องพร้อมด้วยสำนวนความไปยังผู้พิพากษาดังกล่าวเพื่อพิจารณารับรอง อธิบาย -เทียบเคียงกับ ม.๒๒๔ -ฎ.๑๒๒๐/๓๙ คดีมีทุนทรัพย์และไม่มีทุนทรัพย์รวมในคดีเดียวกันจะต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงหรือไม่ ต้องพิจารณาว่าคดีนั้นมีคำขอใดเป็นหลัก คำขอใดเป็นคำขอที่ต่อเนื่อง คำขอให้เพิกถอนนิติกรรมขายที่ดินพิพาทเป็นคำขอหลัก คำขอให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายเป็นคำขอต่อเนื่อง เมื่อคำขอหลักเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ คำขอต่อเนื่องแม้มีทุนทรัพย์ไม่ถึงสองแสนบาทก็ไม่ต้องห้ามฎีกาข้อเท็จจริง -ฎ.๕๑๘๓/๓๐,๑๓๗๖/๔๔ ฟ้องหย่า และขอแบ่งสินสมรสเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในครอบครัว -ฎ.๓๙๔๕/๓๓ และ ๓๘๓๐/๔๐ โจทก์ฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งตามหนังสือสัญญาเช่ามีข้อความเกี่ยวกับค่าเช่าว่า ค่าเช่าเดือนละ ๑,๐๐๐ บาท และผู้เช่าชำระเงินกินเปล่าแล้ว เมื่อเงินกินเปล่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าเช่าที่ชำระกันล่วงหน้าจึงต้องนำมาคำนวณเฉลี่ยรวมเป็นค่าเช่าด้วย เงินกินเปล่ามีจำนวน ๒,๐๐๐,๐๐๐บาท กำหนดเวลาเช่า ๑๑ ปี ๖ เดือน คิดเป็นค่าเช่าเฉลี่ยเดือนละ ๑๔,๔๙๒.๗๕ บาท เมื่อรวมกับค่าเช่าปกติเดือนละ ๑,๐๐๐ บาท จึงเป็นค่าเช่าเดือนละ ๑๕,๔๙๒.๗๕ บาท ในขณะยื่นคำฟ้อง ซึ่งเป็นค่าเช่าที่เกินเดือนละ ๔,๐๐๐ บาท และ ๑๐,๐๐๐ บาท จึงไม่ต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ฎีกาในข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๒๔ วรรคสอง และมาตรา ๒๔๘ วรรคสอง คำพิพากษาฎีกาเรื่องนี้เป็นการพิพาทกันก่อนมีการแก้ไขทุนจำนวนทุนทรัพย์ในคดีมโนสาเร่ ถ้าเป็นคดีที่เกิดในปัจจุบันก็จะเป็นคดีมโนสาเร่ตามมาตรา ๑๘๙(๒) คือ คดีฟ้องขับไล่บุคคลใดๆ ออกจากสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ ๓๐,๐๐๐ บาท -ฎ. ๑๙๒๖/๓๗ ( ประชุมใหญ่ ) การคำนวณทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจะนำดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนถึงวันยื่นฎีกามารวมคำนวณด้วยไม่ได้ ฉะนั้น เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกามีจำนวนไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๘ วรรคแรก -ฎ.๘๐๑๙/๕๑ โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จำเลยเข้าไปปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินพิพาท ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนบ้านออกไปจากที่ดินพิพาท และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายอัตราเดือนละ ๓๐,๐๐๐ บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนบ้านและส่งมอบที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์ จำเลยให้การกล่าวแก้ข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๘๒ จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามราคาที่ดินพิพาท เมื่อที่ดินพิพาทราคา ๑๐๔,๐๐๐ บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงมีเพียง ๑๐๔,๐๐๐ บาท ส่วนค่าเสียหายเดือนละ ๓๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันหลังจากวันฟ้องเป็นค่าเสียหายในอนาคตไม่อาจนำไปคำนวณรวมเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาได้ จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๘ วรรคหนึ่ง -ฎ.๙๑๘๘/๕๒ ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๘ วรรคหนึ่ง มิได้บัญญัติให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคมีอำนาจอนุญาตให้ฎีกาในข้อเท็จจริง และบุคคลผู้มีอำนาจอนุญาตให้ฎีกาได้ตามมาตราดังกล่าวก็บัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้วว่า คือ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติว่าด้วยผู้มีอำนาจอนุญาตให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับโดยอนุโลมได้ ดังนั้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค ๑ จึงไม่มีอำนาจอนุญาตให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง -ฎ.๕๓๕๒/๕๒ จำเลยทั้งสิบสามคนมีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท การคำนวณทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาตามฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งต้องถือตามราคาที่ดินในส่วนที่จำเลยสืบสิทธิมา มิใช่แยกคำนวณตามส่วนที่จำเลยแต่ละคนมีกรรมสิทธิ์เพราะไม่ปรากฏว่าจำเลยแต่ละคนแยกการครอบครองเป็นส่วนสัด เมื่อโจทก์ระบุในคำแก้ฎีกาว่า ที่ดินพิพาทตามฟ้องโจทก์และตามฟ้องแย้งราคาตารางวาละ ๑๒๕ บาท เท่ากับไร่ละ ๕๐,๐๐๐ บาท จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาตามฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งในส่วนของจำเลยทุกคน จึงเกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยทั้งสิบสามไม่ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๘ วรรคหนึ่ง -*ฎ.๑๐๖๗/๕๒ โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ ๑ รับผิดชำระค่าปรับเพราะผิดสัญญาซื้อขายรวม ๔ ฉบับ โดยมีจำเลยที่ ๒ ทำหนังสือค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายรายฉบับรวม ๔ ฉบับ หากจำเลยที่ ๑ ผิดสัญญาซื้อขายโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าปรับและหลักประกันสัญญาตามรายสัญญา แม้โจทก์ฟ้องบังคับตามสัญญาซื้อขายรวมกันมาทั้งสี่ฉบับการกำหนดค่าปรับก็ต้องพิจารณาภายในวงเงินตามสัญญาซื้อขายแต่ละฉบับ จำนวนทุนทรัพย์แห่งคดีจึงต้องคำนวณแยกตามสัญญาซื้อขายและหนังสือค้ำประกันนั้นเป็นรายสัญญา เมื่อมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาในแต่ละสัญญาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๘ วรรคหนึ่ง -ฎ.๗๙๔/๕๒ คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกอันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้และไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้รวมอยู่ด้วยกันนั้น ในชั้นฎีกาจำเลยฎีกาเฉพาะค่าเสียหายว่าโจทก์ทั้งสี่ไม่ได้เสียหายตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค ๑ อันเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาซึ่งเป็นค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสี่จะมีสิทธิเรียกได้ไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๘ วรรคหนึ่ง -**ฎ.๖๒๓๐/๔๑ แม้คดีนี้โจทก์จะฟ้องขับไล่จำเลยออกจากตึกแถวพิพาทและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาท แต่เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ขับไล่จำเลยและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ ๘,๐๐๐ บาท โจทก์และจำเลยไม่ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาดังกล่าวย่อมถือได้ว่าในขณะที่ยื่นคำฟ้องนั้นตึกแถวพิพาทอาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละ ๑๐,๐๐๐ บาท คดีจึงต้องห้ามคู่ความมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ.มาตรา ๒๔๘ วรรคสอง จำเลยฎีกาว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีและงดสืบพยานจำเลยเป็นการไม่ชอบนั้น เป็นการฎีกาโต้แย้งดุลพินิจของศาลว่าสมควรอนุญาตให้เลื่อนคดีและสืบพยานต่อไปหรือไม่ อันเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง แม้จะเป็นการฎีกาโต้แย้งคำสั่งระหว่างพิจารณาตามมาตรา ๒๒๖ ก็ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวเช่นเดียวกัน *มาตรา ๒๔๙ ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นฎีกานั้นคู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในฎีกา และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้งจะเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย การวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่เป็นสาระแก่คดีข้อใดไม่ควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลฎีกา ให้กระทำโดยความเห็นชอบของรองประธานศาลฎีกาซึ่งประธานศาลฎีกามอบหมาย แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงอำนาจของประธานศาลฎีกาตามมาตรา ๑๔๐ วรรคสอง ถ้าคู่ความฝ่ายใดมิได้ยกปัญหาข้อใดอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์หรือคู่ความฝ่ายใดไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายใด ๆ ขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ เพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ หรือเพราะเหตุเป็นเรื่องที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวนพิจารณาชั้นฎีกา คู่ความที่เกี่ยวข้องย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นได้ อธิบาย -ฎ.๘๒๐/๕๓ ฎีกาประการแรกของโจทก์กล่าวถึงแต่เฉพาะคดีของบุคคลอื่นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษาอย่างไร ซึ่งเป็นคนละคดีกับคดีของโจทก์ ย่อมมีข้อที่จะต้องพิจารณาเฉพาะของแต่ละคดี โจทก์มิได้แสดงให้เห็นว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ในคดีของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือข้อเท็จจริงอย่างไร ส่วนฎีกาประการที่สองที่อ้างว่าคำพิพากษาในคดีอาญาที่ยกฟ้องโจทก์และคดีดังกล่าวถึงที่สุด ย่อมผูกพันจำเลยที่ ๑ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓ จึงเป็นคำพิพากษาที่ซ้ำซ้อนกับคดีอาญาดังกล่าว นั้น ไม่ปรากฏว่ามีข้อกฎหมายดังที่โจทก์กล่าวอ้าง และก็เป็นข้อฎีกาที่มิได้ชี้ให้เห็นว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ไม่ชอบอย่างไรเช่นเดียวกัน ฎีกาของโจทก์จึงเป็นฎีกาที่มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓ เป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๙ วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย -ฎ.๕๗๖๕/๕๒ วิแพ่ง ม.๒๔๙ วรรคหนึ่ง ฎีกาของโจทก์ทั้งสองที่โต้แย้งเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค ๘ มาไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๘ ได้ จึงเป็นฎีกาในข้อที่เป็นสาระแก่คดีอันไม่ควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๙ วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คำฟ้องของโจทก์ขอให้บังคับจำเลยที่ ๒ รับผิดในฐานะเป็นนายจ้างของจำเลยที่ ๑ และเป็นผู้ครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์บรรทุกน้ำมันคันเกิดเหตุที่จำเลยที่ ๑ ขับในกิจการของจำเลยที่ ๒ มิได้ฟ้องขอให้รับผิดในฐานะเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. ประเภทหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดที่สอดเข้าไปจัดการงานของห้างดังกล่าว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ จึงเป็นฎีกานอกฟ้องนอกประเด็นและเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค ๘ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๙ วรรคหนึ่ง ทั้งมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย -ฎ.๕๖๕๘/๕๒ แม้จำเลยทั้งสองจะมิได้ยกปัญหาว่าโจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยสุจริตหรือไม่ขึ้นอ้างในศาลล่างทั้งสอง แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิยกขึ้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๙วรรคสอง ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์กับจำเลยที่ ๒ คนละครึ่ง การที่จำเลยที่ ๒ ทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๑ โดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอม นิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทดังกล่าวย่อมไม่มีผลผูกพันที่ดินพิพาทในส่วนของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๖๑ วรรคสอง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ เฉพาะส่วนที่โจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของอยู่ครึ่งหนึ่งได้ ที่จำเลยทั้งสองอ้างข้อเท็จจริงตามหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัท ล. มาท้ายฎีกานั้น จำเลยทั้งสองเพิ่งกล่าวอ้างขึ้นในชั้นฎีกา เป็นการนำพยานเอกสารเข้าสู่สำนวนความโดยไม่ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๘๘ และโจทก์ไม่มีโอกาสซักค้านเกี่ยวกับเอกสารนี้ ข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าวจึงรับฟังไม่ได้ -ฎ.๑๐๓๔๒/๕๑ คำฟ้องฎีกาของจำเลยบรรยายแต่เพียงว่า ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๐๘๙/๒๕๔๔ ของศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยแล้วว่า บ. เป็นหนี้จำนองโจทก์ โดยจำเลยซึ่งเป็นจำเลยที่ ๒ ในคดีดังกล่าว ศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้อง ที่โจทก์มาดำเนินคดีนี้แก่จำเลยอีกครั้งหนึ่งจึงเป็นฟ้องซ้ำ โดยไม่ได้กล่าวบรรยายฟ้องให้เห็นว่าประเด็นในคดีนี้กับคดีแพ่งดังกล่าวเป็นประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุเดียวกันมาแล้วอย่างไร อันจะเป็นการฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๘ คำฟ้องฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงเป็นคำฟ้องที่มิได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งซึ่งข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างในการยื่นฎีกา ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๙ วรรคหนึ่ง การฟ้องขอให้จำเลยซึ่งเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองไถ่ถอนจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา ๗๓๗ แม้เป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ แต่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๔ ทวิ โจทก์ผู้รับจำนองจะเลือกฟ้องต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาก็ได้ -ตัวอย่างคำถาม โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาจำเลยซึ่งเป็นสามีได้อุปการะเลี้ยงดูยกย่องหญิงอื่นเป็นภริยา ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยและโจทก์หย่าขาดจากกันและให้จำเลยแบ่งสินสมรสให้โจทก์ครึ่งหนึ่งเป็นเงิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท จำเลยให้การว่าจำเลยมิได้ประพฤติเสื่อมเสียอันเป็นเหตุหย่าตามที่โจทก์ฟ้อง และไม่ได้มีสินสมรสตามฟ้อง โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนด ๑ ปีนับแต่โจทก์อ้างว่าจำเลยได้อุปการะเลี้ยงดูยกย่องหญิงอื่นเป็นภริยาฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยมิได้ประพฤติเสื่อมเสียอันเป็นเหตุหย่าตามที่โจทก์ฟ้อง คดีไม่จำต้องวินิจฉัยเรื่องแบ่งสินสมรสและอายุความต่อไป พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ขอให้พิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกันและแบ่งสินสมรส จำเลยแก้อุทธรณ์ว่าจำเลยมิได้ประพฤติเสื่อมเสียอันเป็นเหตุหย่าตามฟ้องและไม่ได้มีสินสมรสตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกันให้แบ่งสินสมรสให้โจทก์กึ่งหนึ่งเป็นเงิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท จำเลยฎีกาว่า(ก) ไม่ได้มีสินสมรสตามฟ้อง และ(ข) คดีโจทก์ขาดอายุความให้วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยในข้อ (ก) และ (ข) ได้หรือไม่ ธงคำตอบ (ข้อสอบเนฯ ข้อ ๕ สมัย ๕๘) (ก) คดีฟ้องหย่าและขอแบ่งสินสมรสเป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิในครอบครัวศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยแบ่งสินสมรสให้โจทก์ครึ่งหนึ่งเป็นเงิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท จำเลยฎีกาว่าไม่ได้มีสินสมรสตามฟ้อง ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาเป็นเงิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท และแม้ไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ก็ไม่ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง เพราะเป็นคดีเกี่ยวด้วยกับสิทธิในครอบครัว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๘ วรรคสอง (คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๑๘๓/๓๐ และ ๑๓๗๖/๔๔) (ข) การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยมิได้ประพฤติเสื่อมเสียอันเป็นเหตุหย่าตามที่โจทก์ฟ้อง ปัญหาเรื่องแบ่งสินสมรสและอายุความไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ว่ามีเหตุหย่าตามฟ้องและขอให้แบ่งสินสมรส จำเลยไม่ได้ยกปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์ขาดอายุความตั้งเป็นประเด็นไว้ในคำแก้อุทธรณ์ ถือว่าไม่มีประเด็นเรื่องอายุความในชั้นอุทธรณ์ ปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นการที่จำเลยฎีกาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ วรรคหนึ่ง และไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามมาตรา ๒๔๙ วรรคสอง จำเลยจึงไม่มีสิทธิฎีกาในปัญหาดังกล่าว(คำพิพากษาฎีกาที่๕๑๓๕/๔๓) ดังนั้น ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยในข้อ (ก) และไม่รับฎีกาของจำเลยในข้อ (ข) มาตรา ๒๕๐ (ยกเลิก) มาตรา ๒๕๑ ถ้าคู่ความซึ่งแพ้คดีในศาลชั้นต้นได้อุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ได้พิพากษากลับให้ตนชนะในข้อสาระสำคัญอย่างใดอย่างหนึ่ง คู่ความฝ่ายนั้นจะยื่นคำขอต่อศาลชั้นต้นให้ถอนการยึดหรืออายัดทรัพย์สิน หรือคืนเงินจำนวนที่วางไว้ต่อศาลในข้อนั้น ๆ ก็ได้ มาตรา ๒๕๒ ถ้าคู่ความยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่ยอมรับฎีกา ให้ศาลชั้นต้นส่งคำร้องเช่นว่านั้นไปยังศาลฎีกาพร้อมกับฎีกาและคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ถ้าศาลฎีกาเห็นจำเป็นจะต้องตรวจสำนวน ให้มีคำสั่งให้ศาลล่างส่งสำนวนนั้นไปยังศาลฎีกา ภาค ๔ วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา และการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ลักษณะ ๑ วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา หมวด ๑ หลักทั่วไป มาตรา ๒๕๓ ถ้าโจทก์มิได้มีภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานอยู่ในราชอาณาจักรและไม่มีทรัพย์สินที่อาจถูกบังคับคดีได้อยู่ในราชอาณาจักร หรือถ้าเป็นที่เชื่อได้ว่าเมื่อโจทก์แพ้คดีแล้วจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย จำเลยอาจยื่นคำร้องต่อศาลไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนพิพากษาขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์วางเงินต่อศาลหรือหาประกันมาให้เพื่อการชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้ ถ้าศาลไต่สวนแล้วเห็นว่า มีเหตุอันสมควรหรือมีเหตุเป็นที่เชื่อได้ แล้วแต่กรณีก็ให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์วางเงินต่อศาลหรือหาประกันมาให้ตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ตามที่เห็นสมควรก็ได้ ถ้าโจทก์มิได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลตามวรรคสอง ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เว้นแต่จำเลยจะขอให้ดำเนินการพิจารณาต่อไป หรือมีการอุทธรณ์คำสั่งศาลตามวรรคสอง อธิบาย -มาตรานี้เป็นบทคุ้มครองจำเลยระหว่างพิจารณา -จำเลยที่ขอคุ้มครอง ม.๒๕๓ รวมถึงจำเลยฟ้องแย้ง(โจทก์เดิม)และจำเลยในคดีร้องขัดทรัพย์ด้วย -ศาลสั่งจำหน่ายคดีตาม ม.๒๕๓ วรรคท้าย ยื่นฟ้องใหม่ได้ -สรุปผลของคำสั่งศาล ถ้าศาลสั่งให้ยกคำร้อง จำเลยอุทธรณ์ฎีกาได้ตาม ๒๒๘(๒),๒๔๗ ไม่ต้องโต้แย้งไว้ก่อนแต่อย่างใด -คำร้องของจำเลยจะต้องอาศัยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ก. โจทก์ไม่ใช่ผู้อยู่ในอำนาจศาล หรือ ข. มีเหตุแน่นแฟ้นอันเป็นที่เชื่อได้ว่า เมื่อโจทก์แพ้คดีแล้วจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายทั้งหลาย คำว่า "ไม่ใช่ผู้อยู่ในอำนาจศาล" หมายความถึง ผู้ที่ไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทยโดยไม่จำกัดว่าเป็นคนสัญชาติใด ฉะนั้นแม้โจทก์จะเป็นคนสัญชาติไทยแต่มีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศจำเลยก็ย่อมยื่นคำร้องโดยอ้างเหตุตามข้อ ก. นี้ได้และเมื่อมีเหตุตามข้อ ก. แล้วก็ไม่ต้องคำนึงว่าจะมีเหตุตามข้อ ข. หรือไม่อีกเช่น โจทก์อยู่ที่ประเทศซาอุดิอาราเบีย จึงไม่ใช่ผู้อยู่ในอำนาจศาล แม้จำเลยมิได้นำสืบว่าโจทก์แพ้แล้วจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย ศาลก็มีคำสั่งให้โจทก์วางเงินประกันตามคำร้องของจำเลยได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่๓๑๕๕/๒๖) -ฎ.๑๑๐๗/๓๐ การไต่สวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 253 วรรคสอง นั้น หมายถึงการไต่สวนถึงเหตุที่ทำให้มีการร้องขอให้โจทก์วางเงินซึ่งมีอยู่ 2 เหตุ คือโจทก์ไม่ใช่ผู้อยู่ในอำนาจศาล(มิได้มีภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานอยู่ในราชอาณาจักร)เหตุหนึ่ง หรือถ้ามีเหตุอันเป็นที่เชื่อได้ว่าเมื่อโจทก์แพ้คดีแล้วจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอีกเหตุหนึ่ง เมื่อจำเลยร้องขอให้โจทก์วางเงินประกันโดยอ้างเหตุว่าโจทก์มีภูมิลำเนาในประเทศอังกฤษ ไม่ใช่ผู้อยู่ในอำนาจศาล(มิได้มีภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานอยู่ในราชอาณาจักร) และโจทก์ยอมรับในคำแถลงคัดค้านแล้วว่าโจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศอังกฤษ จึงไม่มีความจำเป็นที่ศาลชั้นต้นจะต้องทำการไต่สวนอีก จำนวนเงินที่ศาลจะสั่งให้โจทก์วางประกันนั้น ตามมาตรา 253 วรรคสองดังกล่าว บัญญัติให้ศาลกำหนดจำนวนเงินที่จะให้โจทก์วางประกันรวมตลอดทั้งระยะเวลาและเงื่อนไขตามที่เห็นสมควรจึงไม่จำเป็นต้องทำการไต่สวนอีกเช่นกัน ศาลชอบที่จะกำหนดจำนวนเงินประกันไปตามที่เห็นสมควร โดยคำนึงถึงความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๖๑ และอัตราค่าทนายความท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๕๓ ทวิ ในกรณีที่โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาคัดค้านคำพิพากษาถ้ามีเหตุใดเหตุหนึ่งตามมาตรา ๒๕๓ วรรคหนึ่ง จำเลยอาจยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาแล้วแต่กรณีไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนพิพากษา ขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์วางเงินต่อศาลหรือหาประกันมาให้เพื่อการชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้ ในระหว่างที่ศาลชั้นต้นยังมิได้ส่งสำนวนความไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาคำร้องตามวรรคหนึ่งให้ยื่นต่อศาลชั้นต้น และให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวน แล้วส่งคำร้องนั้นพร้อมด้วยสำนวนความไปให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาสั่ง ให้นำความในมาตรา ๒๕๓ วรรคสองและวรรคสาม มาใช้บังคับแก่การพิจารณาในชั้นอุทธรณ์และฎีกาโดยอนุโลม **มาตรา ๒๕๔ ในคดีอื่น ๆ นอกจากคดีมโนสาเร่ โจทก์ชอบที่จะยื่นต่อศาลพร้อมกับคำฟ้องหรือในเวลาใด ๆ ก่อนพิพากษา ซึ่งคำขอฝ่ายเดียว ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งภายในบังคับแห่งเงื่อนไขซึ่งจะกล่าวต่อไป เพื่อจัดให้มีวิธีคุ้มครองใด ๆ ดังต่อไปนี้ (๑) ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจำเลยทั้งหมดหรือบางส่วนไว้ก่อนพิพากษา รวมทั้งจำนวนเงินหรือทรัพย์สินของบุคคลภายนอกซึ่งถึงกำหนดชำระแก่จำเลย (๒) ให้ศาลมีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไป ซึ่งการละเมิดหรือการผิดสัญญาหรือการกระทำที่ถูกฟ้องร้อง หรือมีคำสั่งอื่นใดในอันที่จะบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายที่โจทก์อาจได้รับต่อไปเนื่องจากการกระทำของจำเลยหรือมีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยโอน ขาย ยักย้ายหรือจำหน่ายซึ่งทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจำเลย หรือมีคำสั่งให้หยุดหรือป้องกันการเปลืองไปเปล่าหรือการบุบสลายซึ่งทรัพย์สินดังกล่าว ทั้งนี้ จนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น (๓) ให้ศาลมีคำสั่งให้นายทะเบียน พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลอื่นผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ระงับการจดทะเบียน การแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน หรือการเพิกถอนการจดทะเบียนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจำเลยหรือที่เกี่ยวกับการกระทำที่ถูกฟ้องร้องไว้ชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (๔) ให้จับกุมและกักขังจำเลยไว้ชั่วคราว ในระหว่างระยะเวลานับแต่ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ได้อ่านคำพิพากษา หรือคำสั่งชี้ขาดคดีหรือชี้ขาดอุทธรณ์ไปจนถึงเวลาที่ศาลชั้นต้นได้ส่งสำนวนความที่อุทธรณ์หรือฎีกาไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณี คำขอตามมาตรานี้ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นมีอำนาจที่จะสั่งอนุญาตหรือยกคำขอเช่นว่านี้ อธิบาย -มาตรานี้เป็นบทคุ้มครองโจทก์ระหว่างพิจารณา ดูมาตรา ๒๖๔ ประกอบด้วย -ม.๒๕๔ วรรคท้ายชั้นอุทธรณ์,ฎีกา เมื่อยื่นศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่งได้ แต่ ๒๕๓ ทวิไม่มีอำนาจ -ฎ.๑๔๓๔/๓๘ ฟ้องจำเลยทั้งสี่ฐานละเมิดว่าก่อสร้างทางเท้าขวางทางเข้าออกโรงสีของโจทก์ที่มีอยู่ก่อน แม้ก่อสร้างเสร็จแล้ว แต่ก็ยังอยู่ต่อถือว่าเป็นการทำซ้ำหรือกระทำต่อไป สามารถขอชั่วคราวได้เพื่อขอให้เปิดทางซึ่งเป็นวิธีเยียวยาความเดือดร้อนของโจทก์ โดยวินิจฉัยว่าเป็นเหตุผลเพียงพอที่จะใช้วิธีการคุ้มครองชั่วคราวได้ -ฎ.๓๐๙๒/๒๔ โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากตึกแถวของโจทก์ จำเลยให้การและฟ้องแย้งให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวพิพาทให้จำเลยและรับเงินค่าที่ดินและตึกแถวพิพาทจากจำเลย ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยยื่นคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ชั่วคราวอ้างว่าหลังจากโจทก์ฟ้องแล้วโจทก์ได้กระทำละเมิดสิทธิและประโยชน์ของจำเลย โดยตัดท่อน้ำบาดาลไม่ให้มีการจ่ายน้ำบริโภคมายังตึกแถวพิพาทที่จำเลยอยู่อาศัย จำเลยในฐานะผู้เช่าไม่สามารถร้องขอให้การประปานครหลวงเดินท่อส่งน้ำให้ได้ เพราะโจทก์ไม่ยอมให้วางท่อผ่านที่ดินของโจทก์ ขอให้ศาลสั่งให้โจทก์ต่อท่อและจ่ายน้ำบริโภคให้ตึกแถวพิพาทโดยใช้น้ำบาดาลของโจทก์เช่นเดิม หรือให้โจทก์ดำเนินการยื่นคำร้องต่อการประปานครหลวงเพื่อติดตั้งประปาให้จำเลย คำร้องของจำเลยดังกล่าวหาได้ร้องขอให้ศาลสั่งการอย่างใดอย่างหนึ่งดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๕๔ ไม่ (ฉะนั้น จึงยกเอามาตรา ๒๕๔ มาปรับสั่งให้เป็นประโยชน์แก่คดีของจำเลยตามที่จำเลยร้องขอไม่ได้) -ตัวอย่างคำถาม คดีแพ่งสามัญโจทก์ยื่นคำฟ้อง และขอให้อายัดเงินฝากของจำเลยที่ธ.สยาม ไว้ชั่วคราว ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนแล้วมีคำสั่งอนุญาต ก่อนศาลชั้นต้นแจ้งคำสั่งอายัดโจทก์ยื่นคำแถลงว่าจำเลยได้ถอนเงินจากธ.สยามไปฝากไว้กับ ธ.กรุงธน ศาลชั้นต้นได้สั่งในคำแถลงโจทก์ว่าให้อายัดไปยังธ.กรุงธน ตามคำแถลงของโจทก์ จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้อายัดเงินฝากไปที่ธ.กรุงธน ทั้งที่โจทก์มิได้ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวใหม่ ทั้งมิได้ทำการไต่สวนใหม่ จึงไม่ชอบ และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นเพราะมิใช่เป็นศาลที่มูลคดีเกิดหรือจำเลยมีภูมิลำเนาในเขตศาล ขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัดเงิน ศาลชั้นต้นตรวจคำร้องจำเลยแล้วยกคำร้อง ให้วินิจฉัยว่าคำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของจำเลยชอบหรือไม่ ธงคำตอบ-(ดูแนวฎีกา ๔๗๔๓/๔๓,๑๗๓๑/๓๖ ม.๒๗ วรรค ๑,และ ม.๒๕๔) ศาลชั้นต้นไต่สวนคำขอคุ้มครองชั่วคราวของโจทก์แล้วมีคำสั่งให้อายัดเงินฝากของจำเลยไปที่ ธ.สยาม ก่อนมีคำพิพากษาแล้ว แต่ปรากฏว่าก่อนศาลชั้นต้นส่งคำสั่งอายัด จำเลยถอนเงินไปฝากไว้ที่ ธ.กรุงธน คำสั่งศาลชั้นตนที่ให้อายัดเงินฝากจำเลยไปที่ ธ.สยามจึงเป็นคำสั่งที่เกิดขึ้นโดยผิดหลงจากการกระทำของจำเลย เมื่อความปรากฏจากคำแถลงของโจทก์ และศาลชั้นต้นให้อายัดใหม่ไปที่ ธ.กรุงธน เช่นนี้ย่อมมีผลเป็นการเพิกถอนคำสั่งเดิมและมีคำสั่งใหม่ให้ถูกต้องตามความเป็นจริงได้ โดยโจทก์หาจำต้องยื่นคำร้องขอให้คุ้มครองชั่วคราวใหม่แต่อย่างใดไม่และไม่มีต้องไต่สวนแต่อย่างใดอีก(ฎ.๔๗๔๓/๒๕๔๓) ส่วนปัญหาตามคำร้องของจำเลยที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นหรือไม่นั้นมิใช่ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ เพราะตราบใดที่ศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำพิพากษาหรือจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ คู่ความก็ยังมีสิทธิขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาได้ (ฎ.๑๗๓๑/๓๖) เมื่อคดีไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งอายัดชั่วคราวตามคำร้องขอจำเลยแล้ว ศาลก็ชอบที่จะยกคำร้องของจำเลยได้ โดยไม่ต้องรับคำร้องจำเลยไว้ไต่สวน คำว่าโจทก์ในมาตรานี้รวมจำเลยซึ่งเป็นโจทก์ฟ้องแย้งด้วย (ฎ.๕๘๗/๑๓) จำเลยผู้อุทธรณ์ไม่มีสิทธิขอตาม ม.๒๕๔ เพราะแม้จำเลยจะเป็นผู้อุทธรณ์ก็ไม่ได้ทำให้ฐานะจำเลยเปลี่ยนมาเป็นโจทก์ที่จะยื่นตาม ม.นี้ได้ -ขอกันส่วนเป็นวิธีการชั้นบังคับคดี นำมาใช้ในวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาไม่ได้ เพราะยังไม่มีการขายทอดตลาด หากยื่นเข้ามาศาลต้อรอไว้พิจารณาเมื่อมีคำพิพากษาและมีการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึด -สรุปขอได้ทุกคดี เว้นแต่ ๑)คดีมโนสาเร่ (ดู ม.๑๘๙) ๒)สภาพคำฟ้องไม่อาจขอได้ ๓)คดีล้มละลายขอไม่ได้เพราะมีวิธีการพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวอยู่แล้ว -ฎ.๖๙๒/๔๔ ม.๒๕๔ แม้เคยขอมาแล้วศาลยก ก็ขอใหม่ได้ไม่เป็นฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ แต่จะต้องอ้างเหตุผลอื่นนอกเหนือจากที่เคยยกมากล่าวแล้ว -กรณีฉุกเฉินตาม ม.๒๕๔ ขอได้ตามวิธีการใน ม.๒๖๖ ซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ -ตัวอย่างคำถาม นายรวยฟ้องนายสินขอให้บังคับนายสินชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญากู้จำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง นายรวยอุทธรณ์คำพิพากษา และต่อมานายรวยได้ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาโดยขอให้ยึดที่ดิน ๑ แปลง ของนายสินไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษา เพราะนายสินกำลังจะโอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้อื่น ซึ่งหากโอนขายไปแล้ว และนายรวยชนะคดีในชั้นศาลอุทธรณ์ ก็จะไม่สามารถบังคับเอาชำระหนี้ได้ นายสินยื่นคำคัดค้านว่า นายรวยจะขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาในชั้นศาลอุทธรณ์ไม่ได้ ขอให้ยกคำร้อง ให้วินิจฉัยว่า (ก) คำคัดค้านของนายสินฟังขึ้นหรือไม่ (ข) ศาลใดบ้างมีอำนาจในการพิจารณาสั่งคำร้องของนายรวย ธงคำตอบ (ข้อสอบเนฯ ข้อ ๖ สมัย ๕๗) (ก) การขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาจะขอในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาก็ได้โดยต้องยื่นก่อนศาลนั้น ๆ มีคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๕๔ วรรคหนึ่ง นายรวยจึงขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาในชั้นศาลอุทธรณ์ได้ คำคัดค้านของนายสินฟังไม่ขึ้น (ข) สำหรับศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาสั่งคำร้องนั้น แยกพิจารณาดังนี้ (๑) ถ้านายรวยยื่นคำร้องก่อนที่ศาลชั้นต้นจะส่งสำนวนความที่อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีอำนาจในการพิจารณาสั่งคำร้องของนายรวยได้ตามมาตรา ๒๕๔ วรรคสอง (คำสั่งคำร้องศาลฎีกาที่ ๑๙/๐๒ และ ๒๗๖/๓๗) (๒) ถ้านายรวยยื่นคำร้องภายหลังที่ศาลชั้นต้นส่งสำนวนความที่อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์แล้วศาลอุทธรณ์มีอำนาจในการพิจารณาสั่งคำร้องของนายรวย *มาตรา ๒๕๕ ในการพิจารณาอนุญาตตามคำขอที่ยื่นไว้ตามมาตรา ๒๕๔ ต้องให้เป็นที่พอใจของศาลว่า คำฟ้องมีมูลและมีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีคุ้มครองตามที่ขอนั้นมาใช้ได้ตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (๑) ในกรณีที่ยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งตามมาตรา ๒๕๔ (๑) ต้องให้เป็นที่พอใจของศาลว่า (ก) จำเลยตั้งใจจะยักย้ายทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของตนทั้งหมดหรือแต่บางส่วนไปให้พ้นจากอำนาจศาล หรือจะโอน ขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อประวิงหรือขัดขวางต่อการบังคับตามคำบังคับใด ๆ ซึ่งอาจจะออกบังคับเอาแก่จำเลยหรือเพื่อจะทำให้โจทก์เสียเปรียบ หรือ (ข) มีเหตุจำเป็นอื่นใดตามที่ศาลจะพิเคราะห์เห็นเป็นการยุติธรรมและสมควร (๒) ในกรณีที่ยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งตามมาตรา ๒๕๔ (๒) ต้องให้เป็นที่พอใจของศาลว่า (ก) จำเลยตั้งใจจะกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไปซึ่งการละเมิด การผิดสัญญา หรือการกระทำที่ถูกฟ้องร้อง (ข) โจทก์จะได้รับความเดือดร้อนเสียหายต่อไปเนื่องจากการกระทำของจำเลย (ค) ทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจำเลยนั้นมีพฤติการณ์ว่าจะมีการกระทำให้เปลืองไปเปล่าหรือบุบสลายหรือโอนไปยังผู้อื่น หรือ (ง) มีเหตุตาม (๑) (ก) หรือ (ข) (๓) ในกรณีที่ยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งตามมาตรา ๒๕๔ (๓) ต้องให้เป็นที่พอใจของศาลว่า (ก) เป็นที่เกรงว่าจำเลยจะดำเนินการให้มีการจดทะเบียน แก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน หรือเพิกถอนการจดทะเบียนเกี่ยวกับทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจำเลยหรือที่เกี่ยวกับการกระทำที่ถูกฟ้องร้อง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือ (ข) มีเหตุตาม (๑) (ข) (๔) ในกรณีที่ยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งตามมาตรา ๒๕๔ (๔) ต้องให้เป็นที่พอใจของศาลว่า เพื่อที่จะประวิงหรือขัดขวางต่อการพิจารณาคดีหรือการบังคับตามคำบังคับใด ๆซึ่งอาจจะออกบังคับเอาแก่จำเลย หรือเพื่อจะทำให้โจทก์เสียเปรียบ (ก) จำเลยซ่อนตัวเพื่อจะไม่รับหมายเรียกหรือคำสั่งของศาล (ข) จำเลยได้ยักย้ายไปให้พ้นอำนาจศาลหรือซุกซ่อนเอกสารใด ๆ ซึ่งพอจะเห็นได้ว่าจะใช้เป็นพยานหลักฐานยันจำเลยในคดีที่อยู่ในระหว่างพิจารณาหรือทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจำเลยทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเป็นที่เกรงว่าจำเลยจะจำหน่ายหรือทำลายเอกสารหรือทรัพย์สินเช่นว่านั้น หรือ (ค) ปรากฏตามกิริยาหรือตามวิธีที่จำเลยประกอบการงานหรือการค้าของตนว่าจำเลยจะหลีกหนีหรือพอเห็นได้ว่าจะหลีกหนีไปให้พ้นอำนาจศาล อธิบาย -สรุปหลักเกณฑ์ ตาม ๒๕๔ และ ๒๕๕ การที่นำวิธีการชั่วคราวมาใช้อย่างแพร่หลายนี้ เพราะการพิจารณาปัจจุบันนี้เป็นการพิจารณาอย่างต่อเนื่อง จะมีช่วงเวลาระหว่างการยื่นฟ้องจนถึงวันนัดพิจารณานั้นเป็นช่วงที่มีการนำเรื่องไกล่เกลี่ย หรือ วิธีการชั่วคราวมาใช้อย่างแพร่หลาย (ส่วนมากเป็นเรื่องละเมิดที่ห้ามกระทำการ) ประเด็นแรก ผู้ที่มีสิทธิยื่นคือใคร คำตอบ โจทก์ โจทก์คือใคร คำตอบ ความหมายธรรมดาคือ ผู้ฟ้องคดีหรือ ผู้ฟ้องแย้ง และเช่นเดียวกัน ไม่รวมถึง จำเลยผู้ฟ้องอุทธรณ์ หรือ ฎีกา เนื่องจากตามอุทธรณ์ของจำเลยไม่ได้ขอบังคับโจทก์แต่อย่างใด เพราะคำขอของจำเลย (โจทก์อุทธรณ์ หรือฎีกา) ขอเพียงให้กลับหรือยกฟ้องโจทก์เท่านั้น จึงไม่มีอะไรให้คุ้มครองให้ -**ฎ.๑๗๘/๕๑ จำเลยตั้งโจทก์เป็นตัวแทนประสานงานเพื่อผลประโยชน์ของจำเลยในการได้รับจ้างงานในโครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ต่อมาจำเลยได้เข้าเป็นคู่สัญญากับกิจการร่วมค้าไอทีโอโดยเป็นผลจากการดำเนินการของโจทก์ตามสัญญาตั้งตัวแทน โจทก์มีสิทธิเรียกร้องอันเป็นมูลหนี้ตามสัญญาดังกล่าวที่จะฟ้องร้องจำเลยได้ คดีของโจทก์จึงมีมูลที่จะฟ้องร้อง ส่วนปัญหาว่า โจทก์ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาตั้งตัวแทน หรือจำเลยได้รับการจ้างเหมาช่วงงานดังกล่าวโดยไม่ได้เป็นผลจากการปฏิบัติตามสัญญาของโจทก์หรือไม่ ยังเป็นที่โต้เถียงกันซึ่งต้องนำสืบพยานหลักฐานกันในชั้นพิจารณาต่อไป แม้จำเลยไม่ตั้งใจยักย้ายทรัพย์สินของตนไปให้พ้นจากอำนาจศาล ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๕๕ (๑) (ก) แต่การที่จำเลยไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย ไม่มีสำนักงานสาขาในประเทศไทยแม้เคยมีก็ปิดสำนักงานสาขาไปแล้วเพราะใบอนุญาตประกอบกิจการของคนต่างด้าวไม่ถูกต้อง และการที่จำเลยไม่มีทรัพย์สินใดในประเทศไทย ทั้งจำเลยไม่มีทรัพย์สินอยู่ในประเทศไทยพอที่โจทก์จะบังคับคดีได้ ย่อมเป็นเหตุจำเป็นอื่นที่เป็นการยุติธรรมและสมควรที่จะคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ในระหว่างพิจารณาตามมาตรา ๒๕๕ (๑) (ข) จึงนำวิธีคุ้มครองชั่วคราวตามที่โจทก์ขอมาใช้ในการสั่งให้อายัดเงินค่าจ้างที่กิจการร่วมค้าไอทีโอบุคคลภายนอกจะชำระให้แก่จำเลยได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.๒๕๓๙ มาตรา ๒๖ ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา ๒๕๔ (๑) -ตัวอย่างคำถาม โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การต่อสู้คดีระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นมีคำสั่งอายัดที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๐ ของจำเลยไว้ชั่วคราวตามคำร้องของโจทก์ ต่อมานายสินเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอีกคดีหนึ่งซึ่งศาลแพ่งพิพากษาให้จำเลยโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๐ แก่นายสิน โดยให้นายสินใช้ราคา ๕๐๐,๐๐๐ บาท แก่จำเลย นายสินได้นำเงินตามจำนวนดังกล่าวไปวางต่อศาลแพ่งและศาลแพ่งได้มีหนังสือขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๐ ให้แก่นายสินแล้ว เมื่อโจทก์ทราบเรื่องจึงยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้อายัดเงินที่นายสินนำไปวางดังกล่าวนั้นไปยังศาลแพ่งไว้ชั่วคราวอีก ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วเห็นว่าโจทก์เคยยื่นคำขอชั่วคราวก่อนพิพากษามาครั้งหนึ่งแล้ว กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรให้อายัดเงินตามคำร้องของโจทก์ไว้ชั่วคราวซ้ำซ้อนอีก ให้ยกคำร้องให้วินิจฉัยว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของโจทก์ดังกล่าวชอบหรือไม่ ธงคำตอบ (ข้อสอบเนฯ ข้อ ๖ สมัย ๕๙) เมื่อนายสินซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยในอีกคดีหนึ่งขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลแพ่งที่ให้จำเลยโอนที่ดินดังกล่าวแก่นายสินแล้ว คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้อายัดที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๐ของจำเลยไว้ชั่วคราวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๕๔ (๒) ย่อมเป็นอันสิ้นผลไปการที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอายัดชั่วคราวเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท ที่นายสินนำไปวางต่อศาลแพ่งเพื่อชำระให้แก่จำเลยตามคำพิพากษา ซึ่งเป็นเหตุที่เกิดขึ้นใหม่ในภายหลังและเป็นทรัพย์คนละรายคนละประเด็นกัน ทั้งคำสั่งอายัดที่ดินของจำเลยไว้ชั่วคราวได้สิ้นผลไปแล้ว จึงมิใช่เรื่องที่โจทก์ร้องขอให้กำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาซ้ำซ้อนอีกแต่อย่างใด เมื่อเงินเป็นทรัพย์สินที่ยักย้ายถ่ายเทหรือปิดบังซ่อนเร้นได้โดยง่ายคดีจึงมีเหตุสมควรที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอายัดเงินที่นายสินนำไปวางต่อศาลแพ่งไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษาตามคำร้องของโจทก์ ตามมาตรา ๒๕๔ (๑) ประกอบมาตรา ๒๕๕ (๑) (ข) คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่ชอบ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๙๒/๔๔) -ฎ.๑๗๘/๕๑ จำเลยตั้งโจทก์เป็นตัวแทนประสานงานเพื่อผลประโยชน์ของจำเลยในการได้รับจ้างงานในโครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ต่อมาจำเลยได้เข้าเป็นคู่สัญญากับกิจการร่วมค้าไอทีโอโดยเป็นผลจากการดำเนินการของโจทก์ตามสัญญาตั้งตัวแทน โจทก์มีสิทธิเรียกร้องอันเป็นมูลหนี้ตามสัญญาดังกล่าวที่จะฟ้องร้องจำเลยได้ คดีของโจทก์จึงมีมูลที่จะฟ้องร้อง ส่วนปัญหาว่า โจทก์ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาตั้งตัวแทน หรือจำเลยได้รับการจ้างเหมาช่วงงานดังกล่าวโดยไม่ได้เป็นผลจากการปฏิบัติตามสัญญาของโจทก์หรือไม่ ยังเป็นที่โต้เถียงกันซึ่งต้องนำสืบพยานหลักฐานกันในชั้นพิจารณาต่อไป แม้จำเลยไม่ตั้งใจยักย้ายทรัพย์สินของตนไปให้พ้นจากอำนาจศาล ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๕๕ (๑) (ก) แต่การที่จำเลยไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย ไม่มีสำนักงานสาขาในประเทศไทยแม้เคยมีก็ปิดสำนักงานสาขาไปแล้วเพราะใบอนุญาตประกอบกิจการของคนต่างด้าวไม่ถูกต้อง และการที่จำเลยไม่มีทรัพย์สินใดในประเทศไทย ทั้งจำเลยไม่มีทรัพย์สินอยู่ในประเทศไทยพอที่โจทก์จะบังคับคดีได้ ย่อมเป็นเหตุจำเป็นอื่นที่เป็นการยุติธรรมและสมควรที่จะคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ในระหว่างพิจารณาตามมาตรา ๒๕๕ (๑) (ข) จึงนำวิธีคุ้มครองชั่วคราวตามที่โจทก์ขอมาใช้ในการสั่งให้อายัดเงินค่าจ้างที่กิจการร่วมค้าไอทีโอบุคคลภายนอกจะชำระให้แก่จำเลยได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.๒๕๓๙ มาตรา ๒๖ ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา ๒๕๔ (๑) มาตรา ๒๕๖ ในกรณีที่ยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งตามมาตรา ๒๕๔ (๒) หรือ (๓) ถ้าศาลเห็นว่าหากให้โอกาสจำเลยคัดค้านก่อนจะไม่เสียหายแก่โจทก์ ก็ให้ศาลแจ้งกำหนดวันนั่งพิจารณาพร้อมทั้งส่งสำเนาคำขอให้แก่จำเลยโดยทางเจ้าพนักงานศาล จำเลยจะเสนอข้อคัดค้านของตนในการที่ศาลนั่งพิจารณาคำขอนั้นก็ได้ มาตรา ๒๕๗ ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งอนุญาตตามคำขอที่ได้ยื่นตามมาตรา ๒๕๔ได้ภายในขอบเขตหรือโดยมีเงื่อนไขอย่างใดก็ได้ แล้วแต่จะเห็นสมควร ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอที่ได้ยื่นตามมาตรา ๒๕๔ (๒) ให้ศาลแจ้งคำสั่งนั้นให้จำเลยทราบ ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยโอน ขาย ยักย้าย หรือจำหน่ายซึ่งทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจำเลย ศาลจะกำหนดวิธีการโฆษณาตามที่เห็นสมควรเพื่อป้องกันการฉ้อฉลก็ได้ ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยโอน ขาย ยักย้าย หรือจำหน่ายซึ่งทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจำเลยที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จดทะเบียน หรือมีคำสั่งให้นายทะเบียน พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลอื่นผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ระงับการจดทะเบียนการแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน หรือการเพิกถอนการจดทะเบียนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าวหรือที่เกี่ยวกับการกระทำที่ถูกฟ้องร้อง ให้ศาลแจ้งคำสั่งนั้นให้นายทะเบียนพนักงานเจ้าหน้าที่หรือบุคคลอื่นผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายทราบ และให้บุคคลดังกล่าวบันทึกคำสั่งของศาลไว้ในทะเบียน ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ก่อนที่ศาลจะออกหมายยึด หมายอายัด หมายห้ามชั่วคราวหมายจับ หรือคำสั่งใด ๆ ศาลจะสั่งให้ผู้ขอนำเงินหรือหาประกันตามจำนวนที่เห็นสมควรมาวางศาลเพื่อการชำระค่าสินไหมทดแทนซึ่งจำเลยอาจได้รับตามมาตรา ๒๖๓ ก็ได้ มาตรา ๒๕๘ คำสั่งศาลซึ่งอนุญาตตามคำขอที่ได้ยื่นตามมาตรา ๒๕๔ (๑) นั้นให้บังคับจำเลยได้ทันทีแล้วแจ้งคำสั่งนั้นให้จำเลยทราบโดยไม่ชักช้าแต่จะใช้บังคับบุคคลภายนอกซึ่งพิสูจน์ได้ว่าได้รับโอนสุจริตและเสียค่าตอบแทนก่อนการแจ้งคำสั่งให้จำเลยทราบมิได้ คำสั่งศาลซึ่งอนุญาตตามคำขอที่ได้ยื่นตามมาตรา ๒๕๔ (๒) นั้น ให้บังคับจำเลยได้ทันที ถึงแม้ว่าจำเลยจะยังมิได้รับแจ้งคำสั่งเช่นว่านั้นก็ตาม เว้นแต่ศาลจะได้พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นสมควรให้คำสั่งมีผลบังคับเมื่อจำเลยได้รับแจ้งคำสั่งเช่นว่านั้นแล้ว คำสั่งศาลซึ่งอนุญาตตามคำขอที่ได้ยื่นตามมาตรา ๒๕๔ (๓) ที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจำเลย นั้น ให้มีผลใช้บังคับได้ทันที ถึงแม้ว่านายทะเบียน พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลอื่นผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายจะยังมิได้รับแจ้งคำสั่งเช่นว่านั้นก็ตามเว้นแต่ศาลจะได้พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นสมควรให้คำสั่งมีผลบังคับเมื่อบุคคลดังกล่าวได้รับแจ้งคำสั่งเช่นว่านั้นแล้ว คำสั่งศาลซึ่งอนุญาตตามคำขอที่ได้ยื่นตามมาตรา ๒๕๔ (๓) ที่เกี่ยวกับการกระทำที่ถูกฟ้องร้องให้มีผลใช้บังคับแก่นายทะเบียน พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลอื่นผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายต่อเมื่อบุคคลดังกล่าวได้รับแจ้งคำสั่งเช่นว่านั้นแล้ว หมายจับจำเลยที่ศาลได้ออกตามคำขอที่ได้ยื่นตามมาตรา ๒๕๔ (๔) ให้บังคับได้ทั่วราชอาณาจักร การกักขังตามหมายจับเช่นว่านี้ ห้ามมิให้กระทำเกินหกเดือนนับแต่วันจับ มาตรา ๒๕๘ ทวิ การที่จำเลยได้ก่อให้เกิด โอน หรือเปลี่ยนแปลงซึ่งสิทธิในทรัพย์สินที่พิพาท หรือทรัพย์สินของจำเลยภายหลังที่คำสั่งของศาลที่ห้ามโอน ขาย ยักย้าย หรือจำหน่าย ซึ่งออกตามคำขอที่ได้ยื่นตามมาตรา ๒๕๔ (๒) มีผลใช้บังคับแล้วนั้น หาอาจใช้ยันแก่โจทก์หรือเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ไม่ ถึงแม้ว่าราคาแห่งทรัพย์สินนั้นจะเกินกว่าจำนวนหนี้และค่าฤชาธรรมเนียมในการฟ้องร้องและการบังคับคดี และจำเลยได้จำหน่ายทรัพย์สินเพียงส่วนที่เกินจำนวนนั้นก็ตาม การที่นายทะเบียน พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลอื่นผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายรับจดทะเบียนหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน หรือเพิกถอนการจดทะเบียนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจำเลยภายหลังที่คำสั่งของศาลซึ่งออกตามคำขอที่ได้ยื่นตามมาตรา ๒๕๔ (๓) มีผลใช้บังคับแล้วนั้นหาอาจใช้ยันแก่โจทก์หรือเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ไม่ เว้นแต่ผู้รับโอนจะพิสูจน์ได้ว่าได้รับโอนโดยสุจริต และเสียค่าตอบแทนก่อนที่นายทะเบียน พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลอื่นผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายจะได้รับแจ้งคำสั่ง การที่นายทะเบียน พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลอื่นผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายรับจดทะเบียน หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน หรือเพิกถอนการจดทะเบียนที่เกี่ยวกับการกระทำที่ถูกฟ้องร้องภายหลังที่บุคคลดังกล่าวได้รับแจ้งคำสั่งของศาลซึ่งออกตามคำขอที่ได้ยื่นตามมาตรา ๒๕๔ (๓) แล้วนั้น ยังไม่มีผลใช้บังคับตามกฎหมายในระหว่างใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา มาตรา ๒๕๙ ให้นำบทบัญญัติในลักษณะ ๒ แห่งภาคนี้ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาใช้บังคับแก่วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาด้วยโดยอนุโลม *มาตรา ๒๖๐ ในกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีมิได้กล่าวถึงวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาที่ศาลได้สั่งไว้ในระหว่างการพิจารณา (๑) ถ้าคดีนั้นศาลตัดสินให้จำเลยเป็นฝ่ายชนะคดีเต็มตามข้อหาหรือบางส่วนคำสั่งของศาลเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวในส่วนที่จำเลยชนะคดีนั้น ให้ถือว่าเป็นอันยกเลิกเมื่อพ้นกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง เว้นแต่โจทก์จะได้ยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนดเวลาดังกล่าว แสดงว่าตนประสงค์จะยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นและมีเหตุอันสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งให้วิธีการชั่วคราวเช่นว่านั้นยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปในกรณีเช่นว่านี้ ถ้าศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขอของโจทก์ คำสั่งของศาลให้เป็นที่สุด ถ้าศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้วิธีการชั่วคราวยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป คำสั่งของศาลชั้นต้นให้มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะครบกำหนดยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาหรือศาลมีคำสั่งถึงที่สุดไม่รับอุทธรณ์หรือฎีกาแล้วแต่กรณี เมื่อมีการอุทธรณ์หรือฎีกาแล้ว คำสั่งของศาลชั้นต้นให้มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น (๒) ถ้าคดีนั้นศาลตัดสินให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี คำสั่งของศาลเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปเท่าที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล อธิบาย -ฎ.๗๔๒๑/๕๑ โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อรั้วสังกะสี รั้วอิฐบล็อก และสิ่งกีดขวางทางเข้าออกในที่ดิน โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาในกรณีมีเหตุฉุกเฉิน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสองรื้อรั้วสังกะสีและรั้วอิฐบล็อกรวมทั้งสิ่งกีดขวางทางเข้าออกในที่ดินออกชั่วคราวและห้ามมิให้กระทำการใดๆ อันเป็นการกีดขวางทางเข้าออกในที่ดินพิพาทจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ ๑ ฎีกา ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ปรากฏว่าศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี คำสั่งของศาลชั้นต้นเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาจึงมีผลใช้บังคับต่อไปเท่าที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๖๐(๒) มิใช่คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาที่ศาลจะมีคำสั่งเพิกถอนได้ตามมาตรา ๒๖๗ มาตรา ๒๖๑ จำเลยหรือบุคคลภายนอกซึ่งได้รับหมายยึด หมายอายัดหรือคำสั่งตามมาตรา ๒๕๔ (๑) (๒) หรือ (๓) หรือจะต้องเสียหายเพราะหมายยึด หมายอายัด หรือคำสั่งดังกล่าวอาจมีคำขอต่อศาลให้ถอนหมาย เพิกถอนคำสั่ง หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่ง หมายยึดหรือหมายอายัด ซึ่งออกตามคำสั่งดังกล่าวได้ แต่ถ้าบุคคลภายนอกเช่นว่านั้นขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่ยึดหรือคัดค้านคำสั่งอายัดให้นำมาตรา ๒๘๘ หรือมาตรา ๓๑๒ แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับโดยอนุโลม จำเลยซึ่งถูกศาลออกคำสั่งจับกุมตามมาตรา ๒๕๔ (๔) อาจมีคำขอต่อศาลให้เพิกถอนคำสั่งถอนหมาย หรือให้ปล่อยตัวไปโดยไม่มีเงื่อนไขหรือให้ปล่อยตัวไปชั่วคราวโดยมีหลักประกันตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควรหรือไม่ก็ได้ ถ้าปรากฏว่าวิธีการที่กำหนดไว้ตามมาตรา ๒๕๔ นั้น ไม่มีเหตุเพียงพอหรือมีเหตุอันสมควรประการอื่น ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอหรือมีคำสั่งอื่นใดตามที่เห็นสมควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมก็ได้ ทั้งนี้ ศาลจะกำหนดให้ผู้ขอวางเงินต่อศาลหรือหาประกันมาให้ตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่เห็นสมควรหรือจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ตามที่เห็นสมควรก็ได้แต่ในกรณีที่เป็นการฟ้องเรียกเงิน ห้ามไม่ให้ศาลเรียกประกันเกินกว่าจำนวนเงินที่ฟ้องรวมทั้งค่าฤชาธรรมเนียม มาตรา ๒๖๒ ถ้าข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ที่ศาลอาศัยเป็นหลักในการมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอในวิธีการชั่วคราวอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นเปลี่ยนแปลงไป เมื่อศาลเห็นสมควร หรือเมื่อจำเลยหรือบุคคลภายนอกตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖๑ มีคำขอศาลที่คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณาจะมีคำสั่งแก้ไขหรือยกเลิกวิธีการเช่นว่านั้นเสียก็ได้ ในระหว่างระยะเวลานับแต่ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีหรือชี้ขาดอุทธรณ์ไปจนถึงเวลาที่ศาลชั้นต้นได้ส่งสำนวนความที่อุทธรณ์หรือฎีกาไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณี คำขอตามมาตรานี้ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้นและให้เป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะมีคำสั่งคำขอเช่นว่านั้น มาตรา ๒๖๓ ในกรณีที่ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตตามคำขอในวิธีการชั่วคราวตามลักษณะนี้ จำเลยซึ่งต้องถูกบังคับโดยวิธีการนั้นอาจยื่นคำขอต่อศาลชั้นต้นภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีคำพิพากษาของศาลที่มีคำสั่งตามวิธีการชั่วคราวนั้น ขอให้มีคำสั่งให้โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนได้ในกรณีดังต่อไปนี้ (๑) คดีนั้นศาลตัดสินใจให้โจทก์เป็นฝ่ายแพ้ และปรากฏว่าศาลมีคำสั่งโดยมีความเห็นหลงไปว่าสิทธิเรียกร้องของผู้ขอมีมูล โดยความผิดหรือเลินเล่อของผู้ขอ (๒) ไม่ว่าคดีนั้นศาลจะชี้ขาดตัดสินให้โจทก์ชนะหรือแพ้คดี ถ้าปรากฏว่าศาลมีคำสั่งโดยมีความเห็นหลงไปว่าวิธีการเช่นว่านี้มีเหตุผลเพียงพอ โดยความผิดหรือเลินเล่อของผู้ขอ เมื่อได้รับคำขอตามวรรคหนึ่ง ศาลมีอำนาจสั่งให้แยกการพิจารณาเป็นสำนวนต่างหากจากคดีเดิม และเมื่อศาลทำการไต่สวนแล้วเห็นว่าคำขอนั้นรับฟังได้ก็ให้มีคำสั่งให้โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่จำเลยได้ตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร ถ้าศาลที่มีคำสั่งตามวิธีการชั่วคราวเป็นศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา เมื่อศาลชั้นต้นทำการไต่สวนแล้ว ให้ส่งสำนวนให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณี เป็นผู้สั่งคำขอนั้นถ้าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ศาลมีอำนาจบังคับโจทก์เสมือนหนึ่งว่าเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม (๑) ให้งดการบังคับคดีไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์แพ้คดี คำสั่งของศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ตามวรรคสอง ให้อุทธรณ์หรือฎีกาได้ตามบทบัญญัติว่าด้วยการอุทธรณ์หรือฎีกา **มาตรา ๒๖๔ นอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๕๓ และมาตรา ๒๕๔คู่ความชอบที่จะยื่นคำขอต่อศาล เพื่อให้มีคำสั่งกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอในระหว่างการพิจารณาหรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษา เช่น ให้นำทรัพย์สินหรือเงินที่พิพาทมาวางต่อศาลหรือต่อบุคคลภายนอก หรือให้ตั้งผู้จัดการหรือผู้รักษาทรัพย์สินของห้างร้านที่ทำการค้าที่พิพาท หรือให้จัดให้บุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่ในความปกครองของบุคคลภายนอก คำขอตามวรรคหนึ่งให้บังคับตามมาตรา ๒๑ มาตรา ๒๕ มาตรา ๒๒๗มาตรา ๒๒๘ มาตรา ๒๖๐ และมาตรา ๒๖๒ อธิบาย -ตาม ม.๒๖๔ นี้เป็นบทคุ้มครองประโยชน์คู่ความระหว่างพิจารณา -นำไปใช้กับคดีล้มละลายได้ไม่เหมือน ม.๒๕๔ -ตามตัวบทเป็นกรณีที่ตัวบทยกตัวอย่าง ยังมีอย่างอื่นอีกเช่นขอห้ามจำหน่ายทรัพย์สินที่พิพาท,ขอให้ส่งบุตรคืนแก่โจทก์เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูระหว่างพิจารณา เป็นต้น -ฎ.๖๑๐/๔๓ โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยและเรียกค่าเสียหายซึ่งหากโจทก์ชนะคดี จะได้ค่าเสียหายจากที่จำเลยทำละเมิด ไม่ได้ฟ้องเรียกเงินค่าเช่าอาคารบนที่ดินพิพาทแต่อย่างใด จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าค่าเช้าอาคารบนที่ดินควรจะเป็นของโจทก์หรือจำเลย จึงไม่ต้องด้วย ม.๒๖๔ที่โจทก์จะขอห้ามจำเลยเก็บค่าเช่าและขอตั้งบุคคลอื่นเก็บค่าเช่า และดูแลกิจการแทน -ฎ.๑๓๖๐/๕๐ การที่โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องให้ศาลอายัดเงินจำเลยที่มีอยู่และจะได้รับจากการประกอบกิจการมาเก็บรักษาไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุดมีผลเท่ากับให้ศาลกำหนดวิธีการคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ระหว่างการพิจารณาตาม ม.๒๖๔ ซึ่งต้องเป็นการขอคุ้มครองประโยชน์ของผู้ร้องขอเพื่อให้ทรัพย์สิน สิทธิหรือประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งที่พิพาทกันในคดีได้รับการคุ้มครองไว้จนกว่าศาลจะได้มีคำพิพากษา กรณีดังกล่าวนี้มิใช่พิพาทกันด้วยทรัพย์สิน สิทธิหรือประโยชน์ที่จะร้องขอ โจทก์จะขอให้จำเลยนำทรัพย์สินหรือเงินอื่นมาวางตาม ม.นี้ไม่ได้ และจะขอให้จำเลยหาประกันหรือหลักประกันมาวางศาลก็ไม่ได้เช่นกันเพราะไม่มีกฎหมายใดบัญญัติให้ทำเช่นนั้นได้(ข้อเท็จจริงคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยให้ชำระเงินค่าขาดประโยชน์จากการเป็นหุ้นส่วนธุรกิจกัน มิได้พิพาทกันด้วยทรัพย์สิน สิทธิ หรือประโยชน์) -ข้อแตกต่างระหว่าง ม.๒๕๔ และ ๒๖๔ -ม.๒๕๔ ๑)ให้สิทธิเฉพาะโจทก์,๒)จำกัดเฉพาะขอได้ ๔ ประการ,๓)ไม่ใช้กับคดีมโนสาเร่ (ฟ้องเรียนเงินหรือทรัพย์สินที่พิพาทไม่เกิน ๓ แสนบาท),และ๔)ขอกรณีฉุกเฉินตาม ม.๒๖๖ ได้ -ม.๒๖๔ ๑)ให้สิทธิคู่ความทั้งโจทก์และจำเลย,๒)ไม่จำกัดวิธีการขอ บัญญัติไว้กว้างๆ ๓)ใช้ได้กับคดีแพ่งทุกประเภท ๔)ขอให้ศาลไต่สวนกรณีฉุกเฉินไม่ได้ -ตัวอย่างคำถาม โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกจากที่ดินที่พิพาทและเรียกค่าขาดประโยชน์ จำเลยให้การ ว่าโจทก์ถือสิทธิครอบครองแทนจำเลยซึ่งจำเลยเป็นบริษัทประกอบกิจการสถานที่พักตากอากาศในที่ดินที่พิพาท โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยและเคยได้รับเงินปันผลจากจำเลยโดยไม่เคยโต้แยง โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายและไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่ ขอให้ยกฟ้อง ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องขอให้อายัดเงินที่บริษัทจำเลยมีอยู่และที่จะได้รับจากการประกอบกิจการโดยให้จำเลยส่งมาเก็บรักษาไว้ที่ศาลหรือหาประกันหรือหลักประกันมาวางศาลจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ศาลชั้นต้นตรวจคำร้องแล้วสั่งยกคำร้อง ให้วินิจฉัยว่าคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งยกคำร้องโจทก์ชอบหรือไม่ ธงคำตอบ (สามารถนำหลักฎีกาที่ ๑๓๖๐/๒๕๕๐ มาตอบได้ และให้ดูฎีกา ๒๕๘๐/๒๕๒๗,๔๕๙๒/๒๕๓๙ ประกอบด้วย) คำร้องขอโจทก์ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งอายัดเงินของจำเลยที่มีอยู่แล้วและจะได้รับจากการประกอบกิจการโดยให้จำเลยนำมาวางศาลหรือหาประกันหรือหลักประกันจนกว่าคดีจะถึงที่สุดนั้น มีผลบังคับให้จำเลยนำเงินมาวางศาลเพื่อเอาชำระหนี้ เป็นการที่โจทก์ขอให้ศาลกำหนดวิธีการคุ้มครองประโยชนชั่วคราวก่อนพิพากษาตาม ป.วิแพ่งมาตรา ๒๖๔ แต่การขอคุ้มครองประโยชน์ระหว่างการพิจารณาตาม ป.วิแพ่ง ม.๒๖๔ นั้นซึ่งต้องเป็นการขอคุ้มครองประโยชน์ของผู้ร้องขอเพื่อให้ทรัพย์สิน สิทธิหรือประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งที่พิพาทกันในคดีได้รับการคุ้มครองไว้จนกว่าศาลจะได้มีคำพิพากษา การที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินเป็นค่าขาดประโยชน์มิใช่พิพาทกันด้วยทรัพย์สิน สิทธิหรือประโยชน์ที่จะร้องขอเพื่อให้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายดังกล่าว โจทก์จะขอให้จำเลยนำทรัพย์สินหรือเงินมาวางศาลไม่ได้ และจะขอให้หาประกันหรือหลักประกันมาวางศาลก็ไม่ได้เช่นกัน คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งยกคำร้องโจทก์จึงชอบแล้ว -ตัวอย่างคำถาม โจทก์ฟ้องว่า จำเลยผิดสัญญาเช่าที่ดินของโจทก์ ขอให้ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินกับให้จำเลยรื้อถอนบังกะโลของจำเลยที่ปลูกสร้างบนที่ดินของโจทก์และให้ใช้ค่าเสียหายจนกว่าจำเลยจะขนย้ายและรื้อถอนบังกะโลดังกล่าวออกไป จำเลยให้การว่าจำเลยไม่ได้ผิดสัญญาเช่าและโจทก์จำเลยได้ทำสัญญาเช่ากันใหม่ภายหลังสัญญาเช่าเดิมสิ้นสุดลงแล้ว ต่อมาในระหว่างพิจารณาจำเลยยื่นคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ว่าโจทก์ได้นำหินและดินมากองปิดกั้นกับปักหลักทำรั้วลวดหนามปิดทางเข้าออกที่ดินและบังกะโล ขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์รื้อถอนกองหิน กองดินและรั้วลวดหนามออกไปจากทางเข้าออกที่ดินและบังกะโลดังกล่าวเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของจำเลยในระหว่างพิจารณาให้เข้าออกที่ดินและบังกะโลได้ โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องโดยอ้างว่า (ก) จำเลยไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างพิจารณาตามกฎหมายได้ (ข) คำร้องของจำเลยไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลจะอนุญาต ให้วินิจฉัยว่า คำคัดค้านของโจทก์ฟังขึ้นหรือไม่ ธงคำตอบ (ข้อสอบเนฯ ข้อ ๖ สมัย ๖๒) (ก) การร้องขอคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๖๔ คู่ความฝ่ายใดจะร้องขอก็ได้ จำเลยจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างพิจารณาได้ คำคัดค้านข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๔๖๓/๑๔ และ ๒๕๘๐/๒๗) (ข) การขอคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๖๔ จะต้องเป็นการขอคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอเพื่อให้ทรัพย์สิน สิทธิหรือประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่พิพาทกันในคดีนั้นได้รับความคุ้มครองไว้ในระหว่างพิจารณาจนกว่าศาลจะได้มีคำพิพากษาหรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษา และคำขอนั้นต้องอยู่ในคำฟ้อง คำขอท้ายคำฟ้อง หรือคำให้การหรือฟ้องแย้ง แล้วแต่กรณี มิฉะนั้นเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น จะขอคุ้มครองไม่ได้ ดังนั้น กรณีตามปัญหา โจทก์ฟ้องจำเลยว่าจำเลยผิดสัญญาเช่า จำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยไม่ได้ผิดสัญญาเช่าและโจทก์จำเลยได้ทำสัญญาเช่ากันใหม่ภายหลังสัญญาเช่าเดิมสิ้นสุดลงแล้ว ประเด็นที่พิพาทกันจึงมีว่าจำเลยผิดสัญญาเช่าหรือไม่ และโจทก์จำเลยได้ทำสัญญาเช่ากันใหม่ภายหลังสัญญาเช่าเดิมสิ้นสุดลงแล้วหรือไม่ แต่ที่จำเลยร้องขอให้คุ้มครองประโยชน์ในระหว่างพิจารณานั้น เป็นเรื่องขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์รื้อถอนกองหิน กองดินที่โจทก์นำมากองไว้และรื้อถอนรั้วลวดหนามที่โจทก์ปักไว้นั้นออกไปจากทางเข้าออกที่ดินและบังกะโล คำขอของจำเลยจึงไม่ใช่ประโยชน์ที่เกี่ยวกับข้อต่อสู้หรือข้อเถียงตามคำให้การของจำเลย เป็นเรื่องนอกขอบเขตหรือนอกประเด็นตามคำให้การของจำเลย จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จำเลยจะขอคุ้มครองประโยชน์ตาม มาตรา 264 ได้ คำคัดค้านข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น (คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๕๘/๔๙) -ตัวอย่างคำถาม บริษัทซื่อตรง จำกัด ว่าจ้างนายเบี้ยวสร้างอาคารตลาดสดสองชั้น นายเบี้ยวสร้างตลาดชั้นล่างเสร็จแล้วขนย้ายคนงานออกไปไม่ยอมสร้างต่อ หลังจากนั้นนายเบี้ยวฟ้องบริษัทซื่อตรง จำกัด จำเลยที่ ๑ และนายสินกรรมการผู้จัดการ จำเลยที่ ๒ ให้ชำระค่าจ้าง จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ผิดสัญญาไม่สร้างอาคารให้แล้วเสร็จวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ก่อสร้างแล้ว และที่ขนมาไว้ในที่ก่อสร้างก็มิใช่ชนิดที่ดี ตลาดชั้นล่างที่เสร็จก็มีรอยร้าว ซึ่งตามสัญญาทุกสิ่งทุกอย่างที่สร้างเสร็จแล้วและที่อยู่ในที่ก่อสร้างต้องตกเป็นของจำเลยที่ ๑ ผู้ว่าจ้าง ขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งให้โจทก์รับผิดในความชำรุดบกพร่อง โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จัดหาวัสดุและก่อสร้างอาคารอย่างดีไม่มีความชำรุดบกพร่อง ขอให้ยกฟ้องแย้ง ศาลชั้นต้นไกล่เกลี่ยแล้ว จำเลยทั้งสองถอนฟ้องแย้ง ต่อมาในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองประโยชน์ของจำเลยทั้งสองในระหว่างพิจารณาโดยอนุญาตให้จำเลยที่ ๒ เข้าดูแลรักษาตลาดสดส่วนที่สร้างเสร็จ และเข้าครอบครอง กับจัดหาผู้ค้ามาเช่าพื้นที่ตลาด โจทก์ยื่นคำคัดค้านให้วินิจฉัยว่า ศาลจะสั่งคำร้องของจำเลยทั้งสองอย่างไร ธงคำตอบ (ข้อสอบเนฯ ข้อ ๖ สมัย ๖๑) เมื่อตามสัญญา ทุกสิ่งทุกอย่างในที่ก่อสร้างต้องตกเป็นของจำเลยผู้ว่าจ้าง จำเลยจึงมีส่วนได้เสียในอาคารที่สร้างเสร็จแล้ว และวัสดุอุปกรณ์ที่จะใช้ก่อสร้างในระหว่างการพิจารณา เมื่อโจทก์ไม่สร้างอาคารตลาดสดต่อไป การที่ตลาดสดพิพาทถูกปล่อยปละละเลยไม่มีผู้ดูแลรักษาเช่นนี้ ย่อมมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียของจำเลยที่ ๒ โดยตรง ทั้งกรณีที่จะให้จำเลยที่ ๒ เข้าดูแลรักษาตลาดสดพิพาทก็ไม่กระทบถึงสิทธิหรือส่วนได้เสียตามฟ้องของโจทก์แต่อย่างใด ดังนั้น แม้จำเลยที่ ๒ จะมิได้ฟ้องแย้งให้โจทก์ส่งมอบอาคารตลาดสดพิพาทให้จำเลย จำเลยที่ ๒ ก็มีสิทธิขอให้ศาลมีคำสั่งเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของจำเลยที่ ๒ ในระหว่างพิจารณาเพื่อให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ดูแลรักษาตลาดสดพิพาทในระหว่างการพิจารณา ศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งอนุญาตตามขอ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๖๔ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๘๒๘/๒๖) ส่วนจำเลยที่ ๒ ขอเข้าครอบครอง และจัดหาผู้ค้ามาเช่าพื้นที่ตลาดสดพิพาทนั้น เป็นคำสั่งเกี่ยวกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาอันจะเป็นคุณแก่จำเลยที่ ๒ แต่ในคดีนี้ จำเลยที่ ๒ เพียงยื่นคำให้การปฏิเสธว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา และจำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง ผลของคดีหากจำเลยที่ ๒ เป็นฝ่ายชนะ ศาลย่อมพิพากษายกฟ้องโจทก์ไปตามคำขอท้ายคำให้การเท่านั้น ไม่มีผลบังคับถึงการเข้าทำประโยชน์และการครอบครองอาคารตลาดสดพิพาทของจำเลยที่ ๒ เว้นแต่จำเลยที่ ๒ จะฟ้องแย้งและมีคำขอบังคับเช่นนั้น ดังนี้ ศาลชั้นต้นจึงไม่อาจอนุญาตให้จำเลยที่ ๒ เข้าครอบครองและทำประโยชน์ในตลาดสดพิพาทได้ ศาลชั้นต้นต้องยกคำร้องในส่วนนี้ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๘๒๘/๒๖ และ ๓๙๐๐/๓๒) มาตรา ๒๖๕ ในกรณีที่ศาลยอมรับเอาบุคคลเป็นประกันตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้ และบุคคลนั้นแสดงกิริยาซึ่งพอจะเห็นได้ว่าจะทำให้โจทก์เสียเปรียบ หรือจะหลีกเลี่ยง ขัดขวาง หรือกระทำให้เนิ่นช้าซึ่งการปฏิบัติตามหน้าที่ของตน ให้นำบทบัญญัติแห่งหมวดนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม หมวด ๒ คำขอในเหตุฉุกเฉิน **มาตรา ๒๖๖ ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินเมื่อโจทก์ยื่นคำขอตามมาตรา ๒๕๔ โจทก์จะยื่นคำร้องรวมไปด้วยเพื่อให้ศาลมีคำสั่งหรือออกหมายตามที่ขอโดยไม่ชักช้าก็ได้ เมื่อได้ยื่นคำร้องเช่นว่ามานี้ วิธีพิจารณาและชี้ขาดคำขอนั้น ให้อยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา ๒๖๗ มาตรา ๒๖๘ และมาตรา ๒๖๙ *มาตรา ๒๖๗ ให้ศาลพิจารณาคำขอเป็นการด่วน ถ้าเป็นที่พอใจจากคำแถลงของโจทก์หรือพยานหลักฐานที่โจทก์ได้นำมาสืบ หรือที่ศาลได้เรียกมาสืบเองว่าคดีนั้นเป็นคดีมีเหตุฉุกเฉินและคำขอนั้นมีเหตุผลสมควรอันแท้จริง ให้ศาลมีคำสั่งหรือออกหมายตามที่ขอภายในขอบเขตและเงื่อนไขไปตามที่เห็นจำเป็นทันที ถ้าศาลมีคำสั่งให้ยกคำขอ คำสั่งเช่นว่านี้ให้เป็นที่สุด จำเลยอาจยื่นคำขอโดยพลัน ให้ศาลยกเลิกคำสั่งหรือหมายนั้นเสีย และให้นำบทบัญญัติแห่งวรรคก่อนมาใช้บังคับโดยอนุโลม คำขอเช่นว่านี้อาจทำเป็นคำขอฝ่ายเดียวโดยได้รับอนุญาตจากศาล ถ้าศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งเดิมตามคำขอคำสั่งเช่นว่านี้ให้เป็นที่สุด การที่ศาลยกคำขอในเหตุฉุกเฉินหรือยกเลิกคำสั่งที่ได้ออกตามคำขอในเหตุฉุกเฉินนั้น ย่อมไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะเสนอคำขอตามมาตรา ๒๕๔ นั้นใหม่ อธิบาย -.ฎ.๔๕๕๔/๓๖ โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวตาม ม.๒๕๔ แล้วมีคำขอกรณีฉุกเฉินตาม ม.๒๖๖ ศาลมิได้นัดไต่สวนคำร้องโจทก์ในทันที หลังจากรับคำร้อง ๘ วันจึงไต่สวน ถือว่าเป็นการไต่สวนอย่างกรณีธรรมดา เมื่อศาลอุทธรณ์สั่งยกเลิกคำสั่งฉุกเฉินย่อมฎีกาได้ ไม่ขัด ตาม ม.๒๖๗ วรรค ๑ -ฎ.๒๒๐๑/๒๖ การยกเลิกตาม ม.๒๖๗ วรรค ๒ ซึ่งจะถึงที่สุดต้องยกเลิกทั้งหมด หากยกเลิกบางรายการยังไม่ถึงที่สุด -ตัวอย่างคำถาม นายทองฟ้องนายเงินให้โอนทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่นายทอง ระหว่างพิจารณา นายทองยื่นคำร้องในเหตุฉุกเฉินพร้อมคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาโดยขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามนายเงินเข้าเกี่ยวข้องกับรถยนต์ที่เช่าซื้อ ศาลยกคำร้องโดยเห็นว่ากรณีไม่มีเหตุฉุกเฉิน นายทองจึงยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาใหม่อย่างวิธีธรรมดา ศาลนัดไต่สวน ต่อมาก่อนถึงวันนัดไต่สวน นายทองยื่นคำร้องในเหตุฉุกเฉินพร้อมกับคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาอีกเป็นฉบับที่สาม ศาลยกคำร้องฉบับที่สามดังกล่าว นายเงิน จึงยื่นคำคัดค้านว่า เมื่อศาลยกคำร้องฉบับที่สามของนายทองแล้ว ก็ไม่มีอำนาจไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาฉบับที่สองของนายทองที่ยื่นไว้ก่อนนั้นต่อไป ขอให้ยกคำร้องให้วินิจฉัยว่า คำคัดค้านของนายเงินฟังขึ้นหรือไม่ ธงคำตอบ (ข้อสอบเนฯ ข้อ ๖ สมัย ๕๘) การที่นายทองยื่นคำร้องในเหตุฉุกเฉินพร้อมกับคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาในครั้งแรกและศาลยกคำร้องในเหตุฉุกเฉินซึ่งมีผลทำให้คำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาที่ยื่นมาพร้อมกันนั้นตกไปด้วย กรณีดังกล่าวไม่ตัดสิทธินายทองที่จะยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๕๔ นั้นใหม่ ตามมาตรา ๒๖๗ วรรคสาม นายทองจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาใหม่อย่างวิธีธรรมดาเป็นฉบับที่สองได้ แม้ต่อมาในระหว่างที่ศาลนัดไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาฉบับที่สองดังกล่าว นายทองได้ยื่นคำร้องในเหตุฉุกเฉินพร้อมกับคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาเป็นฉบับที่สามอีกและศาลยกคำร้อง ก็มีผลเป็นการยกคำร้องในเหตุฉุกเฉินและทำให้คำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาที่ยื่นมาพร้อมกันนั้นตกไปด้วยเท่านั้น ไม่ตัดสิทธินายทองที่จะยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาอย่างวิธีธรรมดาตามมาตรา ๒๖๗ วรรคสาม เช่นเดียวกัน ศาลจึงมีอำนาจไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาฉบับที่สองที่นายทองได้ยื่นไว้ก่อนนั้นได้ คำคัดค้านของนายเงินฟังไม่ขึ้น (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ ๗๑๔๐/๔๗) มาตรา ๒๖๘ ในกรณีที่มีคำขอในเหตุฉุกเฉิน ให้ศาลมีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจวินิจฉัยว่าคดีนั้นมีเหตุฉุกเฉินหรือไม่ ส่วนวิธีการที่ศาลจะกำหนดนั้น หากจำเป็นต้องเสื่อมเสียแก่สิทธิของคู่ความในประเด็นแห่งคดี ก็ให้เสื่อมเสียเท่าที่จำเป็นแก่กรณี มาตรา ๒๖๙ คำสั่งศาลซึ่งอนุญาตตามคำขอในเหตุฉุกเฉินนั้น ให้มีผลบังคับตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๕๘ และมาตรา ๒๕๘ ทวิ อนึ่ง ศาลจะสั่งให้โจทก์รอการบังคับไว้จนกว่าศาลจะได้วินิจฉัยชี้ขาดคำขอให้ยกเลิกคำสั่งหรือจนกว่าโจทก์จะได้วางประกันก็ได้ มาตรา ๒๗๐ บทบัญญัติในหมวดนี้ ให้ใช้บังคับแก่คำขออื่น ๆ นอกจากคำขอตามมาตรา ๒๕๔ ได้ต่อเมื่อประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นบัญญัติไว้โดยชัดแจ้ง ลักษณะ ๒ การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง หมวด ๑ หลักทั่วไป
**มาตรา ๒๗๑ ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดี (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา)มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษา หรือคำสั่งนั้นได้ภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง โดยอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น อธิบาย -ฎ.๒๙๖/๐๘เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจเป็นโจทก์หรือจำเลยหรือบุคคลภายนอกผู้ร้องสอด ก็ได้ ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้นหาเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะใช้สิทธิบังคับคดีไม่ -สิทธิบังคับคดีเกี่ยวกับทรัพย์ เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทได้ ยกเว้นสิทธิเฉพาะตัว -ม.๒๗๑ นี้นำไปใช้ในคดีอาญาที่บังคับแก่นายประกันได้ด้วย รวมทั้งคำพิพากษาส่วนแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา -สิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ไม่ใช่อายุความและไม่ใช่สิทธิเรียกร้องทางแพ่ง -ตัวอย่างคำถาม ศาลแพ่งพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในฐานะเจ้าของร่วม คนหนึ่ง หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ระหว่างนั้นโจทก์ถึงแก่ความตายต่อมาจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งว่าจำเลยไปดำเนินการขอจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินพิพาทแก่โจทก์ตามคำพิพากษาแล้ว เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งว่าโจทก์และจำเลยต้องดำเนินการยื่นคำขอแบ่งแยกร่วมกันจึงจะดำเนินการได้ และจำเลยได้บอกกล่าวแก่นายสิน บุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ให้ยื่นคำขอแบ่งแยกร่วมกับจำเลยแต่นายสินเพิกเฉย ขอให้ศาลแพ่งออกคำบังคับแก่นายสิน เพื่อดำเนินการตามคำพิพากษา ให้วินิจฉัยว่าจำเลยมีสิทธิของให้ศาลแพ่งออกคำบังคับแก่นายสินได้หรือไม่ ธงคำตอบ เมื่อโจทก์ถึงแก่ความตาย สิทธิในการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลแพ่งที่ให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินพิพาทแก่โจทก์กึ่งหนึ่งในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วม อันเป็นสิทธิเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นย่อม กองมรดกตกทอดแก่ทายาท นายสินเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์จึงมีสิทธิเข้าสวมสิทธิตามคำพิพากษาแทนโจทก์(ฎ.๓๖๘/๒๕๓๒) ตาม ป.วิแพ่ง ม.๒๗๑ บัญญัติให้คู่ความหรือบุคคลฝ่ายชนะคดีหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้นที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง เมื่อหนี้ตามคำพิพากษากำหนดให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในฐานะเจ้าของร่วมคนหนึ่ง หากจำเลยไม่ดำเนินการให้เอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย การบังคับคดีตามคำพิพากษาดังกล่าวจึงเป็นสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแต่ฝ่ายเดียวที่จะร้องขอให้บังคับแก่จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา จำเลยมิได้อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะร้องขอให้บังคับคดีได้ ดังนั้นจำเลยจึงไม่มีสิทธิยื่นคำขอให้ศาลออกคำบังคับแก่นายสินซึ่งเข้าสวมสิทธิบังคับคดีแทนโจทก์ได้(ฎ.๓๐๙๐/๒๕๔๙) -ตัวอย่างคำถาม โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งครอบครองที่ดินมรดกอยู่ ขอให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินร่วมกับจำเลยคนละส่วนในฐานะผู้มีสิทธิได้รับมรดกร่วมกับจำเลย ในที่สุดโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความใส่ชื่อโจทก์ จำเลยและนายเอกทายาทอีกคนหนึ่งเป็นเจ้าของร่วมคนละส่วนเท่ากัน ศาลพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ เมื่อครบกำหนดเวลาตามคำบังคับแล้ว จำเลยเพิกเฉยเสียไม่ไปจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์และนายเอกเป็นเจ้าของร่วมตามสัญญาประนีประนอมยอมความ (ก) โจทก์ยื่นคำขอต่อศาลว่านายเอกมาขอรับส่วนแบ่งที่ดิน จึงขอให้ศาลแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์และนายเอกเป็นเจ้าของร่วมกับจำเลยคนละส่วนเท่ากันตามคำพิพากษาตามยอม (ข) นายเอกยื่นคำขอต่อศาลว่าไม่ประสงค์จะได้ที่ดินไว้ ขอให้ศาลมีหมายบังคับคดีตั้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินและขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งให้โจทก์ จำเลยและนายเอกตามส่วน จำเลยยื่นคำร้องคัดค้านในกรณี (ก) ว่า โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้แบ่งส่วนให้นายเอก ขอให้ยกคำขอของโจทก์ และ คัดค้านกรณี (ข) ว่าจะนำที่ดินออกขายทอดตลาดไม่ได้ ต้องจดทะเบียนใส่ชื่อผู้มีสิทธิตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น ขอให้ยกคำขอของนายเอก ให้วินิจฉัยว่า ศาลจะสั่งคำขอทั้งสองกรณีอย่างไร ธงคำตอบ (ข้อสอบเนฯ ข้อ ๗ สมัย ๖๑) กรณีตาม (ก) นายเอกได้แสดงเจตนาถือเอาประโยชน์จากสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว สิทธิของนายเอกย่อมเกิดมีขึ้น โจทก์จำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาหาอาจเปลี่ยนแปลงสิทธิหรือระงับสิทธิได้ไม่ โจทก์ซึ่งมีส่วนได้เสียตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยตรง มีสิทธิบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษา จำเลยไม่มีสิทธิคัดค้านการแบ่งส่วนให้แก่นายเอก ศาลจึงควรสั่งให้นายทะเบียนจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์และนายเอกกับจำเลยมีส่วนคนละส่วนเท่ากันโดยถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยได้ (ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๓๐๕๓/๒๗) กรณีตาม (ข) นายเอกซึ่งเป็นเพียงผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น ไม่ใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงไม่มีสิทธิบังคับคดี ไม่มีสิทธิขอให้นำที่ดินออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกัน ศาลต้องยกคำขอของนายเอก (ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๖๙/๐๘) -ตัวอย่างคำถาม ศาลแพ่งพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๓๔ ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์เป็นงวด ๆ เริ่มงวดแรกวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๓๔ หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งถือว่าผิดนัดทั้งหมด ยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันทีจำเลยทราบคำบังคับแล้ว แต่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตั้งแต่งวดแรก และวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๓๗ จำเลยได้ชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วน ต่อมาวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ โจทก์ได้ขอให้ศาลแพ่งออกหมายบังคับคดี และได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินจำเลยเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๔๖ จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งว่า โจทก์บังคับคดีเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา ขอให้ถอนการยึดทรัพย์ของจำเลย โจทก์คัดค้านว่าโจทก์ร้องขอให้บังคับคดีเมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ เป็นการบังคับคดีภายในสิบปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว และจำเลยชำระหนี้ให้โจทก์เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๓๗ ทำให้เริ่มนับระยะเวลาบังคับคดีของโจทก์ใหม่ ขอให้ยกคำร้องให้วินิจฉัยว่า ศาลแพ่งจะสั่งถอนการยึดทรัพย์ของจำเลยได้หรือไม่ ธงคำตอบ (ข้อสอบเนฯ ข้อ ๗ สมัย ๖๐) จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ตั้งแต่งวดแรก ระยะเวลาการบังคับคดีของโจทก์จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๔ ข้อคัดค้านของโจทก์ที่เกี่ยวกับการชำระหนี้ของจำเลยให้โจทก์เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๓๗ นั้น ไม่มีผลทำให้การเริ่มนับระยะเวลาการบังคับคดีของโจทก์เปลี่ยนแปลงไป เมื่อโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๔๖ จึงเป็นการบังคับคดีที่ล่วงเลยเวลา ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๗๑ โจทก์จึงหมดสิทธิบังคับคดีแก่จำเลย (คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๘๒๙/๔๘) ข้อคัดค้านของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ข้อคัดค้านของโจทก์ที่ว่า โจทก์ขอให้ศาลแพ่งออกหมายบังคับคดีเมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ เป็นการบังคับคดีภายใน ๑๐ ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วนั้น แต่เนื่องจากหลังจากโจทก์ร้องขอให้ออกหมายบังคับคดีแล้ว โจทก์กลับมิได้ดำเนินการใด ๆ ในทางบังคับคดีแก่จำเลยอีกเลย โจทก์เพิ่งมานำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ของจำเลยเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๔๖ จึงเป็นการบังคับคดีที่พ้นกำหนด ๑๐ ปี นับแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๔ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๗๑ แล้ว โจทก์จึงหมดสิทธิบังคับคดีแก่จำเลย (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ ๕๔๗๖/๓๖) ข้อคัดค้านของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ศาลแพ่งจึงสั่งถอนการยึดทรัพย์ของจำเลยได้ มาตรา ๒๗๒ ถ้าศาลได้พิพากษาหรือมีคำสั่งอย่างใดซึ่งจะต้องมีการบังคับคดีก็ให้ศาลมีคำบังคับกำหนดวิธีที่จะปฏิบัติตามคำบังคับในวันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่ง และเจ้าพนักงานศาลส่งคำบังคับนั้นไปยังลูกหนี้ตามคำพิพากษา เว้นแต่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้อยู่ในศาลในเวลาที่ศาลมีคำบังคับนั้น และศาลได้สั่งให้ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ มาตรา ๒๗๓ ถ้าในคำบังคับได้กำหนดให้ใช้เงิน หรือให้ส่งทรัพย์สิน หรือให้กระทำการ หรืองดเว้นกระทำการอย่างใด ๆ ให้ศาลระบุไว้ในคำบังคับนั้นโดยชัดแจ้ง ซึ่งระยะเวลาและเงื่อนไขอื่น ๆ อันจะต้องใช้เงิน ส่งทรัพย์สิน กระทำการหรืองดเว้นกระทำการใด ๆ นั้นแต่ถ้าเป็นคดีมโนสาเร่ ศาลไม่จำต้องให้เวลาแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเกินกว่าสิบห้าวันในอันที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ถ้าศาลได้พิพากษาหรือมีคำสั่งโดยขาดนัด ให้ศาลให้เวลาไม่ต่ำกว่าเจ็ดวันแก่คู่ความฝ่ายที่ขาดนัดในอันที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ระยะเวลาที่ระบุไว้นั้นให้เริ่มนับแต่วันที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ลงลายมือชื่อไว้ในคำบังคับ หรือวันที่ได้ส่งคำบังคับให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา แล้วแต่กรณี เว้นแต่ศาลจะได้กำหนดไว้โดยชัดแจ้งว่า ให้นับตั้งแต่วันใดวันหนึ่งในภายหลังต่อมาตามที่ศาลจะเห็นสมควรกำหนดเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม นอกจากนี้ให้ศาลระบุไว้โดยชัดแจ้งในคำบังคับว่าในกรณีที่มิได้มีการปฏิบัติตามคำบังคับเช่นว่านี้ภายในระยะเวลาหรือภายในเงื่อนไขที่ได้กำหนดไว้ ลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องถูกยึดทรัพย์ หรือถูกจับและจำขังดังที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้ มาตรา ๒๗๔ ถ้าบุคคลใด ๆ ได้เข้าเป็นผู้ค้ำประกันในศาลโดยทำเป็นหนังสือประกันหรือโดยวิธีอื่น ๆ เพื่อการชำระหนี้ตามคำพิพากษา หรือคำสั่ง หรือแต่ส่วนใดส่วนหนึ่งแห่งคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น คำพิพากษาหรือคำสั่งเช่นว่านั้นย่อมใช้บังคับแก่การประกันนั้นได้โดยไม่ต้องฟ้องผู้ค้ำประกันขึ้นใหม่ มาตรา ๒๗๕ ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะขอให้บังคับคดี ให้ยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลเพื่อให้ออกหมายบังคับคดี คำขอนั้นให้ระบุโดยชัดแจ้ง (๑) คำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งจะขอให้มีการบังคับคดีตามนั้น (๒) จำนวนที่ยังมิได้รับชำระตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น (๓) วิธีการบังคับคดีซึ่งขอให้ออกหมายนั้น มาตรา ๒๗๖ ถ้าศาลเห็นว่าคำบังคับที่ขอให้บังคับนั้นได้ส่งให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญแล้ว และระยะเวลาที่ศาลได้กำหนดไว้เพื่อให้ปฏิบัติตามคำบังคับนั้นได้ล่วงพ้นไปแล้ว และคำขอนั้นมีข้อความระบุไว้ครบถ้วนให้ศาลออกหมายบังคับคดีให้ทันที หมายเช่นว่านี้ ให้ศาลแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบ เว้นแต่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้นจะได้นำหมายไปให้แก่เจ้าพนักงานเอง ส่วนลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นให้ส่งสำเนาหมายให้ต่อเมื่อศาลได้มีคำสั่งให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้จัดการส่งแต่ถ้ามิได้มีการส่งหมายดังกล่าวแล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหน้าที่ต้องแสดงหมายนั้น ในกรณีออกหมายบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ ถ้าศาลสงสัยว่าไม่สมควรยึดทรัพย์สินนั้น ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ขอยึดวางเงินต่อศาลหรือหาประกันมาให้ตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควรในเวลาที่ออกหมายก็ได้ เพื่อป้องกันการบุบสลายหรือสูญหายอันจะพึงเกิดขึ้นเนื่องจากการยึดทรัพย์ผิด ในกรณีที่ออกหมายบังคับคดีให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาส่งมอบทรัพย์สินกระทำการ หรืองดเว้นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือให้ขับไล่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาให้ศาลระบุเงื่อนไขแห่งการบังคับคดีลงในหมายนั้นตามมาตรา ๒๑๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้ศาลกำหนดการบังคับคดีเพียงเท่าที่สภาพแห่งการบังคับคดีจะเปิดช่องให้ทำได้โดยทางศาลหรือโดยทางเจ้าพนักงานบังคับคดี มาตรา ๒๗๗ ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเชื่อว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษามีทรัพย์สินที่จะต้องถูกบังคับมากกว่าที่ตนทราบแล้ว เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำขอฝ่ายเดียวโดยทำเป็นคำร้องต่อศาล ขอให้ศาลทำการไต่สวนและออกหมายเรียกลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นที่เชื่อว่าอยู่ในฐานะที่จะให้ถ้อยคำอันเป็นประโยชน์มาในการไต่สวนเช่นว่านั้น เมื่อมีคำขอเช่นว่านี้ ให้ศาลทำการไต่สวนตามกำหนดและเงื่อนไขใด ๆ ที่เห็นสมควร ในคดีมโนสาเร่ หากศาลเห็นเป็นการสมควร ศาลจะออกหมายเรียกลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นมาไต่สวนเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาก่อนออกหมายบังคับคดี แล้วจดแจ้งผลการไต่สวนไว้ในหมายบังคับคดีด้วยก็ได้ มาตรา ๒๗๘ ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งภาคนี้ว่าด้วยอำนาจและหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดี นับแต่วันที่ได้ส่งหมายบังคับคดีให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือถ้าหมายนั้นมิได้ส่งนับแต่วันออกหมายนั้นเป็นต้นไป ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจในฐานเป็นผู้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ในอันที่จะรับชำระหนี้หรือทรัพย์สินที่ลูกหนี้นำมาวางและออกใบรับให้กับมีอำนาจที่จะยึดหรืออายัดและยึดถือทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้ และมีอำนาจที่จะเอาทรัพย์สินเช่นว่านี้ออกขายทอดตลาด ทั้งมีอำนาจที่จะจำหน่ายทรัพย์สินหรือเงินรายได้จากการนั้นและดำเนินวิธีการบังคับทั่ว ๆ ไป ตามที่ศาลได้กำหนดไว้ในหมายบังคับคดี ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้รับผิดในการรักษาไว้โดยปลอดภัย ซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือเอกสารทั้งปวงที่ยึดมาหรือที่ได้ชำระหรือส่งมอบให้แก่เจ้าพนักงานตามหมายบังคับคดี ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบันทึกแล้วรักษาไว้ในที่ปลอดภัย ซึ่งวิธีการบังคับทั้งหลายที่ได้จัดทำไป และรายงานต่อศาลเป็นระยะ ๆ ไป มาตรา ๒๗๙ เจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องดำเนินการบังคับคดีแต่ในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกในวันทำการงานปกติ เว้นแต่ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินโดยได้รับอนุญาตจากศาล ในการที่จะดำเนินการบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจเท่าที่มีความจำเป็นเพื่อที่จะค้นสถานที่ใด ๆ อันเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ปกครองอยู่ เช่น บ้านที่อยู่ คลังสินค้า โรงงาน และร้านค้าขาย ทั้งมีอำนาจที่จะยึดและตรวจสมุดบัญชี หรือแผ่นกระดาษ และกระทำการใด ๆ ตามสมควร เพื่อเปิดสถานที่ หรือบ้านที่อยู่หรือโรงเรือนดังกล่าวแล้วรวมทั้งตู้นิรภัย ตู้หรือที่เก็บของอื่น ๆ ถ้ามีผู้ขัดขวาง เจ้าพนักงานบังคับคดีชอบที่จะร้องขอความช่วยเหลือจากเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อดำเนินการบังคับคดีจนได้ มาตรา ๒๘๐ เพื่อประโยชน์แห่งบทบัญญัติในภาคนี้ บุคคลต่อไปนี้ให้ถือว่ามีส่วนได้เสียในวิธีบังคับคดีอันเกี่ยวด้วยทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษา (๑) เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา และในกรณีที่มีการอายัดสิทธิเรียกร้อง ลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องนั้น (๒) บุคคลอื่นใดซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิอันได้จดทะเบียนไว้โดยชอบหรือที่ได้ยื่นคำร้องขอตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘๘, ๒๘๙ และ ๒๙๐ อันเกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือสิทธิเรียกร้องเช่นว่ามานั้น เว้นแต่คำร้องขอเช่นว่านี้จะได้ถูกยกเสียในชั้นที่สุด มาตรา ๒๘๑ บุคคลผู้มีส่วนได้เสียในวิธีการบังคับคดีอาจมาอยู่ด้วยในเวลาบังคับคดีนั้น แต่ต้องไม่ทำการป้องกันหรือขัดขวางแก่การบังคับคดี บุคคลที่กล่าวนั้นอาจร้องขอสำเนาบันทึกที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำขึ้นทั้งสิ้นหรือแต่บางฉบับอันเกี่ยวด้วยวิธีการบังคับคดีนั้นโดยเสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดไว้ มาตรา ๒๘๒ ถ้าคำพิพากษาหรือคำสั่งใดกำหนดให้ชำระเงินจำนวนหนึ่ง ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติห้ามาตราต่อไปนี้ เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจที่จะรวบรวมเงินให้พอชำระตามคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยวิธียึดหรืออายัด และขายทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามบทบัญญัติในลักษณะนี้ คือ (๑) โดยวิธียึดและขายทอดตลาดสังหาริมทรัพย์อันมีรูปร่างและอสังหาริมทรัพย์ (๒) โดยวิธีอายัดสังหาริมทรัพย์อันมีรูปร่างและอสังหาริมทรัพย์รวมทั้งสิทธิทั้งปวงอันมีอยู่ในทรัพย์เหล่านั้น ซึ่งบุคคลภายนอกจะต้องส่งมอบหรือโอนมายังลูกหนี้ตามคำพิพากษาในภายหลัง และเมื่อได้ส่งมอบหรือโอนมาแล้ว เอาทรัพย์สินหรือสิทธิเหล่านั้นออกขายหรือจำหน่าย ในกรณีเช่นว่านี้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจจะยึดบรรดาเอกสารทั้งปวงที่ให้สิทธิแก่ลูกหนี้ในอันที่จะได้รับส่งมอบหรือรับโอนทรัพย์สินหรือสิทธิเช่นว่ามานั้น (๓) โดยวิธีอายัดเงินที่บุคคลภายนอกจะต้องชำระให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาในภายหลัง แล้วเรียกเก็บตามนั้น ในกรณีเช่นว่านี้ เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจที่จะยึดบรรดาเอกสารทั้งปวงที่ให้สิทธิแก่ลูกนี้ตามคำพิพากษาในอันที่จะได้รับชำระเงินเช่นว่านั้น (๔) โดยวิธียึดเอกสารอื่น ๆ ทั้งปวง เช่น สัญญากระทำการงานต่าง ๆ ซึ่งได้ชำระเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแล้ว ซึ่งการบังคับตามสัญญาเช่นว่านี้อาจทวีจำนวนหรือราคาทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา และเพื่อที่จะนำบทบัญญัติแห่งมาตรา ๓๑๐ (๔) มาใช้บังคับ เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ทรัพย์สินที่เป็นของภรรยาหรือที่เป็นของบุตรผู้เยาว์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ซึ่งตามกฎหมายอาจถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือเป็นทรัพย์สินที่อาจบังคับเอาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้นั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีอาจยึดหรืออายัดและเอาออกขายได้ตามที่บัญญัติไว้ข้างบนนี้ มาตรา ๒๘๓ ถ้าจะต้องยึดหรืออายัดและขายทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามความในมาตราก่อน เจ้าพนักงานบังคับคดีชอบที่จะยึดหรืออายัดหรือขายบรรดาทรัพย์สินที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอ้างว่าเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา ๒๘๔ และ ๒๘๘ ถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ยึดทรัพย์อันจะต้องยึดภายในเวลาอันควรต้องทำโดยปราศจากความระมัดระวังหรือโดยสมรู้เป็นใจกับลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลใดซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์ที่จะต้องยึด หรือเพิกเฉยไม่กระทำการโดยเร็วตามสมควร เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ต้องเสียหายเพราะการนั้น อาจยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ปลดเปลื้องทุกข์ ถ้าศาลไต่สวนเป็นที่พอใจว่าข้ออ้างนั้นเป็นความจริง ก็ให้ศาลมีคำสั่งว่าเจ้าพนักงานผู้นั้นตกอยู่ในความรับผิด จำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่เกินกว่าจำนวนตามคำพิพากษา ถ้าเจ้าพนักงานไม่ชำระค่าสินไหมทดแทนตามคำสั่งของศาล ศาลอาจออกหมายบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของเจ้าพนักงานผู้นั้นได้ แต่ถ้าเจ้าพนักงานมีความสงสัยในการยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้นำชี้ดังกล่าวแล้ว ซึ่งบุคคลอื่นนอกจากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ยึดนั้นมีชื่อเป็นเจ้าของในทะเบียน เจ้าพนักงานนั้นชอบที่จะงดเว้นยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้น และร้องต่อศาลให้กำหนดการอย่างใด ๆ เพื่อมิให้ตนต้องรับผิดในค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวมาแล้ว มาตรา ๒๘๔ เว้นแต่จะได้มีกฎหมายบัญญัติไว้ หรือศาลจะได้มีคำสั่งเป็นอย่างอื่นห้ามไม่ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในคดีและค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี อนึ่งถ้าได้เงินมาพอจำนวนที่จะชำระหนี้แล้ว ห้ามไม่ให้เอาทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดออกขายทอดตลาดหรือจำหน่ายด้วยวิธีอื่น ความรับผิดต่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือต่อบุคคลภายนอกเพื่อความเสียหายถ้าหากมี อันเกิดจากการยึดและขายทรัพย์สินโดยมิชอบหรือยึดทรัพย์สินเกินกว่าที่จำเป็นแก่การบังคับคดีนั้น ย่อมไม่ตกแก่เจ้าพนักงานบังคับคดี แต่ตกอยู่แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เว้นแต่ในกรณีเจ้าพนักงานบังคับคดีได้กระทำการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ มาตรา ๒๘๕ ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อไปนี้ ย่อมไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี (๑) เครื่องนุ่งห่มหลับนอน หรือเครื่องใช้ในครัวเรือนโดยประมาณรวมกันราคาไม่เกินห้าพันบาท ในกรณีที่ศาลเห็นสมควร ศาลจะกำหนดทรัพย์สินดังกล่าวที่มีราคาเกินห้าพันบาทให้เป็นทรัพย์สินที่ไม่ต้องอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีก็ได้ ทั้งนี้โดยคำนึงถึงความจำเป็นตามฐานะของลูกหนี้ตามคำพิพากษา (๒) เครื่องมือ หรือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการเลี้ยงชีพหรือประกอบวิชาชีพโดยประมาณรวมกันราคาไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท แต่ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษามีคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลขออนุญาตยึดหน่วงและใช้เครื่องมือหรือเครื่องใช้อันจำเป็นเพื่อดำเนินการเลี้ยงชีพ หรือการประกอบวิชาชีพอันมีราคาเกินกว่าจำนวนราคาดังกล่าวแล้ว ให้ศาลมีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจอนุญาตหรือไม่อนุญาตภายในบังคับแห่งเงื่อนไขตามที่ศาลเห็นสมควร (๓) วัตถุ เครื่องใช้ และอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ทำหน้าที่แทนหรือช่วยอวัยวะของลูกหนี้ตามคำพิพากษา (๔) ทรัพย์สินอย่างใดที่โอนกันไม่ได้ตามกฎหมาย หรือตามกฎหมายย่อมไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาอันมีลักษณะเป็นของส่วนตัวโดยแท้ เช่นหนังสือสำหรับวงศ์ตระกูลโดยเฉพาะ จดหมายหรือสมุดบัญชีต่าง ๆ นั้น อาจยึดมาตรวจดูเพื่อประโยชน์แห่งการบังคับคดีได้ ถ้าจำเป็น แต่ห้ามมิให้เอาออกขายทอดตลาด ประโยชน์แห่งข้อยกเว้นที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้ ให้ขยายไปถึงทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง อันเป็นของภริยาหรือของบุตรผู้เยาว์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ซึ่งทรัพย์สินเช่นว่านี้ตามกฎหมายอาจถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือเป็นทรัพย์สินที่อาจบังคับเอาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ คำสั่งของศาลตามวรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ได้ และคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด มาตรา ๒๘๖ ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น สิทธิเรียกร้องเป็นเงินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อไปนี้ ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี (๑) เบี้ยเลี้ยงชีพซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ และเงินรายได้เป็นคราว ๆ อันบุคคลภายนอกได้ยกให้เพื่อเลี้ยงชีพเป็นจำนวนตามที่ศาลเห็นสมควร (๒) เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ บำเหน็จ และเบี้ยหวัดของข้าราชการ หรือลูกจ้างของรัฐบาล และเงินสงเคราะห์หรือบำนาญที่รัฐบาลได้จ่ายให้แก่คู่สมรสหรือญาติที่ยังมีชีวิตของบุคคลเหล่านั้น (๓) เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ ค่าชดใช้ เงินสงเคราะห์ หรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของพนักงาน ลูกจ้าง หรือคนงาน นอกจากที่กล่าวไว้ใน (๒) ที่นายจ้างจ่ายให้แก่บุคคลเหล่านั้น หรือคู่สมรส หรือญาติที่ยังมีชีวิตของบุคคลเหล่านั้นเป็นจำนวนตามที่ศาลเห็นสมควร (๔) เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้รับอันเนื่องมาแต่ความตายของบุคคลอื่น เป็นจำนวนตามที่จำเป็นในการดำเนินการฌาปนกิจศพตามฐานะของผู้ตายที่ศาลเห็นสมควร ในการกำหนดจำนวนเงินตาม (๑) และ (๓) ให้ศาลกำหนดให้ไม่น้อยกว่าอัตราเงินเดือนขั้นต่ำสุดของข้าราชการพลเรือนในขณะนั้น ทั้งนี้โดยคำนึงถึงฐานะในทางครอบครัวของลูกหนี้ตามคำพิพากษาและจำนวนบุพการีและผู้สืบสันดานซึ่งอยู่ในความอุปการะของลูกหนี้ตามคำพิพากษาด้วย ในกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจออกคำสั่งอายัดตามมาตรา ๓๑๑วรรคสอง ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจกำหนดจำนวนเงินตาม (๑) (๓) และ (๔) และให้นำความในวรรคสองมาใช้บังคับแก่การกำหนดจำนวนเงินตาม (๑) และ (๓) โดยอนุโลม แต่ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีไม่เห็นด้วยกับจำนวนเงินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด บุคคลดังกล่าวอาจยื่นคำร้องต่อศาลภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบถึงการกำหนดจำนวนเงินเช่นว่านั้น เพื่อขอให้ศาลกำหนดจำนวนเงินใหม่ได้ ในกรณีที่พฤติการณ์แห่งการดำรงชีพของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้เปลี่ยนแปลงไป บุคคลตามวรรคสามจะยื่นคำร้องให้ศาลหรือเจ้าพนักงานบังคับคดี แล้วแต่กรณี กำหนดจำนวนเงินตาม (๑) และ (๓) ใหม่ก็ได้ คำสั่งของศาลที่เกี่ยวกับการกำหนดจำนวนเงินตามมาตรานี้ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ได้และคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด **มาตรา ๒๘๗ ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา ๒๘๘ และ ๒๘๙ บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมาย อธิบาย -มาตรานี้เป็นเรื่องการขอกันส่วน -ผู้มีกรรมสิทธิ์รวมประสงค์ให้การบังคับคดีไม่กระทบตนก็สามารถใช้ ม.๒๘๗ เพื่อให้ได้รับการกันส่วน แต่ไม่สามารถกันตัวทรัพย์ เพียงให้ได้รับส่วนของตนจากการขายทอดตลาดเท่านั้น -ม.๒๘๗ นำไปใช้บังคับระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ตามคำพิพากษาด้วยกันเท่านั้น -ฎ.๓๘๒๑/๕๓ หนี้ที่ผู้ร้องขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ที่จำเลยค้างชำระค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ และหนี้อย่างอื่นของผู้เช่าอันเกิดจากความเกี่ยวพันในเรื่องเช่าอาคารพาณิชย์ ผู้ร้องมีบุริมสิทธิพิเศษเหนือสังหาริมทรัพย์ตามป.พ.พ. มาตรา ๑๕๙(๑) แต่คดีนี้ผู้ร้องขอรับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดสิทธิการเช่า ไม่ได้ขอบังคับเอาจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดสังหาริมทรัพย์ที่ผู้เช่านำเข้ามาไว้ในที่ดินหรือโรงเรือนตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๖๑ วรรคหนึ่ง, วรรคสอง ทั้งมิใช่เงินอันผู้โอนหรือผู้ให้เช่าช่วงจะพึงได้รับจากผู้รับโอนหรือผู้เช่าช่วงตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๖๒ ผู้ร้องจึงไม่มีบุริมสิทธิพิเศษเหนือเงินจากการขายทอดตลาด ผู้ร้องยื่นคำร้องขอกันส่วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๘๗ เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาล ๒๐๐ บาท ตามตาราง ๑ ท้าย ป.วิ.พ. ข้อ (๒)(ก) -ฎ.๓๖๙๐/๔๖ ข้อเท็จจริงได้ความว่าศาลพิพากษาให้จำเลยโอนที่พิพาทให้ผู้ร้องเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๐ยังไม่มีการโอน(ยังเป็นชื่อจำเลย) สิทธิผู้ร้องได้ไปโดยคำพิพากษาของศาล ถือว่าเป็นผู้ที่ยังได้สิทธิก่อนตามคำพิพากษา โดยไม่ต้องคำนึงว่าเสียค่าตอบแทนหรือไม่ ปี ๒๕๔๒ โจทก์ฟ้องบังคับหนี้สามัญ ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ โดยยึดที่ดินออกขายทอดตลาด ผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิอื่นๆที่อาจบังคับเหนือทรัพย์สิน(เป็นทรัพยสิทธิ ตาม ม.287) ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการบังคับคดีของโจทก์ไม่กระทบสิทธิของผู้ร้องโจทก์ไม่มีสิทธิยึด การยึดไม่ชอบ การขายทอดตลาดก็ไม่ชอบไปด้วย ผู้ร้องมีสิทธิขอให้เพิกถอนการขายทอดลาดได้ - ฎ.๒๘๙๑/๕๒ เมื่อสัญญาเช่าซื้อระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ ๒ เลิกกัน ผู้ร้องในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อย่อมมีสิทธิเหนือทรัพย์สินของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๓๖ ซึ่งบัญญัติให้เจ้าของทรัพย์สินนั้นมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิดังกล่าวของผู้ร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๘๗ แต่การที่ผู้ร้องมิได้ใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยรถยนต์ของผู้ร้องที่ถูกเจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ก่อนเอารถยนต์นั้นออกขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๘๘ วรรคหนึ่ง และผู้ร้องปล่อยให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดไปเช่นนี้ สิทธิของผู้ร้องอันอาจที่จะบังคับเหนือทรัพย์สินในฐานะเจ้าของทรัพย์สินของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๓๖ ดังกล่าวย่อมหมดไป ทั้งเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดก็ไม่ใช่เป็นทรัพย์สินที่เข้าแทนที่รถยนต์ของผู้ร้องในฐานะนิตินัยอย่างเดียวกันกับรถยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์สินอันก่อนดังที่บัญญัติไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๒๖ วรรคสอง ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิกันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดดังกล่าวเพื่อชำระให้แก่ผู้ร้องก่อนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๘๗ ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับของบทบัญญัติมาตรา ๒๘๘ ได้ -ตัวอย่างคำถาม นายใจขายที่ดินของตนให้แก่นายหวาน โดยตกลงผ่อนชำระราคากันเป็นงวด หากนายหวานชำระเงินงวดสุดท้ายแล้ว นายใจจะไปโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ ต่อมานายสุขเจ้าหนี้ฟ้องขอให้นายใจชำระหนี้ ศาลพิพากษาคดีถึงที่สุดให้นายใจชำระหนี้ตามฟ้อง นายสุขจึงนำยึดที่ดินของนายใจแปลงดังกล่าว หลังจากนั้น 1 เดือน นายหวานชำระค่าที่ดินงวดสุดท้ายตามกำหนดแล้ว ได้ทราบว่าที่ดินแปลงที่ซื้อขายถูกยึด นายหวานจึงยื่นคำร้องต่อศาลในคดีดังกล่าว ขอให้เพิกถอนการยึดโดยอ้างว่าการยึดทรัพย์ของนายสุขเป็นการกระทบกระเทือนสิทธิของนายหวาน ให้วินิจฉัยว่า ศาลจะสั่งคำร้องของนายหวานอย่างไร ธงคำตอบ (ข้อสอบเนฯ ข้อ ๗ สมัย ๕๕) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๘๗ วางหลักไว้ว่า การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมาย คำว่าสิทธิอื่น ๆ ต้องเป็นสิทธิที่เทียบเคียงได้กับบุริมสิทธิ กรณีของนายหวานแม้จะได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินแปลงพิพาทกับนายใจลูกหนี้ตามคำพิพากษา ก่อนที่นายสุขเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะนำยึดที่ดินแปลงดังกล่าวและได้ชำระราคาครบถ้วนแล้วก็ตาม แต่สิทธิของนายหวานเป็นเพียงบุคคลสิทธิที่จะบังคับให้นายใจลูกหนี้ตามคำพิพากษาจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่นายหวานตามสัญญาดังกล่าวเท่านั้น มิใช่บุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ที่เทียบได้กับบุริมสิทธิ ทั้งขณะยึดที่ดินแปลงพิพาทยังเป็นกรรมสิทธิ์ของนายใจลูกหนี้ตามคำพิพากษาอยู่ นายหวานจึงไม่อาจขอให้เพิกถอนการยึดที่ดินแปลงพิพาทได้ ศาลต้องสั่งยกคำร้องของนายหวาน (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๙๓๐/๓๐) **มาตรา ๒๘๘ ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา ๕๕ ถ้าบุคคลใดกล่าวอ้างว่าจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ ก่อนที่ได้เอาทรัพย์สินเช่นว่านี้ออกขายทอดตลาด หรือจำหน่ายโดยวิธีอื่น บุคคลนั้นอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้ปล่อยทรัพย์สินเช่นว่านั้น ในกรณีเช่นนี้ ให้ผู้กล่าวอ้างนั้นนำส่งสำเนาคำร้องขอแก่โจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยลำดับ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับคำร้องขอเช่นว่านี้ให้งดการขายทอดตลาด หรือจำหน่ายทรัพย์สินที่พิพาทนั้นไว้ในระหว่างรอคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาล ดังที่บัญญัติไว้ต่อไปนี้ เมื่อได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลแล้ว ให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นเหมือนอย่างคดีธรรมดา เว้นแต่ (๑) เมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนวันกำหนดชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยาน หากมีพยานหลักฐานเบื้องต้นแสดงว่าคำร้องขอนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า ศาลมีอำนาจที่จะมีคำสั่งให้ผู้กล่าวอ้างวางเงินต่อศาลภายในระยะเวลาที่ศาลจะกำหนดไว้ในคำสั่งตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควรเพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสำหรับความเสียหายที่อาจได้รับ เนื่องจากเหตุเนิ่นช้าในการบังคับคดีอันเกิดแต่การยื่นคำร้องขอนั้น ถ้าผู้กล่าวอ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาล ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ (๒) ถ้าทรัพย์สินที่พิพาทนั้นเป็นสังหาริมทรัพย์และมีพยานหลักฐานเบื้องต้นแสดงว่าคำร้องขอนั้นไม่มีเหตุอันควรฟัง หรือถ้าปรากฏว่าทรัพย์สินที่ยึดนั้นเป็นสังหาริมทรัพย์ที่เก็บไว้นานไม่ได้ ศาลมีอำนาจที่จะมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินเช่นว่านี้โดยไม่ชักช้า คำสั่งของศาลตามวรรคสอง (๑) และ (๒) ให้เป็นที่สุด อธิบาย -มาตรานี้เป็นเรื่องการร้องขัดทรัพย์ -บุคคลที่ร้องขัดทรัพย์ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ -การร้องขัดทรัพย์มีประเด็นเดียวคือให้ปล่อยทรัพย์เพราะลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ -คำร้องขัดทรัพย์เป็นคำฟ้อง -ไม่มีการออกหมายเรียกมีแต่การไต่สวนจึงไม่นำบทบัญญัติเรื่องการขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณามาใช้เพราะไม่มีวันสืบพยาน -ฎ.๕๐๐/๐๔ ทรัพย์ที่โจทก์นำยึดเป็นโรงเรือนมี ๒ ชั้น แม้ชั้นบนกับชั้นล่างมีทางเข้าต่างหากจากกัน และชั้นบนมี ๑๑ ห้อง ใช้เป็นโรงแรม ชั้นล่างมี ๔ ห้อง ใช้เป็นที่อยู่อาศัยของจำเลยและบริวาร แต่มีสภาพเป็นโรงเรือนเพียงหลังเดียวไม่สามารถที่จะแยกจากกันได้ ผู้ร้องขับทรัพย์จะขอให้แยกยึดไม่ได้ การยื่นคำขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๘๘ (๑) เป็นสิทธิของโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่นำยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแล้วมีผู้มาร้องขัดทรัพย์ เจ้าหนี้ขอให้ศาลสั่งผู้ร้องขัดทรัพย์วางเงินประกันต่อศาลได้ หาใช่ให้สิทธิแก่ผู้ร้องขัดทรัพย์ที่จะขอเช่นนั้นไม่ -ฎ.๑๒๙๓/๑๔ (เปรียบเทียบข้อแตกต่างมาตรา ๒๕๓ ต้องขอ ๒๘๘(๑) ไม่ต้องขอ ผู้ร้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์ โจทก์ให้การต่อสู้คดีแล้วยื่นคำร้องว่าคำร้องของผู้ร้องขัดทรัพย์ไม่มีมูล ขอให้งดสืบพยาน หากศาลเห็นว่าคำร้องของผู้ร้องขัดทรัพย์ยื่นเข้ามาเพื่อประวิงคดีให้ชักช้า โดยมีหลักฐานสนับสนุนอยู่ในสำนวนแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจสั่งให้ผู้ร้องขัดทรัพย์วางเงิน เพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๘๘ (๑) ได้ -ฎ.๓๐๓๐/๒๘ การยื่นคำร้องขัดทรัพย์ต้องยื่นก่อนเอาทรัพย์สินขายทอดตลาด นั้นหมายถึงการขายทอดตลาดบริบูรณ์ หากเลื่อนไปขายทอดตลาดครั้งที่สองเนื่องจากครั้งแรกมีการคัดค้านว่าราคาต่ำ ตราบใดยังไม่ขายทอดตลาดครั้งที่ ๒ ก็ยังร้องขัดทรัพย์นั้นได้ -ฎ ๔๖๖๑/๔๘ การที่โจทก์และผู้ร้องได้ฟ้องบังคับชำระหนี้ต่างรายกันและขอให้บังคับจำนองโดยอาศัยหนังสือสัญญาจำนองฉบับเดียวกันแก่ที่ดินพิพาทเป็นคนละคดีกัน แม้ผู้ร้องกับโจทก์เป็นนิติบุคคลเดียวกัน แต่ผู้ร้องก็อยู่ในฐานะเจ้าหนี้จำนองตามคำพิพากษาในอีกคดีหนึ่งและเป็นเจ้าหนี้ต่างรายกับโจทก์ในคดีนี้ที่มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินที่ขายหรือจำหน่ายที่ดินจำนองพิพาทที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้โดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนองตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา ๒๘๙ วรรคสอง และเมื่อเป็นการจำนองโดยอาศัยหนังสือสัญญาฉบับเดียวกันบุริมสิทธิของผู้ร้องและบุริมสิทธิของโจทก์เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอันที่จะได้รับชำระหนี้จากที่ดินจำนองพิพาทตามคำพิพากษาของตนรวมกันได้ไม่เกินวงเงินจำนอง ผู้ร้องไม่อาจยึดที่ดินจำนองพิพาทได้อีกเพราะตกอยู่ในบังคับข้อห้ามมิให้ยึดซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๙๐ วรรคหนึ่ง และเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ของตนในคดีอื่นได้จะต้องมีบทบัญญัติของกฎหมายสนับสนุน เช่น การขอเฉลี่ยทรัพย์ หรือการขอรับชำระหนี้จำนองหรือบุริมสิทธิ โดยการยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดี ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอรับชำระหนี้จำนองตามคำพิพากษาจากเงินที่ขายหรือจำหน่ายที่ดินจำนองพิพาทร่วมกับโจทก์ในคดีนี้ -ฎ. ๘๓๕/๔๙ ตามคำร้องของผู้ร้องเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ ๒ ไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ เนื่องจากผู้ร้องมิได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ ๒ และมิได้มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับหนี้ของจำเลยทั้งสอง การร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าว จึงมีความมุ่งหมายเพื่อได้รับผลที่จะให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปล่อยทรัพย์ที่ยึดคืนให้แก่ผู้ร้อง อันเป็นกรณีที่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา ๒๘๘วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้ต้องยื่นคำร้องต่อศาลก่อนที่ได้เอาทรัพย์ออกขายทอดตลาด คดีนี้ได้ความว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการขายทอดตลาดที่ดินแปลงดังกล่าวไปแล้วเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ โดยผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้ซื้อได้ในราคา ๒๐๐,๐๐๐ บาท แต่ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดคืนให้แก่ผู้ร้องเมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ ซึ่งล่วงเลยการเอาทรัพย์นั้นออกขายทอดตลาดไปแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องนี้ได้ -ฎ.๘๔๕๒/๕๑ ผู้ร้องและจำเลยที่ ๑ จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทจากผู้ขายในระหว่างสมรส ที่ดินและบ้านพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องและจำเลยที่ ๑ ได้มาระหว่างสมรส ย่อมเป็นสินสมรส ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๗๔(๑) ฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องและจำเลยที่ ๑ จดทะเบียนหย่าเมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๔๐ โดยมีการตกลงแบ่งทรัพย์สินกันตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนหย่า ให้ที่ดินและบ้านพิพาทตกได้แก่ผู้ร้องนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องกล่าวอ้างขึ้นมาใหม่ มิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๙ วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๓๓ บัญญัติว่า "เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน" เมื่อข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องนำสืบไม่ปรากฏว่าผู้ร้องและจำเลยที่ ๑ แบ่งที่ดินและบ้านพิพาทอันเป็นสินสมรสกันแล้ว กรณีต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยกรรมสิทธิ์รวม ดังนี้ ที่ดินและบ้านพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องและจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของร่วมกัน หาใช่ทรัพย์สินของผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียวไม่ ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๘๘ -ฎ.๒๑๒๐/๕๓ การอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.๒๕๔๕ ต่อศาลฎีกากระทำได้เฉพาะกรณีที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.๒๕๔๕ มาตรา ๔๕(๑)-(๕) เท่านั้น คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ จำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินต่าง ๆ ที่อ้างว่าเป็นของจำเลยเพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๘๘ มิใช่กรณีที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติดังกล่าว การอุทธรณ์หรือฎีกาต้องเป็นไปตามลำดับชั้นของศาล ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนมายังศาลฎีกาจึงไม่ถูกต้อง แต่เนื่องจากคู่ความได้สืบพยานมาเสร็จสิ้น พยานหลักฐานเพียงพอแก่การวินิจฉัยแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่ -ตัวอย่างคำถาม นายจนขายฝากบ้านไว้แก่นายรวยแล้วมิได้ไถ่ถอนภายในกำหนดไถ่คืน ต่อมาอีกหนึ่งปี นายรวยฟ้องขับไล่นายจนและบริวารออกจากบ้านหลังดังกล่าว กับเรียกค่าเสียหายจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท ศาลพิพากษาให้นายรวยชนะคดีเต็มตามฟ้อง แต่นายจนไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา นายรวยจึงขอบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีได้จัดการให้นายรวยเข้าครอบครองบ้านพิพาทและยึดเครื่องรับโทรทัศน์สีราคา ๓๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อนำออกขายทอดตลาดชำระค่าเสียหาย นางเจียมภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายจนยื่นคำร้องขอว่า บ้านเป็นสินสมรสที่นางเจียมมีกรรมสิทธิ์อยู่กึ่งหนึ่ง และเครื่องรับโทรทัศน์สีก็เป็นสินส่วนตัวของนางเจียม มิใช่ทรัพย์ของนายจน ขอให้กันส่วนของนางเจียมสำหรับบ้านออกจากการบังคับคดีและให้ปล่อยเครื่องรับโทรทัศน์สีที่ยึดไว้ ศาลไต่สวนแล้ว ข้อเท็จจริงได้ความตามที่นางเจียมยกขึ้นอ้างในคำร้องขอ ให้วินิจฉัยว่า ศาลจะมีคำสั่งให้นางเจียมได้รับการกันส่วนสำหรับบ้านและมีคำสั่งให้ปล่อยเครื่องรับโทรทัศน์สีที่ยึดไว้ได้หรือไม่ ธงคำตอบ (ข้อสอบเนฯ ข้อ ๗ สมัย ๕๖) สำหรับบ้านตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายรวยอยู่แล้วโดยการขายฝาก การที่นายรวยขอให้บังคับคดีให้นายรวยเข้าครอบครองบ้าน เป็นการใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดไว้ หนี้ตามคำพิพากษาสำหรับบ้าน จึงเป็นการบังคับคดีให้นายจนลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องกระทำการส่งมอบบ้านให้แก่นายรวยเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา มิใช่การบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของนายจนลูกหนี้ตามคำพิพากษา กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๘๗ ที่นางเจียมจะขอกันส่วนได้ ศาลต้องมีคำสั่งยกคำขอในส่วนนี้ ส่วนเครื่องรับโทรทัศน์สีเป็นสินส่วนตัวของนางเจียม นายจนลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย นายรวยเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในส่วนค่าเสียหายจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นหนี้เงิน จึงไม่มีสิทธิบังคับคดีเอาแก่เครื่องรับโทรทัศน์สีซึ่งเป็นสินส่วนตัวของนางเจียมบุคคลนอกคดี ไม่ว่าหนี้ตามคำพิพากษาในส่วนนี้จะเป็นหนี้ร่วมหรือไม่ก็ตาม ศาลต้องมีคำสั่งให้ปล่อยเครื่องรับโทรทัศน์สีที่ยึดไว้ตามมาตรา ๒๘๘ วรรคหนึ่ง (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ ๔๘๓๒/๓๖ และ ๕๒๓/๓๔) *มาตรา ๒๘๙ ถ้าบุคคลใดชอบที่จะบังคับการชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ หรือชอบที่จะได้เงินที่ขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินเหล่านั้นได้โดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนองที่อาจบังคับได้ก็ดี หรืออาศัยอำนาจแห่งบุริมสิทธิก็ดี บุคคลนั้นอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้เอาเงินที่ได้มานั้นชำระหนี้ตนก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในกรณีที่อาจบังคับเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองหลุด ผู้รับจำนองจะมีคำขอดังกล่าวข้างต้นให้เอาทรัพย์สินซึ่งจำนองนั้นหลุดก็ได้ ในกรณีจำนองอสังหาริมทรัพย์ หรือบุริมสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์อันได้ไปจดทะเบียนไว้นั้น ให้ยื่นคำร้องขอก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาด ส่วนในกรณีอื่น ๆให้ยื่นคำร้องขอเสียก่อนส่งคำบอกกล่าวตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๑๙ ถ้าศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เอาทรัพย์ที่จำนองหลุด การยึดทรัพย์ที่จำนองนั้นเป็นอันเพิกถอนไปในตัว ในกรณีอื่น ๆ ที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องขอ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะได้รับแต่เงินที่เหลือ ถ้าหากมี ภายหลังที่หักชำระค่าธรรมเนียมการบังคับจำนองและชำระหนี้ผู้รับจำนอง หรือเจ้าหนี้บุริมสิทธิแล้ว อธิบาย -เป็นมาตราเรื่องการบังคับบุริมสิทธิหรือสิทธิจำนอง -ฎ. ๔๖๖๑/๔๘ การที่โจทก์และผู้ร้องได้ฟ้องบังคับชำระหนี้ต่างรายกันและขอให้บังคับจำนองโดยอาศัยหนังสือสัญญาจำนองฉบับเดียวกันแก่ที่ดินพิพาทเป็นคนละคดีกัน แม้ผู้ร้องกับโจทก์เป็นนิติบุคคลเดียวกัน แต่ผู้ร้องก็อยู่ในฐานะเจ้าหนี้จำนองตามคำพิพากษาในอีกคดีหนึ่งและเป็นเจ้าหนี้ต่างรายกับโจทก์ในคดีนี้ที่มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินที่ขายหรือจำหน่ายที่ดินจำนองพิพาทที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้โดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนองตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา ๒๘๙ วรรคสอง และเมื่อเป็นการจำนองโดยอาศัยหนังสือสัญญาฉบับเดียวกันบุริมสิทธิของผู้ร้องและบุริมสิทธิของโจทก์เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอันที่จะได้รับชำระหนี้จากที่ดินจำนองพิพาทตามคำพิพากษาของตนรวมกันได้ไม่เกินวงเงินจำนอง ผู้ร้องไม่อาจยึดที่ดินจำนองพิพาทได้อีกเพราะตกอยู่ในบังคับข้อห้ามมิให้ยึดซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๙๐ วรรคหนึ่ง และเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ของตนในคดีอื่นได้จะต้องมีบทบัญญัติของกฎหมายสนับสนุน เช่น การขอเฉลี่ยทรัพย์ หรือการขอรับชำระหนี้จำนองหรือบุริมสิทธิ โดยการยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดี ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอรับชำระหนี้จำนองตามคำพิพากษาจากเงินที่ขายหรือจำหน่ายที่ดินจำนองพิพาทร่วมกับโจทก์ในคดีนี้ -ตัวอย่างคำถาม นายเอกฟ้องนายโทให้ชำระหนี้จำนวน ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท ศาลพิพากษาให้นายเอกชนะคดีเต็มตามฟ้อง คดีถึงที่สุดแต่เมื่อครบกำหนดตามคำบังคับแล้วนายโทไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา นายเอกจึงขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินมีโฉนดหนึ่งแปลงและแหวนเพชรหนึ่งวง โดยอ้างว่านายโทเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินได้ราคา ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท และแหวนเพชรได้ราคา๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท เช่นกัน การบังคับคดียังไม่เสร็จสิ้นลง ปรากฏว่า (ก) นายตรี ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดและการยึดที่ดิน โดยอ้างว่านายตรีเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของนายโท อีกคดีหนึ่งซึ่งศาลพิพากษาตามยอมให้นายโทจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นายตรีตามสัญญาจะซื้อจะขายที่มีต่อกัน คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว (ข) นายจัตวายื่นคำร้องขอรับเงินจำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ที่ได้จากการขายทอดตลอดแหวนเพชร โดยอ้างว่านายจัตวาเป็นเจ้าของแหวนเพชรแต่ฝากนายโทไว้ เงินจำนวนนี้จึงต้องคืนให้แก่นายจัตวา ศาลไต่สวนแล้ว ข้อเท็จจริงได้ความตามคำร้องของนายตรี และนายจัตวา ให้วินิจฉัยว่า ศาลจะมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดและการยึดที่ดินตามคำร้องของนายตรี กับจ่ายเงินจำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ที่ได้จากการขายทอดตลาดแหวนเพชรให้แก่นายจัตวาหรือไม่ ธงคำตอบ (ข้อสอบเนฯ ข้อ ๗ สมัย ๖๒) (ก) แม้สิทธิของนายตรีตามสัญญาจะซื้อจะขายเป็นเพียงบุคคลสิทธิ แต่เมื่อมีคำพิพากษารองรับสิทธิก็ถือได้ว่านายตรีเป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๐ นายตรีจึงเป็นบุคคลภายนอกซึ่งอาจร้องขอให้บังคับเหนือที่ดินแปลงนี้ได้ และย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๘๗ โดยสามารถยื่นคำร้องภายหลังการขายทอดตลาดแล้วได้ ศาลจะต้องมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดและการยึดที่ดิน (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ ๓๖๙๐/๔๖ และ ๘๘๗๐/๕๐) (ข) นายจัตวาเป็นเจ้าของแหวนเพชรมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยการยึดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๘๘ แต่ต้องยื่นคำร้องขอเสียก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะนำออกขายทอดตลาด เมื่อนายจัตวามิได้ใช้สิทธิตามบทบัญญัติดังกล่าว สิทธิของนายจัตวาย่อมหมดไป ส่วนเงินจำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ที่ได้จากการขายทอดตลาดแหวนเพชรก็มิใช่ทรัพย์สินที่เข้าแทนที่แหวนเพชรของนายจัตวาในฐานะนิตินัย นายจัตวาจึงไม่มีสิทธิขอรับเงินจำนวนนี้ อีกทั้งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๘๗ ต้องอยู่ภายใต้บังคับของบทบัญญัติมาตรา ๒๘๘ ศาลจะต้องมีคำสั่งยกคำร้องของนายจัตวา(เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๒๔๔/๓๖ และ ๒๘๙๑/๕๒) -ตัวอย่างคำถาม นายเงาะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของนายกล้วยจำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท นายเงาะนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินโดยอ้างว่าเป็นของนายกล้วยดังต่อไปนี้ (ก) แหวนเพชร ๑ วง ราคา ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการขายทอดตลาดครั้งแรกมีผู้เสนอราคาสูงสุด ๕๐๐,๐๐๐ บาท นายกล้วยคัดค้านว่าราคาต่ำเกินสมควร เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงเลื่อนการขายทอดตลาดไปอีก ๓๐ วัน ปรากฏว่า ก่อนถึงกำหนดการขายทอดตลาดครั้งที่ ๒ หนึ่งสัปดาห์ นายส้มยื่นคำร้องขอให้ปล่อยการยึดโดยอ้างว่านายส้มเป็นเจ้าของแหวนเพชรและให้นายกล้วยยืมไปใช้ นายเงาะคัดค้านว่านายส้มมิได้ยื่นคำร้องขัดทรัพย์ก่อนเจ้าพนักงานบังคับคดีนำแหวนเพชรออกขายทอดตลาดครั้งแรก นายส้มจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขัดทรัพย์ ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขัดทรัพย์ของนายส้มและนัดไต่สวน (ข) รถยนต์ ๑ คัน ของนายกล้วย ราคา ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งนายกล้วยนำไปจำนำไว้แก่นายตาลเป็นเงิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท และครบกำหนดไถ่แล้วแต่นายกล้วยยังมิได้ไถ่ เจ้าพนักงานบังคับคดีนำออกขายทอดตลาดได้เงิน ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท นายตาลยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนำก่อนนายเงาะ นายเงาะคัดค้านว่านายตาลเป็นเพียงผู้รับจำนำ จึงไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอของนายตาล ให้วินิจฉัยว่า คำสั่งของศาลทั้งสองกรณีชอบหรือไม่ ธงคำตอบ (ข้อสอบเนฯ ข้อ ๗ สมัย ๕๙) (ก) การร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ซึ่งต้องกระทำก่อนที่ได้เอาทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๘๘ วรรคหนึ่ง หมายความถึงการขายทอดตลาดบริบูรณ์โดยเจ้าพนักงานบังคับคดี การขายทอดตลาดครั้งแรกที่เลื่อนไปจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการขายทอดตลาด นายส้มมีสิทธิยื่นคำร้องขัดทรัพย์ก่อนการขายทอดตลาดครั้งที่ ๒ ได้ คำสั่งศาลชอบแล้ว ป.วิ แพ่ง ต่อ น.6 |